<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

4 กราฟลางร้ายที่ส่งสัญญาณเตือนว่า “ตลาดหมีอาจคัมแบค” หลังราคา Bitcoin พุ่งทะลุ $27,000

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

แรงซื้อที่อ่อนล้าในปัจจุบันทำให้ราคา Bitcoin ได้ร่วงทำจุดต่ำสุดที่ 25,000 ดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และที่น่าสนใจคือ การลดลงของราคา Bitcoin ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Bitcoin กับสินทรัพย์การเงินแบบดั้งเดิมเริ่มกลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ราคา Bitcoin สามารถพุ่งขึ้นเกือบ 60% จนยืนเหนือระดับ 27,000 ดอลลาร์ได้สำเร็จ เนื่องจากบรรดานักเทรดต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจหยุดมาตรการคุมเข้มชั่วคราวท่ามกลางวิกฤตธนาคาร

แต่ถึงกระนั้น Bitcoin ก็กำลังเผชิญกับสัญญาณเตือนจากกราฟทั้ง 4 ที่ส่งสัญญาณว่าราคา Bitcoin จะไม่กลับขึ้นไปยืนเหนือ 30,000 ดอลลาร์ได้อย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกัน กราฟทั้ง 4 ต่อไปนี้ ยังยืนยันไปในทิศทางเดียวกันด้วยว่า ราคาของ Bitcoin อาจลดลงเหลือ 15,000 ดอลลาร์ภายในปี 2023

ดังนั้นในวันนี้ทางสยามบล็อกเชนจึงจะพาทุกคนมาดูไปพร้อมกันว่าสัญญาณเตือนจากกราฟต่าง ๆ นั้นมีอะไรกันบ้าง

กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ทำรูปแบบ Double Bottom Pattern

เครื่องมือวัดความแข็งค่าของเงินดอลลาร์อย่างดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (DXY) ได้เพิ่มขึ้น 1.4% เป็น 102.70 ในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยการเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ทำให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดของเงินดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2022

ที่น่าสนใจ คือ ดัชนี DXY นั้นทำรูปแบบ Double Bottom Pattern ซึ่งเป็นการยืนยันจุดต่ำสุด 2 จุดใกล้กับราคาในแนวราบที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ประมาณ 100.75 ทั้งนี้รูปแบบ Double Bottom Pattern คือสัญญาณการกลับตัวเป็นขาขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าดัชนี DXY อาจเพิ่มขึ้นเป็น 105.85 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ดัชนี DXY บนกราฟราคารายสัปดาห์ ที่มา: TradingView

ขณะเดียวกัน ดัชนีความแข็งแกร่งสัมพัทธ์รายสัปดาห์ (RSI) ของ DXY ยังดีดตัวขึ้น 5 จุดเหนือช่วง oversold หลังจากแตะระดับ 35 ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าช่วงขาขึ้นของดัชนี DXY จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่โดยทั่วไปแล้วสัญญาณนี้จะถือเป็นลางร้ายสำหรับราคาของ Bitcoin

เหตุผลหลักคือความสัมพันธ์เชิงลบระหว่าง Bitcoin และ DXY ที่มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ (coefficient) อยู่ที่ประมาณ -50 ณ วันที่ 14 พฤษภาคม

นอกจากนี้ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเหลือ 4.9% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5% อย่างไรก็ตาม การที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 5.5% นั้นบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านราคายังคงเหนียวแน่น 

การหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวของ Fed ควรส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้มีเสถียรภาพ เนื่องจากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่คงที่นั้นเป็นเรื่องดีสำหรับ U.S. Treasurys แต่ไม่ดีสำหรับหุ้นที่มีความเสี่ยง ดังนั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะเป็นประโยชน์สำหรับเงินดอลลาร์ ในขณะที่ Bitcoin อาจไม่สามารถกู้คืนระดับราคาที่ 30,000 ดอลลาร์ได้ในระยะสั้น

กราฟราคาทองคำใกล้ถึงจุดกลับตัวที่สำคัญ

ราคาทองคำพุ่งขึ้นเกือบ 15% จนยืนเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ท่ามกลางวิกฤติธนาคาร อีกทั้งความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างทองคำกับ Bitcoin ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากค่า coefficient รายสัปดาห์อยู่ที่ 0.82 ณ วันที่ 14 พฤษภาคม

ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นได้ทำให้ราคาพุ่งทดสอบแนวต้านสำคัญที่ระดับ 2,075 ดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2022 ซึ่งระดับนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการกลับตัวของตลาดหมีอย่างรวดเร็ว และส่งผลทำให้ราคาทองคำร่วงลดลงมากถึง 22%

กราฟราคา XAU/USD รายสัปดาห์ ที่มา: TradingView

ในทำนองเดียวกัน การทดสอบระดับแนวต้านในเดือนสิงหาคม 2020 ยังได้ทำให้ราคาลดลง 18% ในลักษณะเดียวกันอีกด้วย และถ้าหากสถานการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีกในปีนี้ ราคาทองคำก็อาจร่วงลงสู่ค่า EMA 50 สัปดาห์ (คลื่นสีแดง) ใกล้กับระดับ 1,850 ดอลลาร์

สำหรับค่า RSI รายสัปดาห์ของทองคำนั้นกำลังเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ โซน overbought ที่ 70 ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์ขาลงที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงบวกของโลหะมีค่ากับ Bitcoin ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเราอาจได้เห็นการปรับฐานในไตรมาสที่ 2 นี้

อุปทาน M2 ลดลง

ตัวเลขอุปทาน M2 เครื่องมือวัดอุปทานเงินสดหมุนเวียนในบัญชีธนาคารและตลาดเงิน ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของ Fed ซึ่งแตะระดับสูงสุดที่ 21.84 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2022

ทว่าในเดือนพฤษภาคม 2023 อุปทาน M2 กลับลดลงเหลือ 20.81 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงกว่า 4% จากจุดสูงสุดของปี 2023

กราฟอุปทาน M2 รายเดือนของสหรัฐฯ ที่มา: TradingView

การลดลงของอุปทาน M2 2% เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้งจนถึงปัจจุบัน และสิ่งนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับตลาดหุ้น เนื่องจากการลดลงของอุปทาน M2 นำไปสู่การเกิดภาวะตลาดตกต่ำ 3 ครั้งและภาวะตื่นตระหนก 1 ครั้ง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเคลื่อนไหวที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญในอุปทาน M2 ซึ่งมักจะเคลื่อนไหวควบคู่กับดัชนีหุ้นของสหรัฐฯ สามารถบ่งชี้ได้ว่า Bitcoin อาจร่วงแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ ทั้งนี้ในปัจจุบันค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์รายสัปดาห์ระหว่าง Bitcoin และดัชนี Nasdaq-100 คือ 0.92

กราฟราคา Bitcoin ทำรูปแบบ Rising Wedge Pattern

Bitcoin อาจมุ่งหน้าลงสู่ช่วงราคา 15,000-20,000 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับจุด breakdown ที่อาจเกิดขึ้นจากกราฟราคาที่ดูเหมือนจะกำลังทำรูปแบบ Rising Wedge Pattern

กราฟราคารายสัปดาห์ BTC/USD ที่มา: TradingView

นักวิเคราะห์ทางเทคนิคมองว่า ลิ่มที่เพิ่มสูงขึ้นในกราฟรูปแบบ Rising Wedge Pattern แสดงถึงสัญญาณการกลับตัวที่เป็นขาลง ซึ่งกราฟลักษณะนี้จะปรากฏขึ้นเมื่อราคาสูงขึ้นในชาเนลที่กำหนด มีการปรับฐานลดลง 2 ครั้ง ประกอบกับเส้น trendline สูงชันขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นราคามักจะร่วงทะลุเส้น trendline ด้านล่าง โดยจะลดลงมากเท่ากับความสูงของลิ่มเสมอ

โดยสรุปแล้ว ถ้าหากรูปแบบกราฟราคา Bitcoin ได้รับการยืนยันจาก indicator ทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้น ราคา Bitcoin อาจจะลดลงจนแตะจุดต่ำสุดที่ 15,000 ดอลลาร์ในปี 2023 ซึ่งนับได้ว่าเป็นมูลค่าที่ลดลงประมาณ 45% จากระดับราคาปัจจุบัน

คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ที่มา: cointelegraph