<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สศช. ห่วง ! วัยรุ่นคริปโตไทย กล้าได้กล้าเสีย หวังรวยเร็ว แต่ความรู้ยังน้อย

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ล่าสุด สศช. เปิดภาวะสังคมไทย มีการระบุรายงานสำคัญเกี่ยวกับ พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล พบข้อมูลเด็กไทยส่วนใหญ่แห่เล่นคริปโต เพราะต้องการรวยเร็ว มีแต่ความเสี่ยง ศึกษาหาความรู้น้อย และใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง โดยปี 2565 มีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ หนึ่งเรื่อง นั่นคือ พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ ( Cryptocurrency) อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการลงทุน ดังนี้

1.ผู้ลงทุนในคริปโตฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว

จากข้อมูลพบว่า บัญชีของผู้ลงทุนในคริปโตฯ กว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดย 3% เป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 47% เป็นบัญชีลงทุนของผู้ที่มีอายุ 21 – 30 ปี ซึ่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า สาเหตุที่คน Gen Z สนใจลงทุนในคริปโตฯ เพราะต้องการรวยเร็ว 

ทั้งนี้ แม้ว่าทัศนคติความต้องการผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นอาจทำให้หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งผู้ลงทุนในคริปโตฯ อาจเกิดความสูญเสียมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน

2. ผู้ลงทุนในคริปโตฯ 1 ใน 5 ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโตฯ อยู่ในระดับน้อย และใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน

จากรายงานการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนใน Bitcoin พบว่า ผู้ลงทุนที่ศึกษาความเสี่ยงและผลตอบแทนก่อนการลงทุนอย่างละเอียดมีเพียง 25.45% เท่านั้น นอกจากนี้ มีนักลงทุนที่มีการศึกษาเกี่ยวกับคริปโตฯ ค่อนข้างน้อย มีสัดส่วน 19.59% และไม่มีการศึกษาเลย 6.43% 

สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover ของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ผู้ลงทุนในตลาดคริปโตฯ มากกว่า 44.8% ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนประเภทนี้อย่างเพียงพอโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้สูง 

นอกจากนี้ ข้อมูลผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. พบว่า แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่น วิเคราะห์กราฟ 41% ติดตามข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ 26% แต่ยังมีนักลงทุนอีก 25% ที่ใช้สัญชาตญาณในการลงทุน 

โดยงานวิจัยของ Delfabbro และคณะ ที่ศึกษาจิตวิทยาของการซื้อขายคริปโตฯ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน พบว่า การใช้สัญชาตญาณทำให้ผู้ลงทุนรู้สึกเหมือนเล่นการพนันออนไลน์ และคิดไปเองได้ว่าสามารถควบคุมผลตอบแทนจากการลงทุนได้ เพราะความสามารถและกลยุทธ์ของตนเอง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสียหายในการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน

3. มากกว่า 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนในคริปโตฯ ลงทุนเพื่อความสนุก บันเทิง และเข้าสังคม

การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ซึ่งการลงทุนจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการมีเป้าหมายในการลงทุนและวางแผนอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษา เรื่อง การจัดกลุ่มผู้ลงทุนไทยตามพฤติกรรมการลงทุนใน Bitcoin ในปี 2562 พบว่า คนรุ่นใหม่ที่ลงทุนใน Bitcoin ถึง 25.6% มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุก บันเทิง และเพื่อเข้าสังคม หรือแลกเปลี่ยนข่าวสาร Bitcoin

4. นักลงทุนคริปโตฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ 

จากงานวิจัยของ CMMU ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนในตลาดคริปโตฯ 64.8% ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ เนื่องจากมีความกังวลว่าจะต้องเสียภาษี แม้พฤติกรรมดังกล่าว สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และนักลงทุนบางส่วนมองว่า แพลตฟอร์มของต่างประเทศมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายกว่า อีกทั้งยังมีปริมาณการซื้อขายที่สูงกว่าตลาดในประเทศ 

แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่น่าเชื่อถืออาจมีความเสี่ยง ในเรื่องของการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบ และติดตามเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มในประเทศ ซึ่งได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.

จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในตลาดคริปโตฯ ที่มีความเสี่ยงในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การลงทุนตั้งแต่อายุน้อยเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม โดยผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจและทราบถึงความเสี่ยงที่มีอยู่ของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ รวมทั้งควรศึกษาข้อมูลให้เพียงพอก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือความสูญเสียที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

สำหรับการลงทุนในคริปโตฯ ผู้ลงทุนควรเข้าใจความเสี่ยงของตลาดคริปโตฯ ที่สำคัญ ดังนี้

1. ไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องการออกเสนอขายคริปโตฯ และคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโตฯ ที่ทำการซื้อ/ขาย ผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนในประเทศไทยได้ 

2. ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้น Stablecoin บางชนิด) ทำให้เมื่อเกิดการด้อยค่า ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่มีหลักประกันใด ๆ เลย อาทิ กรณีเหรียญ Terra Classic ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3,903 บาท/เหรียญ ในเดือนเมษายน 2565 และตกลงมาเหลือเพียง 0.003 บาท/เหรียญ ในเดือนถัดมา 

3. ตลาดคริปโตฯ ถูกชี้นำได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงของราคา คริปโตฯ เกิดขึ้นจากความต้องการที่ถูกชี้นำจากข่าวสาร แทนการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน (งบการเงิน และผลประกอบการ) และคริปโตฯ ยังสามารถปั่นราคาสินทรัพย์ (Pump and Dump) ได้ง่าย และควบคุมได้ยาก 

4. ตลาดคริปโตฯ มีการหลอกลวง และการโกงหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกให้ผู้ใช้กรอกรหัสผ่านลงในเว็บไซต์ปลอมและขโมยบัญชีผู้ใช้ไปใช้งาน หรือเพื่อขโมยเหรียญคริปโตฯ การชักชวนลงทุนจูงใจว่าสามารถทำกำไรได้แบบเกินจริง 

ขณะที่ การ rug pull ที่เป็นการโกงรูปแบบหนึ่งเกิดจากการที่นักต้มตุ๋นทำทีว่ามีการพัฒนาโครงการเหรียญคริปโตฯ ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดเพื่อต้องการหลอกล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายก่อนที่จะเทขายทิ้ง หรือฉ้อโกงเงินในระบบและส่งผลให้เหรียญนั้นไร้มูลค่า 

ดังนั้น ผู้ต้องการลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจตลอดจนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้านหากต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีและเลือกลงทุนอย่างไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นในต่างประเทศที่มีการฆ่าตัวตายจากการสูญเงินลงทุนในคริปโตฯ แล้วกว่า 22 ราย

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ