<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ซิมบับเวเดินหน้าขาย “Crypto ที่ค้ำมูลค่าด้วยทองคำนับล้าน” แม้จะได้รับคำเตือนจาก IMF

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ธนาคารกลางแห่งประเทศซิมบับเว ได้ประกาศขายโทเค็นดิจิทัลที่มีทองคำเป็นทุนสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ซิมบับเว หรือคิดเป็นมูลค่า 39 ล้านดอลลาร์ แม้ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะกล่าวเตือนก็ตาม

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ธนาคารกลางแห่งซิมบับเว ประกาศว่า ทางธนาคารได้รับคำขอจำนวนกว่า 135 รายการเพื่อซื้อ Crypto ที่มีการใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน  รวมเป็นเงินมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ซิมบับเว โดยปัจจุบันเงิน 362 ซิมบับเว มีมูลค่าเทียบเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงตามข้อมูลจาก XE.com ทำให้มูลค่าของการซื้อขายครั้งนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 38.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับโทเค็นทองคำของซิมบับเว ได้มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนและมีทองคำเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันจำนวน 139.57 กิโลกรัม โดยโทเค็นมีการขายตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมถึง 12 พฤษภาคม 

โทเค็นดังกล่าวเปิดขายมาในราคาขั้นต่ำ $10 สำหรับบุคคลธรรมดา และ $5,000 สำหรับบริษัทและหน่วยงานอื่นๆ โดยมีระยะเวลาในการให้สิทธิ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 180 วัน ในขณะที่นักลงทุนชาวซิมบับเวจะสามารถถือโทเค็นนี้ได้ใน e-gold wallets หรือบัตร e-gold

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินท้องถิ่นเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

การประกาศขายโทเค็นนี้ในรอบที่ 2 จะถูกจัดขึ้นและธนาคารได้ขอให้ส่งคำขอซื้อทั้งหมดมายังธนาคารภายในสัปดาห์นี้เพื่อที่จะทำการจัดสรรในวันที่ 18 พฤษภาคม ตามข้อมูลจากสื่อท้องถิ่น Dr. John Mangudya ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งซิมบับเว กล่าวว่า

“การออกโทเค็นที่มีทองคำหนุนหลังมีจุดประสงค์เพื่อขยายตราสารที่ใช้ในการเก็บรักษามูลค่าที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแบ่งแยกตราสารการลงทุน การเข้าถึง และการใช้งานโดยสาธารณชน”

อย่างไรก็ตาม IMF ได้กล่าวเตือนถึงการออกสกุลเงินดิจิทัลนี้ว่า ซิมบับเวควรทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความเสรีแทน ตามการรายงานโดยสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม

“ควรมีการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่า ผลประโยชน์จากมาตรการนี้มีมากกว่าต้นทุนและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจจุลภาค ความเสี่ยงทางกฎหมายและการดำเนินงาน ความเสี่ยงด้านการปกครอง และต้นทุนของเงินสำรอง FX” โฆษกของ IMF กล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg

ประเทศซิมบับเว ได้ทำการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและความผันผวนของค่าเงินมานานกว่าทศวรรษ โดยในปี 2009 รัฐบาลได้นำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาใช้ในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อมีความรุนแรง ส่งผลให้สกุลเงินท้องถิ่นสูญเสียมูลค่าของมันไป แม้ว่าสกุลเงินดอลลาร์ซิมบับเวจะถูกนำมาใช้อีกครั้งเมื่อปี 2019 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ความผันผวนของค่าเงินยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ที่มา: Cointelegraph