เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เกิดประเด็นสำคัญที่ชุมชนคริปโตต่างถกเถียงกันอย่างล้นหลามเกี่ยวกับปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวของราคาเหรียญที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ชนิดที่ว่าเหมือนกันอย่างกับแกะ ระหว่างเหรียญ Ripple ( XRP) และเหรียญ Stellar (XLM) โดยมี David Schwartz ซีทีโอของ Ripple ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว
David Schwartz ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านวิศวกรรมของ XRP Ledger ได้แนะนำว่าพฤติกรรมราคาคู่ขนานของ XRP และ XLM นั้นอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกระบบนิเวศของพวกมัน เขายอมรับว่ามีหลักฐานทั้งสองด้านที่สนับสนุนและต่อต้านทฤษฎีนี้ เนื่องจากเรื่องของราคาเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ Schwartz ได้กล่าวถึงคือ ผลกระทบของการ ‘เผาเหรียญ’ จำนวนมากของ Stellar เมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าจะมีการลดอุปทานทั้งหมดลงครึ่งหนึ่ง แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างใด ๆ ทั้งสิ้น ต่อราคาของ Stellar (XLM) เมื่อเทียบกับราคาของ XRP
สิ่งนี้ทำให้ Schwartz เชื่อว่าการเผา XRP ในลักษณะเดียวกันก็ไม่น่าจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อราคาของ XRP ได้เช่นเดียวกัน ส่วนตัวเขาได้อ้างถึงกราฟที่เปรียบเทียบพฤติกรรมราคาของ XRP และ XLM ก่อนและหลังการเผาเหรียญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใด ๆ เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตามคำถามคือ อะไรที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นี้ แม้จะมีพฤติกรรมราคาที่คล้ายกัน ทว่าเหรียญ XRP และ XLM กลับมีกลไก Tokenomic หรือระบบเศรษฐศาสตร์ของเหรียญที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
โดยเหรียญ XRP มีอุปทานทั้งหมด 99.98 พันล้านโทเค็น มีเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ 55.43 พันล้านโทเค็น ส่วนราคา XRP ซื้อขายอยู่ที่ $0.525 และมูลค่าตลาด 29.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในขณะที่เหรียญ XLM มีอุปทานรวม 50 พันล้านโทเค็น มีเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในระบบจำนวน 28.976 พันล้าน ส่วนราคา XLM มีการซื้อขายกันอยู่ที่ $0.1083 และมูลค่าตลาดของเหรียญที่ 3.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ของราคาระหว่าง XRP และ XLM สามารถอธิบายได้จากประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกันและพฤติกรรมของตลาด เนื่องจากผู้ก่อตั้ง Stellar(XLM) อย่าง Jed McCaleb เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ripple ส่งผลให้ระบบนิเวศของ Stellar มักจะมีความคล้ายคลึงกับ XRP และโดยปกติแล้วนักลงทุนก็มักจะมองหาโอกาสการทำกำไรจากสินทรัพย์ที่คล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ราคาของสกุลเงินดิจิทัลทั้งสอง ขึ้นลง พร้อม ๆ กันนั่นเอง