<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

10 ประเทศที่มีกฏระเบียบเข้มงวดกับคริปโตมากที่สุดในโลก

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปัจจุบันตลาดและอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเติบโตและวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องออกคำสั่งให้หน่วยงานกำกับดูแลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรา ซึ่งกฎระเบียบของบางประเทศก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาทุกท่านมาดูกันว่ามีประเทศไหนบ้างที่มีหน่วยงานกำกับดูแล หรือ กฏระเบียบที่เข้มงวดจนส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโตในภาพรวม 

10 สหราชอาณาจักร

หน่วยงาน The United Kingdom’s Financial Conduct Authority (FCA) ทำหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตในสหราชอาณาจักร ซึ่งทางหน่วยงานได้กวดขันให้เว็บเทรดต้องปฏิบัติตามกฏต่าง ๆ เพื่อป้องกันการฟอกเงิน และคอยสกัดกั้นผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายกับนักลงทุนรายย่อย เพื่อไม่ให้สามารถซื้อขายกันภายในประเทศ

9 ออสเตรเลีย

ถัดมาสำหรับออสเตรเลียจะมีหน่วยงานดูแลที่ชื่อ The Australian Securities and Investments Commission (ASIC) ที่ควบคุมดูแลตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำอย่างการเปิดตัวโปรเจกต์ ICO ไปจนถึงการลิสต์บนเว็บเทรด ซึ่งทางประเทศออสเตรเลียก็ได้มีการวาง framework ไว้อย่างชัดเจน

8 อินเดีย

อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความโหดไม่แพ้กันคือ หน่วยงานของประเทศอินเดีย ซึ่งเข้มงวดเอามาก ๆ และทำให้ธุรกิจหลายรายต้องถอนตัวออกจากประเทศ โดยในปัจจุบันทางรัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำการแบนคริปโต หรือปรับตัวเข้าหามัน และเนื่องด้วยอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกทำให้การกำกับดูแลของประเทศอินเดียนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

7 สิงคโปร์

การที่ประเทศต่างๆ มีกฎเข้มงวดใช่ว่าจะไม่ดีต่อคริปโตเสมอไป เห็นได้จากกรณีของสิงคโปร์ที่นำโดย The Monetary Authority of Singapore (MAS) ในการกำกับดูแล ป้องกันการฟอกเงิน และต่อต้านการก่อการร้ายด้านการเงิน 

ด้วยการที่การกำกับดูแลของสิงคโปร์นั้นมีความชัดเจน มีการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการปกป้องประชาชนเพื่อทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี

6 สวิสเซอร์แลนด์

อีกหนึ่งประเทศที่โด่งดังด้านการเงินและจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ สวิสเซอร์แลนด์ โดยเช่นเดียวกันกับสิงคโปร์ สวิสเซอรแลนด์ได้กลายเป็น hub ขนาดใหญ่ของธุรกิจคริปโตเนื่องจากทางหน่วยงาน The Swiss Financial Market Supervisory Authority (FINMA) มีการวางกฎระเบียบที่รัดกุม และชัดเจนสำหรับทั้งการ ICO หรือธุรกิจอื่น ๆ

5 เกาหลีใต้

มาถึงลำดับที่ 5 นั้นตกเป็นของเกาหลีใต้ที่ทางหน่วยงานกำกับดูแลนอกจากจะเข้มงวดแล้วยังได้มีการสร้างกฏหมายยืนยันตัวตนใหม่ขึ้นมา โดยผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องใช้บัญชีธนาคารที่ระบุชื่อจริงในการซื้อขายคริปโต ทำให้การนำคริปโตไปใช่ก่ออาชญากรรมนั้นลดลง และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

4 ญี่ปุ่น

ต่อมาในลำดับที่ 4 เป็นของประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่มีการเปิดรับคริปโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งทางหน่วยงาน Financial Services Agency (FSA) เป็นผู้คอยกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตในประเทศ โดยญี่ปุ่นนั้นให้การยอมรับ Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่ถูกกฎหมาย ส่งผลให้สามารถดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนเข้ามายังประเทศได้มากมาย

3 จีน

มาถึงคร่าวของเหล่าประเทศมหาอำนาจกันบ้าง โดยเริ่มต้นที่จีน ประเทศที่มีการประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับคริปโตเคอร์เรนซี และทำการแบนมาตั้งแต่ปี 2021 ทำให้หากประเทศจีนมีความเคลื่อนไหวในด้านคริปโตเคอร์เรนซีนั้น ย่อมจะส่งผลกระทบถึงตลาดเป็นธรรมดา

2 สหภาพยุโรป

สำหรับลำดับที่ 2 ตกเป็นของสหภาพยุโรป กับกฏหมายที่หลายบริษัทต้องปาดเหงื่อกับ Markets in Crypto-Assets (MiCA) ที่บีบบังคับให้ภาคธุรกิจต้องแสดงความโปร่งใสในธุรกิจคริปโตถึงจะสามารถดำเนินงานต่อในภูมิภาคได้ และกฏดังกล่าวยังครอบคลุมไปยังหลายเซคเตอร์อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ หรือ stablecoin ซึ่งคาดว่ากฎดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการควบคุมคริปโตทั่วโลกในอนาคต

1. สหรัฐอเมริกา

อันดับที่หนึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพี่ใหญ่อย่างสหรัฐ ฯ ที่แค่หน่วยงานหลัก ๆ อย่าง SEC ก็สามารถเขย่าตลาดคริปโตได้แล้ว เห็นได้จากการอนุมัติ Spot Bitcoin ETFs ที่ทำให้ตลาดคริปโตพลิกกลับขึ้นมาจากหลังมือเป็นหน้ามือ และมากไปกว่านั้นทาง SEC ยังมีคดีความกับคนในวงการคริปโตอีกมากมาย เช่น Ripple เป็นต้น ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ส่งผลต่อตลาดคริปโตเป็นอย่างมาก
ที่มา : sfctoday