<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สื่อระดับโลก Fobes ชี้ ! “Crypto ไม่ได้สร้างวิกฤตนี้ แต่นโยบายสหรัฐฯ เป็นคนทำ”

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

Crypto กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยอันดับต้น ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ที่มีเอี่ยวทำให้ธนาคารทั้งสามแห่งล่มสลายลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากธนาคาร 2 ใน 3 มีความเกี่ยวข้องกับ Crypto โดย Silvergate Bank ขึ้นชื่อว่าเป็นธนาคารที่เป็นมิตรกับ Crypto ที่สุด ส่วน Signature Bank ได้มีการลงทุนใน Crypto ไปไม่นานก่อนล่มสลาย ในขณะที่ Silicon Valley Bank (SVB) ให้บริษัทและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ กู้ยืมเงิน

การล่มสลายของธนาคารทั้งสามแห่ง จึงส่งผลให้ธนาคารอื่น ๆ ต้องดำเนินการตัดความสัมพันธ์กับ Crypto และบริษัท Crypto ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม Clem Chambers นักเขียนระดับอาวุโสจากนิตยสารด้านเงินระดับโลกอย่าง Forbes ออกมากล่าวอธิบายในบทความส่วนตัวเมื่อวันที่ 14 มีนาคมว่า การล่มสลายของ Silvergate Bank, SVB และ Signature Bank ไม่ได้เกิดจาก Crypto หรืออุตสาหกรรม Crypto แต่อย่างใด

Clem Chambers กล่าวว่า SVB ล่มสลายลงจากการที่สหรัฐฯ บีบให้ธนาคารต่าง ๆ ซื้อตราสารหนี้ในฐานะเงินกองทุนขั้นที่ 1 ก่อนจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์เหล่านั้นลดลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สร้างผลเสียให้แก่ธนาคารที่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์เหล่านี้ในการจัดการกับสภาพคล่อง

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานทางกฎหมายบังคับให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ มุ่งความสนใจไปที่ภาคธนาคาร และสร้างพอร์ตของลูกค้าด้วยการใช้แบบจำลอง AML, KYC และโมเดลความเสี่ยง ยังถือเป็นการส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารโดยตรง

จากเหตุการณ์ทั้งสองอย่างนี้ นำไปสู่การล่มสลายของธนาคารในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเงินบำนาญสหราชอาณาจักรฯ ที่เกือบทำลายทั้งอุตสาหกรรมลงเมื่อเดือนกันยายน

Clem Chambers ยังกล่าวด้วยว่า สัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ที่รัฐบาลจะต้องทำงานหนักเพื่อเร่งออกกฎหมายใหม่เพื่อทำให้วิกฤตเงินกลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัย 

เขาจึงมองว่า เหตุการณ์การล่มสลายของธนาคารทั้งสามแห่งในครั้งนี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ Crypto ที่ถูกมองว่าเป็น “ปีศาจ” แต่อย่างใด ทั้งยังมองว่า Crypto เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินระยะสั้นของสหรัฐฯ กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหากล่มสลายขึ้นมา เงินก้อนนี้อาจทำให้สหรัฐฯ จำต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก ด้วยเหตุผลนี้ Crypto จึงส่งผลดีต่อรัฐบาลสหรัฐฯ มากกว่าส่งผลเสีย

และถึงวิกฤตนี้จะร้ายแรง แต่เขากลับมองว่า การล่มสลายของธนาคารสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 หรือ 2008 แต่อย่างใด


อ้างอิง: Forbes