<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

3 กูรูบล็อกเชนมอง Crypto กำลังจะกลายมาเป็นสกุลเงินในอนาคตของโลก

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

Cryptocurrency จะกลายมาเป็นสกุลเงินของโลกได้หรือไม่” เป็นคำถามที่ถกเถียงกันระหว่างกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในสกุลเงินดิจิทัลและมองเห็นว่าอนาคตโลกจะต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูลดิจิทัลเป็นหลัก ทั้งเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ รวมไปถึงการลดคาร์บอนฟุตปรินท์หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ชีวิตของเรา  ในขณะที่อีกกลุ่มยังคงมองว่า ขณะนี้แม้โลกไม่มีสกุลเงินดิจิทัลก็ไม่มีปัญหาอะไร การซื้อขายแลกเปลี่ยนก็เป็นอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตจากการใช้เงินสกุลหลักที่มีมูลค่าชัดเจน ทั้งการใช้จ่ายเงินสดในรูปแบบธนบัตรและเหรียญ หรือจะใช้จ่ายผ่านระบบ Online Payment ผ่านแอปพลิเคชั่นวอลเล็ตต่าง ๆ ในขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินดิจิทัลนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าอิงกับอะไร นอกจากราคาและมูลค่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการในตลาดของนักลงทุน หรือนักเก็งกำไรเสียมากกว่า

จากความเห็นของ 3 กูรูด้านบล็อกเชน ในกิจกรรม Forward The Future To Young Generation : เส้นทางสายอาชีพในอุตสาหกรรม Blockchain ครั้งที่ 5  โดยมี นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นวิทยากรรับเชิญ ร่วมด้วยนายชานน จรัสสุทธิกุล และผศ. ดร. อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน จาก Forward Labs นั้นมองอนาคตของสกุลเงินของโลกว่า Cryptocurrency มีโอกาสที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มีมุมมองว่า ขอการันตีได้ว่าในอนาคตเงินจะไม่ใช่กระดาษ 100% เงินจะเป็นดิจิทัล 100% เนื่องด้วย Carbon Emission หรือสภาวะของโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมการใช้ชีวิตของพวกเราที่มีมากถึง 52 พันล้านตัน โดยที่ 26% เกิดจากการผลิตพลังงานต่าง ๆ ส่วนอีก 74% เกิดจากทุก ๆ การใช้ชีวิตของคน เหนือกฎทุกอย่างคือโลกเราต้องอยู่รอด ซึ่งทางหนึ่งที่จะอยู่รอดได้เราต้องเลิกใช้กระดาษเป็นเงิน ภายในปี 2030 Net Zero จะต้องเกิดขึ้น 

เหตุผลอื่นคือถ้าเรายังใช้เงินเฟียตในการโอนเงินไปต่างประเทศ ยิ่งถ้ามีจำนวน transaction มาก ๆ มันจะใช้เวลา และเสียค่าธรรมเนียมสูง แต่ถ้าเป็นเงินดิจิทัลจะไม่มีต้นทุนสูงอย่างแบงค์ ไม่มีตัวกลาง สุดท้ายจึงไม่มีต้นทุนมาเก็บลูกค้า และอีกเหตุผลคือเรื่องของการมี Micro payment หรือ Nano entrepreneur เกิดขึ้น การใช้เงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ที่หมุนเร็วมากกว่าเงินกระดาษ ก็จะสะดวกและประหยัดต้นทุนมากกว่า เช่น การทำธุรกรรมโดยผ่าน CBDC เป็นต้น

นายชานน จรัสสุทธิกุล Co-Founder และ CEO ของ Forward Labs สตาร์ตอัพฟินเทคด้าน Blockchain ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “ปัญหาที่ผมมองเห็นในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นทองคำ ในเรื่องของการ Settlement การเทรดทองคำยังไม่สามารถทำได้ 24 ชั่วโมงยังมีการปิดตลาดบางช่วงเวลาอยู่ ทั้งที่ราคาทองวิ่งตลอด 24 ชั่วโมง หรืออย่างการเดินเข้าร้านทองหน่วยน้ำหนักของทองในไทยและต่างประเทศยังแตกต่างกันของไทยเรียกว่าบาท ส่วนต่างประเทศใช้ทรอยออนส์ น้ำหนักก็แตกต่างกันแล้ว นั่นก็ทำให้เรทราคาของทองคำไทยและต่างประเทศไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่เรากำลังพัฒนาอยู่ให้สามารถนำทองคำมา Tokenize ได้ สามารถ lend, borrow asset สามารถทำการ short, long ได้ เกิด Gold future ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการ Settlements ซึ่งทุกอย่างจะเกิดการ Tokenize และ Digitize ที่ทำให้สิ่งของเกิดมูลค่าซื้อขายในโลกดิจิทัลอย่างแน่นอน

ผศ.ดร. อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน Co-Founder และ Advisor ของ Forward Labs กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ทำให้ Blockchain หรือ Cryptocurrency เป็นกระแสหลักได้มันต้องอาศัย 3 สิ่งคือ Utility, Simplicity และ Security สำหรับ Utility ต้องมี use case จริง ตัวอย่างเช่นบริษัทหนึ่งร่วมมือกับ IBM พัฒนาเครื่องมือในการ track การปล่อยคาร์บอนที่ผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ปล่อยออกมาในการผลิต โดยใช้ บล็อกเชน ซึ่งทำให้ข้อมูลไม่สามารถแก้ไขได้ มีความถูกต้อง ปลอดภัย และทำให้เราจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเสื้อแต่ละตัว ปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ และสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมเชื่อว่ายังไงเทรนด์ของการใช้บล็อกเชนในการช่วยโลกนี้ก็ต้องมา

สำหรับ Simplicity ถ้าทุกวันนี้เรายังพยายามอยากให้คนมาใช้บล็อกเชน โดยการเล่าว่า มันมี Hash function, proof of work, proof of stake มันจะยากมาก ๆ ที่จะทำให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรามาทำความเข้าใจ และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้บล็อกเชน กลายเป็นกระแสหลัก เราควรจะเล่าให้มันเข้าใจง่าย ไม่ต้องลงเทคนิคมากนัก เหมือนระบบการโอนของธนาคาร สแกนจ่ายได้ก็พอ ถ้าจะให้คนมาใช้แอปของธนาคาร แต่ต้องมาเล่ารายละเอียดว่าหลังบ้านมันว่ามีการ Clearing แบบใด เก็บข้อมูลที่ไหน ผมคิดว่าเหนื่อย และคนจะไม่ใช้แน่นอน

สุดท้ายคือ Security คนบอกว่าบล็อกเชนปลอดภัยแต่ก็มีข่าวแฮ็กกันรายวัน เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อให้ได้ว่ามันปลอดภัยจริง ๆ ผมต้องเชื่อว่าเงินที่เราส่งไปให้เพื่อนหนึ่งล้านบาทที่อังกฤษ เพื่อนจะได้รับหนึ่งล้านบาทนั้นในบัญชี ต้องทำให้คนเชื่อในความไม่ผิดพลาดและเชื่อในความเร็ว ซึ่งอาจจะต้องอาศัยสถาบันต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือเข้ามาเล่นด้วย จึงจะทำให้บล็อกเชนหรือสกุลเงินดิจิทัลกลายเป็นกระแสหลักได้

กิจกรรม Forward The Future To Young Generation : เส้นทางสายอาชีพในอุตสาหกรรม Blockchain ครั้งนี้ จัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถเข้าไปฟังแบบเต็ม ๆ ได้ที่แฟนเพจ Forward Labs จากลิงก์นี้