<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

‘อาจารย์ตั๊ม’ วิจารณ์ ! นโยบายเก็บภาษีคนรวยของ ‘พิธา’ อาจเป็นปัญหาในอนาคต

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา อาจารย์ตั๊ม พิริยะ สัมพันธารักษ์ กูรูคริปโตชื่อดังของไทย ได้ออกมาแสดงมุมมองด้านนโยบายของพรรคก้าวไกลผ่าน facebook ส่วนตัว ในประเด็นเกี่ยวกับ “Wealth Tax” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ภาษีความมั่งคั่ง” ซึ่งความเห็นของอาจารย์ตั๊มก็ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย 

Wealth Tax คืออะไร?

Wealth Tax หรือภาษีความมั่งคั่ง คือ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้เรียกเก็บภาษีจาก “บุคคลที่มีความมั่งคั่งสุทธิมากกว่า 300 ล้านบาท” ทั้งนี้ทางพรรคระบุว่านโยบายนี้มีข้อดี 2 ด้าน คือ 1) รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ 2) ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมได้บางส่วน

Wealth Tax ในมุมมองของอาจารย์ตั๊ม

อาจารย์ตั๊มมองว่า โครงสร้างของนโยบาย Wealth Tax คือ “การดูดเอาเงินออมออกไปให้กับรัฐ” แต่นโยบายนี้ก็ “ยังพอมีที่ให้หายใจได้บ้าง” เนื่องจากมีการกำหนดว่าจะเก็บภาษีเฉพาะคนที่มีเงิน 300 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่อย่างที่ทางพรรคก้าวไกลกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ตั๊มกูรูด้านการเงินและตลาดคริปโตมองว่า นโยบายนี้สามารถสร้างผลกระทบได้ในอีกทางหนึ่ง เนื่องจาก “ใครก็ตามที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้าน จะเริ่มพยายามหาทางแปลงทรัพย์สินเหล่านั้นให้อยู่ในรูปที่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้”

อาจารย์ตั๊มยกตัวอย่างการโอนทรัพย์สินเข้ามูลนิธิของตนเอง หรือแปลงเป็น Bitcoin แบบ non-kyc แล้วเก็บไว้เงียบ ๆ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในอนาคต “จะเกิดอาชีพที่ปรึกษาการบริหารจัดการทรัพย์สิน ที่วัดผลงานกันที่ความสามารถในการทำให้สามารถรักษามูลค่าทรัพย์สินได้”

ดังนั้นโดยสรุปแล้วอาจารย์ตั๊มมองการเก็บภาษี Wealth Tax จะสามารถดำเนินการได้จริง “เพียงระยะหนึ่ง” เท่านั้น

ทั้งนี้คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในมุมมองของอาจารย์ตั๊ม คือกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินเก็บไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่คนที่ร่ำรวย หรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่ “กำลังจะรวย” รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีมรดกของครอบครัวเก็บไว้ ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวยังไม่สามารถบริหารจัดการส่วนนี้ได้

นอกจากนี้ อาจารย์ตั๊มมองว่าถ้าหากไม่มีการปรับระดับเกณฑ์ผู้เสียภาษี ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต เพราะถึงแม้เงิน 300 ล้านบาทจะดูเป็นเงินจำนวนมากในวันนี้ แต่ในอีก 10 – 30 ปีข้างหน้า เงิน 300 ล้านบาทอาจจะไม่ใช่เงินจำนวนมากมายอะไรนักก็เป็นไปได้

“คล้าย ๆ กับการกำหนดขอบเขตการตรวจสอบใน US ที่ตั้งกรอบไว้ $600 ต่อปี ซึ่งเคยเป็นยอดที่สูงมากในอดีต แต่ปัจจุบันโดนแทบทุกคน” อาจารย์ตั๊มยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการตัดสินว่า Wealth Tax เหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้หรือไม่นั้น อาจารย์ตั๊มชี้ให้เห็นในช่วงท้ายของโพสต์ดังกล่าวว่าเราควรพิจารณา “นโยบายการเงิน” ประกอบกับนโยบาย Wealth Tax ด้วย

“…เงินนั้นถูกเอาไปใช้ทำอะไร หากเงินภาษีถูกนำไปพัฒนาประเทศ เพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินโดยรวมมากกว่าที่เก็บไป คนก็ไม่ว่าอะไร แต่ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า หน่วยงานราชการไม่มีทางใช้เงินให้เกิดประสิทธิผลได้มากเท่าเอกชน จึงทำให้ในภาพรวม ภาษีถึงถูกมองเป็นการดูดเอาผลผลิตออกจากเศรษฐกิจไปเผาทิ้งเล่น ๆ”

“ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องดูนโยบายการเงินด้วย ถ้ารัฐยังเดินหน้าทำลายมูลค่าเงินต่อไป เก็บอย่างไรก็ไม่คุ้มเพราะการทำลายล้างมูลค่ามันสูงกว่าเงินเฟ้อที่แท้จริงเสมอ”

ขณะนี้มุมมองด้านนโยบาย Wealth Tax ของอาจารย์ตั๊มกำลังได้รับความสนใจจากทั้งผู้คนในชุมชน Crypto และภายนอกชุมชน อีกทั้งโพสต์ดังกล่าวยังได้กลายเป็นเวทีให้ชาวเน็ตที่กำลังสนใจประเด็นนี้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Piriya Sambandaraksa