ปัจจุบัน ถึงแม้เราจะเริ่มเข้าสู่ในยุคดิจิทัล แต่อะไรหลาย ๆ อย่างก็ยังคงมีข้อจำกัดไม่สามารถแปลงสภาพให้อยู่ในรูปแบบดจิทัลหรือออนไลน์ได้อยู่ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตในตอนนี้ยังมีขีดจำกัดอยู่ แต่หลังจากที่ Blockchain ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน มันได้เริ่มเข้ามาปลดล็อคศักยภาพ ทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างในโลกของเราอยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างแท้จริงแล้ว
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีงาน Fintech Challenge: The Discovery 2018 ที่จัดโดย ก.ล.ต. และสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นงานที่เผยแพร่ความรู้ด้านฟินเทคให้กับผู้ประกอบการชาวไทย ทั้งมุมมองในอนาคต และในแง่มุมด้านกฎหมายสำหรับประเทศไทย
งานดังกล่าวมีเหล่าผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีประสบการณ์กับเทคโนโลยีนั้นโดยตรงมาให้ความรู้ เช่น ดร.การดี เลียวไพโรจน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งของ ICORA, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Bitkub, นายวัชระ เอมวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง SIX Network, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอื่น ๆ อีกมาก
Tokenization
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Bitkub เว็บเทรดคริปโตในไทย ได้ชี้ให้เห็นศักยภาพของ Blockchain ว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีผลักดันให้สินทรัพย์ในโลกสามารถแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลได้
“World Economic Forum ได้ประมาณการณ์ว่าภายในปี 2025 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งโลกจะอยู่ใน Blockchain เพราะฉะนั้นเราจะ Digitalize ได้หลายอย่างมากขึ้นไม่ใช่หยุดแค่ตราสารหนี้, หุ้น, เพชร หรือทองอีกต่อไป”
เขาได้กล่าวในขณะขึ้นพูดในงานว่า ต่อไปโลกเราจะพัฒนาไปจนถึงยุคที่คนเราสามารถแปลงสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ด้วย เช่นชื่อเสียง เป็นต้น
“ในปัจจุบัน เรารู้หรือไม่ครับว่า ชื่อเสียงของดาราเช่น อั้ม พัชราภา หรือนักฟุตบลอชื่อดังอย่างนาย Cristiano Ronaldo นั้นมีมูลค่าเท่าไร ในอนาคตเราจะสามารถทำให้ชื่อเสียงเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบดิจิทัลหรือโทเคนได้แล้ว (Tokenization)”
นอกเหนือจากการแปลงสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้วเทคโนโลยี Blockchain ยังทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย
“พอ Blockchain มันมา มันได้สร้าง Business Generation ใหม่ขึ้น ต่อไปจะมีบริษัทที่ทำงานด้วยตัวมันเองได้แล้วเรียกว่า Decentralized Autonomous Organization หรือ DAO ไม่จำเป็นต้องมี CEO, นักการตลาด และนักการบัญชีแล้ว”
ความท้าทายในประเทศไทย
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ขาดไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงเรื่องกฎหมาย ซึ่งมีช่วงที่ก.ล.ต. ได้เปิดให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญในวงการนำเสนอว่าประเทศไทยยังติดปัญหาเรื่องไหนอยู่ ในมุมมองของนวัตกรรมใหม่
นายวัชระ เอมวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง SIX Network ได้ออกมาเผยว่า ปัญหาสำหรับวงการ Blockchain ในประเทศไทยคือ ความที่ Blockchain นั้นสามารถประยุกต์ได้หลายอุตสาหกรรม ทำให้ต้องเดินเรื่องไปคุยกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเกิดความยากลำบากในการดำเนินการ เขาเลยแนะนำให้มี Sandbox สำหรับการลองผิดลองถูกก่อนที่จะนำมาใช้จริง จะได้รู้ว่าควรมีกระบวนการอย่างไร
นอกเหนือจากประเด็นด้านกฎหมายแล้ว นายวัชระ ได้ชี้อีกด้วยว่า การที่ไทยจะเริ่มยอมรับ Blockchain นั้นโปรเจกต์ต่าง ๆ จำเป็นต้องมีกลไกของโทเคน (Token Economy) ให้น่าดึงดูดมากพอเสียก่อน ที่จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า อยากมาใช้ เพราะว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจริง และควรแก้ปัญหาในการใช้งานให้เรียบง่ายขึ้นเสียก่อน เช่น การใช้งาน Wallet ต้องจำ Private Key ตลอด ซึ่งไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก
นายจิรายุส ก็ได้อธิบายในเชิงเปรียบเทียบด้วยการยกตัวอย่างว่า ตอนนี้เราอยู่ที่เกาะ Physical World และเกาะที่เรากำลังจะไปคือ Digital World จะทำอย่างไรให้คนจากเกาะโน้นย้ายมาเกาะนี้ได้
“ Cryptocurrency คือสะพานที่เชื่อมทั้งสองเกาะเข้าด้วยกัน และนอกจากการมีสะพานแล้วก็ต้องมีสะพานที่แข็งแกร่ง, ข้อดีที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ย้ายมาเกาะนี้แล้วมันดีกว่ายังไง พร้อมทั้งมีแผนที่ ซึ่งก็คือการให้ความรู้ผู้คนว่าจะสามารถเดินทางไปยังอีกเกาะได้อย่างไร”
ภาครัฐและ Blockchain
เมื่อพูดถึง Blockchain คนส่วนใหญ่จะคิดถึงรายย่อย และภาคเอกชนเท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือ ภาครัฐเองก็เป็นอีกฝ่ายที่สามารถนำมาใช้ยกระดับประเทศได้เช่นกัน
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งของ ICORA ได้แนะนำว่า ควรที่จะใช้ Blockchain เข้ามาทำให้ประชาชนสามารถทราบได้ว่า เงินภาษีที่พวกเขาจ่ายไปนั้นไปอยู่ที่ไหน
“มันจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนในประเทศจากเดิมว่า ไม่อยากจ่ายภาษี กลายเป็นอยากจ่ายภาษี เพราะว่าจะสามารถติดตามได้อย่างชัดเจนว่าการจ่ายภาษีของเรานั้นได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าไร นำไปพัฒนาประเทศในส่วนไหน”
ถึงแม้เรื่องเกี่ยวกับการเงินและฟินเทคจะดูเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวลเท่าไรนัก แต่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่าจริง ๆ แล้วไทยเรานั้นยังมีช่องทางให้แก้ปัญหาอีกมาก
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สถาบันการเงินมีรายได้มากที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับ GDP ประเทศ ในขณะที่ต่างประเทศมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยังมี Pain Point อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่อีกมาก”
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น