สถานการณ์ของ Blockchain ในประเทศไทยนั้น เริ่มคืบหน้าเข้ามาอีกขั้น หลังจากที่ Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิตอลที่ตั้งอยู่บน Blockchain นั้น ยังไม่ถูกยอมรับเป็นสกุลเงิน และถูกมองเป็นเหมือนสินค้าออนไลน์โดยธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ธนาคารในประเทศไทยก็มีการให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ เช่น ธนาคารกสิกร และ ธนาคารไทยพาณิชย์
ในวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยถึงความคืบหน้าในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี Blockchain โดย นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเปิดโอกาสให้สถาบันทางการเงิน ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการ FinTech (Financial Technology) ทำการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อมาทดสอบใน Regulatory Sandbox
Regulatory Sandbox คือ สนามซ้อมที่ธนาคารแห่งชาติสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ประกอบการ หรือสถาบันทางการเงินใดก็ตาม ที่ต้องการจะนำโปรแกรม หรือเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆมาทดสอบกับสภาพแวดล้อมที่เหมือนจริง แต่ไม่กระทบกับการทำธุรกรรมจริงๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะ Regulatory Sandbox นี้จะแยกตัวออกมาชัดเจนจากชุดโปรแกรม หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานจริงๆอยู่ในทุกๆวัน
ก่อนหน้านี้มีการนำเสนอโครงการให้กับธนาคารแห่งชาติเพื่อนำ Private Blockchain (การสร้างเครือข่าย Blockchain ส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ Blockchain ของ Bitcoin หรือ cryptocurrency อื่นๆ) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหนังสือค้ำประกัน ของธนาคาร (Letter of Guarantee) และยังมีอีกโครงการที่เกี่ยวข้องกับ blockchain ที่ได้รับความเห็นชอบให้เข้ามาทดสอบ คือ โครงการการโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross-border transfer) โดยระยะแรกเป็นการโอนเงินจากต่างประเทศมายังผู้รับเงินในไทยระหว่างภาคธุรกิจ หลังจากนั้นจึงจะขยายไปครอบคลุมในส่วนของการโอนเงินระหว่างประชาชนจากต่างประเทศมายังในประเทศ
ถือว่าธนาคารแห่งชาติของประเทศไทยนั้น มีความเปิดกว้างและความก้าวทันเทคโนโลยีไม่น้อย จากการเปิดให้นวัตกรรมใหม่ อย่าง Blockchain ให้เข้ามาเริ่มทดสอบระบบแล้ว นั่นแปลว่า มีโอกาสอย่างมากที่เราจะได้เห็น Blockchain ที่สร้างโดยคนไทย และจะนำมาใช้เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่คนไทย
ภาพจากโพสทูเดย์
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น