ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และหลักเกณฑ์รองรับโครงการ Sandbox ของ ธปท.
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การห้ามสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (Means of Payment : MOP) ให้ครอบคลุมผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทในปัจจุบัน และปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถเข้าทดสอบภายใต้โครงการ Programmable Payment Sandbox ของ ธปท. เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ให้ครอบคลุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท และการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถเข้าร่วมโครงการ Programmable Payment Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วย ก.ล.ต. จึงออกประกาศ* โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP เพื่อขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ซึ่งเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่**
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ให้เข้าร่วมการทดสอบในโครงการ Programmable Payment Sandbox สามารถให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะเป็น MOP ภายใต้การทดสอบดังกล่าวได้
(3) ปรับปรุงบัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ซึ่งผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถรับเป็นการตอบแทนหรือในการทำธุรกรรม เพื่อรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในโครงการ Programmable Payment Sandbox
ทั้งนี้ ประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
หมายเหตุ :
* ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ. 25/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2567 (https://publish.sec.or.th/nrs/10351s.pdf)
(2) ประกาศสำนักงานประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สจ. 22/2567 เรื่อง บัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2567 (https://publish.sec.or.th/nrs/10353s.pdf) และแนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 44/2561 เรื่อง บัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถรับเป็นการตอบแทนหรือในการทำธุรกรรม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 22/2567 เรื่อง บัญชีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (ฉบับที่ 3) (https://publish.sec.or.th/nrs/10354s.pdf)
** ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. มี 6 ประเภทในปัจจุบัน
(1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)
(2) นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)
(3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer)
(4) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager)
(5) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service)
(6) ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider)