<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

4 วิธีรับมือกับความเสี่ยง ! ล่มสลายของเว็บเทรดแบบรวมศูนย์ในปัจจุบัน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตลาด Crypto ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการล่มสลายของ FTX กระดานเทรดรวมศูนย์อันดับสองของโลกที่มี Sam Bankman-Fried เป็นผู้ก่อตั้ง 

การล่มสลายของกระดานเทรดยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลกนี้ เกิดจากการคอร์รัปชันภายในและการบริหารที่แม้แต่ John Ray III CEO คนใหม่ของ FTX ยังต้องกล่าวว่า การบริหารที่ผ่านมาของ FTX นั้นเป็น “การบริหารที่แย่ที่สุดที่เขาเคยเห็นมาตลอดชีวิตการทำงาน 40 ปี”

กระดานเทรดต่าง ๆ ล้วนออกมาแสดง proof of reserves เพื่อแสดงความโปร่งใสของเงินทุนสำรองที่มี รวมไปถึง Binance กระดานเทรดอันดับ 1 ของโลกที่บัดนี้แทบจะไร้คู่แข่ง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายเทรนด์นี้ขึ้นมา แต่ถึงกระนั้น เหล่านักวิเคราะห์และคนดังในวงการต่างออกมากล่าวว่า การทำ proof of reserves เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากรายงาน proof of reserves ไม่ได้แสดงจำนวนหนี้ที่บริษัทนั้นมี ซึ่งหนี้เหล่านนั้นอาจจะมากกว่าเงินทุนสำรองก็เป็นได้

ท่ามกลางความโกลาหลของตลาด Crypto ข่าว FUD ที่กระจายไปทั่ว ประกอบกับภาวะตลาดหมี และราคา Bitcoin ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีแนวโน้มที่จะร่วงลงทะลุ 15,000 ดอลลาร์ ทาง Siam Blockchain ขอเสนอวิธีการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตท้ายปี 2022 ให้เพื่อน ๆ ได้นำไปปรับใช้กัน

การเก็บ Crypto เอาไว้กับตัวเอง (self-custody)

หากการเก็บ Crypto เอาไว้กับกระดานเทรดนั้นไม่ปลอดภัย การเก็บ Crypto เอาไว้กับตัวเองอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงวิกฤตการณ์ยากลำบากเช่นนี้

“Not your key, not your coins” หรือ “Not your key, not your crypto” เป็นวลีที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ FTX ล่มสลาย วลีนี้สะท้อนความเชื่อที่ว่า เหล่านักลงทุนนั้นไม่ได้ถือ Crypto อย่างแท้จริง ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ถือ Crypto เอาไว้ในกระเป๋าเงินของตัวเอง และสนับสนุนให้เหล่านักลงทุน Crypto เก็บ Crypto ของพวกเขาเอาไว้ในกระเป๋าเงินบนเว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ หรือฮาร์ดแวร์ที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้ครอบครอง private key ซึ่งเป็นดั่งรหัสในการเข้าถึงเงินทุนเหล่านั้น ไม่ใช่กระดานเทรดแบบรวมศูนย์ต่าง ๆ วิธีการดังกล่าวถูกเรียกว่า การดูแลสินทรัพย์ด้วยตัวเอง หรือ “self-custody”

อย่างไรก็ดีนาย Changpeng “CZ” Zhao ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท Binance ได้ออกกล่าวเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า การเก็บ Crypto เอาไว้กับตัวเองนั้นอาจไม่ปลอดภัยอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากผู้ใช้กระเป๋าเงินอาจลืมรหัสผ่าน หรือจดรหัสผ่านเอาไว้แล้วมีคนพบเข้าจนถูกแฮกในที่สุด ซึ่งทำให้ผู้ถือกระเป๋าเงินสามารถสูญเงินได้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาก

ดังนั้นเมื่ออ้างอิงตามคำพูดของ CZ การเก็บ Crypto ไว้ในกระเป๋าเงินของตัวเองหรือกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ จึงอาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

เทรดกับกระดานเทรดที่ได้รับการรับรองโดยก.ล.ต.

แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจจะดูเป็นตัวร้ายบ่อยครั้งในสายตาของนักเทรด Crypto ทั่วโลก ดังที่เห็นได้จากคดีดังอย่าง SEC ปะทะ Ripple ที่เหล่ากระดานเทรดสหรัฐฯ ต่างออกมาสนับสนุนและกล่าวว่าการชนะ SEC ของ Ripple จะเป็นชัยชนะของวงการ Crypto แต่ต้องยอมรับว่า ก.ล.ต.นั้นไม่ใช้ตัวร้ายเสมอไป

ยกตัวอย่างเช่นก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ได้ออกพ.ร.ก.เพื่อปกป้องผู้ใช้บริการกระดานเทรด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมปี 2561 โดยระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ประกอบธุรกิจฯ ไม่สามารถนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อการอื่นใดได้นอกเหนือจากการใช้ เพื่อประโยชน์ของลูกค้า” ซึ่งสิ่งนี้ได้ช่วยป้องกันการเคลื่อนย้ายเงินของผู้ใช้บริการไปยังที่อื่นโดยมิชอบดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ FTX 

ทั้งยังมีการห้ามขายโทเค็นให้แก่บุคคลวงในก่อนซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อโทเค็นหลังจากนั้นเสียประโยชน์ ช่วยป้องกันการซ้ำรอยเหตุการณ์การล่มสลายของ Terra Lab ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ล้วนเป็นการล่มสลายของบริษัทใหญ่ที่ส่งผลต่อวงการ Crypto ทั้งสิ้น

และในปัจจุบัน ก็มีแพลตฟอร์มกระดานเทรดจำนวนมากที่ได้รับการรับการคุ้มครองของจากก.ล.ต. รวมถึงเว็บเทรดคริปโตในประเทศไทยเราของเอง เช่น BITKUB, Satang Pro, Zipmex และ Upbit เป็นต้น 

โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายชื่อกระดานเทรดและผู้ให้บริการ Crypto ที่ก.ล.ต.ให้การรองรับได้ภายในเว็บไซต์ของก.ล.ต.ในหมวดสินทรัพย์ดิจิทัล

หันมาเทรดในกระดานเทรดแบบกระจายอำนาจ (DEX)

หาก กระดานเทรด Crypto แบบรวมศูนย์ (CEX) มีความเสี่ยงต่อการสูญเงินไปกับการล่มสลายของบริษัทผู้ให้บริการ การหันมาพึ่งพา กระดานเทรดแบบกระจายอำนาจ (DEX) อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ใช้ควรพิจารณา 

กระดานเทรดแบบกระจายอำนาจ (DEX) มีความแตกต่างจากกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ตรงที่ กระดานเทรดแบบกระจายอำนาจนั้น เป็นกระดานเทรดแบบ peer-to-peer ซึ่งไม่มีตัวการใดอยู่เบื้องหลัง นักเทรดสามารถทำการเทรดระหว่างกันได้โดยตรงไม่ผ่านตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ ธนาคาร หรือโบรคเกอร์ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการคอร์รัปชันโดยผู้ให้บริการ

กระดานเทรดแบบกระจายอำนาจที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ Uniswap และ Sushiswap ซึ่งทำการเทรดผ่านระบบบล็อกเชนของ Ethereum และรองรับผู้ให้บริการกระเป๋าเงินสำหรับนักเทรดมากมาย

แม้การเทรดบนกระดานเทรดแบบกระจายอำนาจ จะช่วยลดโอกาสการถูกแฮ็กที่เป็นปัญหาที่พบเจอได้เป็นประจำในวงการ หรือไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน รวมถึงความเสี่ยงการวิกฤตสภาพคล่องการแห่ถอนเงินของผู้ใช้บริษัท แต่ถึงกระนนั้นกระดานเทรดแบบกระจายอำนาจก็มีข้อเสีย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเงินเฟียตเป็น Crypto ได้หรือเปลี่ยน Crypto เป็นเงินเฟียตเหมือนกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากให้แก่นักเทรดคริปโตมือใหม่อยู่ไม่น้อย

ถือเงินสด

ขณะที่กระดานเทรดหลายแห่งเกิดข่าวลือว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันภายใน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำการเทรดอย่างจริงจัง การถอนเงินออกมาก่อนอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้

วลี “Cash is king” ยังคงเป็นความจริงในโลกทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยเงินตรา คำแสลงนี้มีความหมายถึง การที่เงินเฟียต หรือเงินที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน มีช่วงเวลาที่ปลอดภัยมากกว่าการลงทุนใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น Crypto หรือแม้แต่หุ้นก็ตาม

ความผันผวนและความปั่นป่วนของตลาด Crypto ในช่วงนี้ อาจส่งผลเสียต่อนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่มีความชำนาญหรือผู้ที่มีเงินทุนอยู่อย่างจำกัด ความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นจากข่าวลือไม่ว่าจะมีมูลความจริงหรือไม่ ทำให้การถอนตัวออกจากตลาดในช่วงนี้จึงอาจจะมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไม่อาจรับความเสี่ยงได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ มากกว่า

ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในการแนะนำวิธีรับมือกับการล่มสลายของกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ที่มีแนวโน้มว่าจะล่มสลายหรือเกิดการคอร์รัปชัน ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรเลือกวิธีการรับมือและปรับใช้ตามความเหมาะสม

คริปโทเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ที่มา: