<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

5 กลอุบายหลอกลวงต้มตุ๋น Crypto ที่นักเทรด-นักลงทุนควรระวัง

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เคยมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีขอบเขตสำหรับนักต้มตุ๋น” ซึ่งคำกล่าวนี้ก็ใช้สำหรับการปล้น Crypto ของทุกคนได้  นักต้มตุ๋นคิดหากลอุบายใหม่ ๆ เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อและทำการลงทุนใน Crypto และคนพวกนี้ยังไปไกลถึงขั้นสร้างความสนิทสนมกับเหยื่อผ่านแอพหาคู่อย่าง Tinder ก่อนจะหลอกให้เหยื่อเหล่านั้นเสียเงินลงทุน

อันที่จริงเมื่อปี 2021 ก็ได้มีข่าวนักต้มตุ๋นที่ใช้ความเสน่ห์หามาหลอกลวงเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จนสูญเสียเงินลงทุนไปเป็นจำนวนกว่า 139 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นไม่ได้เป็นวิธีการหลอกลวงรูปแบบเดียวที่พวกนักต้มตุ๋นชอบใช้

Federal Trade Commission (FTC) รายงานว่า มีนักลงทุนมากกว่า 46,000 คน ที่สูญเสีย Crypto มูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2021 ถึง 31 มีนาคม 2022 แต่นั่นอาจเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็ง และมีแนวโน้มว่าอาจมีผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่านี้ที่ไม่ได้รายงานต่อหน่วยงาน

Aaron Cohn หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมายที่เน้นเรื่องการฉ้อโกงทางการเงินอย่าง Weinberg Wheeler Hudgins Gunn & Dial กล่าวว่า เขาได้เห็นว่าเหยื่อที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากที่บัญชี Crypto ของพวกเขาถูกแฮ็กโดยมิจฉาชีพ

ดังนั้นในบทความนี้ทางสยามบล็อกเชนจึงจะมานำเสนอ 5 กลอุบายที่เหล่านักต้มตุ๋นมักนิยมใช้ในการหลอกลวงนักลงทุน Crypto เพื่อเตือนสติเพื่อน ๆ ให้หนีให้กลอุบายเหล่านี้ เพราะมีโอกาสที่เพื่อน ๆ จะสูญเสียเงิน Crypto ไปทั้งหมดได้

การหลอกลวงด้านการลงทุน (Investment Scams)

การหลอกลวงลักษณะนี้มักมาในรูปแบบของการที่นักต้มตุ๋นล่อลวงให้นักลงทุนส่ง Crypto ไปยัง wallet ของพวกมัน โดยให้คำมั่นสัญญาว่า “จะได้รับผลตอบแทนคืนกลับมามหาศาล”

ทั้งนี้นักต้มตุ๋นอาจสวมบทบาทต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองได้รับความน่าเชื่อถือจากเหยื่อ อย่างการอ้างว่าเป็นผู้จัดการการลงทุนที่มีชื่อเสียง หรือเข้าหาเหยื่อผ่านเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์เพื่อสร้างความสนิทสนมให้เหยื่อเชื่อใจก่อนจะหลอกล่อด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ไม่ว่าพวกนั้นจะสวมบทบาทเป็นอะไร ก็มักสัญญากับเหยื่อว่าถ้าหากเหยื่อโอน Crypto ไปให้ ก็จะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งถ้าใครเชื่อตามนั้น ก็บอกลา Crypto ที่โอนไปได้เลย

การหลอกลวงด้านการลงทุนยังรวมถึงการซื้อและการถ่ายโอนข้อมูล โดยนักต้มตุ๋นจะชักชวนให้เหยื่อซื้อ Crypto เหรียญแปลก ๆ ในราคาถูก โดยสัญญาว่า มูลค่าของเหรียญนั้นจะพุ่งทะลุเพดานในไม่ช้า และเมื่อเหยื่อตัดสินใจซื้อ ราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นจริง ๆ แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง นักต้มตุ๋นจะขายเหรียญทั้งหมดที่ถืออยู่จนทำให้ราคาร่วงลงติด Floor

หากเพื่อน ๆ ต้องการหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงด้วยวิธีต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อน ๆ ควรเลี่ยงคนที่สัญญาว่าจะช่วยสร้างผลกำไรจำนวนมากจนผิดสังเกต หรือคนที่บอกว่าการลงทุนครั้งนี้จะไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย ทั้งนี้การหลอกลวงทั้งหลายมักอยู่บนโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ ดังนั้นจึงควรระวังใครก็ตามที่พยายามชวนคุยเกี่ยวกับข้อมูลบัญชี Crypto ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ

การหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (Phishing Scam)

การหลอกลวงแบบฟิชชิ่งมักได้รับความนิยมในหมู่นักต้มตุ๋น โดยคนพวกนั้นมักต้องการเข้าถึงรายละเอียดบัญชีรวมถึงรหัสลับของเหยื่อ หรือแม้แต่ Private Key

นักต้มตุ๋นแบบฟิชชิ่งมักจะหลอกล่อให้ คุณคลิกลิงก์ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ปลอม ซึ่งพวกเขาสามารถขโมยรายละเอียดบัญชีของเหยื่อได้ โดยนักต้มตุ๋นอาจแอบอ้างเป็นบริษัทหรือองค์กรที่มีชื่อเสียง เช่น Amazon ธนาคาร บริษัทสาธารณูปโภค หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจเป็นการโพสต์ลิงก์บนโซเชียลมีเดีย หรือติดต่อเหยื่อโดยตรงด้วยการส่งอีเมลหรือข้อความแจ้งว่าการถอนเงินเริ่มต้นขึ้นและให้ลิงก์ยกเลิกธุรกรรมแก่คุณ

ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง และสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ ก็สามารถตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงดังกล่าวได้

การหลอกลวงโดยอ้างว่าเป็นการอัปเกรด (Upgrade Scams)

ซอฟต์แวร์ที่มักได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกหนึ่งกลอุบายที่นักต้มตุ๋นนิยมใช้ ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนคุ้นเคยกับการอัปเกรดในยุคดิจิทัลตายใจ ดังนั้นนักต้มตุ๋นจึงอาจหลอกลวงผู้ถือ Crypto ให้ป้อนรหัส Private Key ของตน โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “การอัปเกรด”

สำหรับวิธีการหลอกลวงในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่นการฉวยโอกาสในช่วงการอัปเกรด Ethereum Merge ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งทาง Ethereum Foundation และ Robinhood เองก็ต่างกังวลกันมาก จนถึงขั้นออกประกาศคำเตือนว่าผู้ใช้อยู่ในช่วง “high alert” ระวังถูกหลอกลวงกันเลยทีเดียว

การหลอกลวงด้วย SIM-Swap (SIM-Swap Scams)

การหลอกลวงด้วย SIM-swap เป็นหนึ่งในการหลอกลวงรูปแบบใหม่ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน โดยนักต้มตุ๋นสามารถเข้าถึงซิมการ์ดของเหยื่อ และสามารถขโมยข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดในโทรศัพท์ของเหยื่อไปได้

“ข้อมูลที่ถูกขโมยไปนั้นอาจเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรหัสสำหรับการตรวจสอบสิทธิ์สองปัจจัย (2FA Key) ที่จำเป็นในการเข้าถึงกระเป๋าเงิน Crypto wallet ของเหยื่อและอาจรวมถึงรหัสของบัญชีเว็บเทรดคริปโตอื่น ๆ โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว” Aaron Cohn กล่าว “เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น บัญชี Crypto ของเหยื่อจะถูกแฮ็กและถูกล้างข้อมูลได้โดยไม่ต้องติดต่อพูดคุยกับเหยื่อเลยแม้แต่คำเดียว”

เว็บเทรด Crypto Exchanges และ Crypto Wallets ของปลอม

“หากคุณดูในโซเชียลมีเดีย คุณจะเจอเว็บไซต์ที่โฆษณาขาย Bitcoin (BTC) ราคาถูก” Martin Leinweber นักวิเคราะห์ด้านผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลที่ MarketVector Indexes อธิบายว่า พวกนักต้มตุ๋นอาจเผยแพร่โฆษณา Crypto ที่มีราคาต่ำกว่าต่ำกว่ามูลค่าตลาด 5% และสัญญาว่าเหยื่อจะประหยัดเงินได้มากขึ้น ถ้าหากซื้อ Crypto ซื้อผ่านแพลตฟอร์มของพวกมัน แต่ผลิตภัณฑ์ Crypto บนแพลตฟอร์มเหล่านี้มักเป็นของปลอม

ผลิตภัณฑ์ Crypto ปลอมดังกล่าวมักจะเสนอผลตอบแทนจากการลงทุนในจำนวนมหาศาล และโดยทั่วไปแล้วเหยื่อจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเริ่มต้นสูงมาก และมักถูกขอให้ลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อเหยื่อพยายามถอนเงินของตนเอง ก็อาจจะพบว่าเงินที่มีอยู่ได้หายไปแล้ว

“Crypto wallet ปลอมก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการหลอกลวงประเภทมัลแวร์” Leinweber กล่าว “นักต้มตุ๋นใช้มันเพื่อกระจายมัลแวร์ในคอมพิวเตอร์ และขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสผ่านของผู้ใช้ไปในที่สุด”

หากต้องการหลีกเลี่ยงการถูกหลอกในลักษณะดังกล่าว นักลงทุนควรใช้กระเป๋าเงินที่มีชื่อเสียงและได้รับเครดิตจากผู้ใช้มาอย่างยาวนาน

“ถ้าเว็บไซต์ของ Crypto wallet ปลอม พยายามจะทำให้หน้าเว็บดูคล้ายกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง คุณควรพิจารณาว่ามันคือการหลอกลวง และกดออกจากหน้าเว็บเหล่านั้นไปซะ” Leinweber กล่าว


ที่มา: nasdaq