บทความในวันนี้เราจะมาพูดถึง SegWit และ Bitcoin Unlimited ซึ่งเป็น 2 คำที่วนเวียนอยู่ในวงการบิทคอยน์และบล็อกเชนช่วงนี้ วันนี้ Siam Blockchain จะมาอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจว่ามันคืออะไร
เริ่มจากการทำความเข้าใจคำว่า Fork, Soft Fork และ Hard Fork
Fork
Fork คือ การแตกก้านสาขาของบล็อกเชน เวลาเกิด transaction (การโอนบิทคอยน์) ขึ้น transaction เหล่านี้จะถูกยัดลงไปในบล็อกที่ถูกสร้างขึ้นมา และมีขนาดกำหนดไว้ที่มากที่สุดคือ 1MB จะน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่มากกว่าไม่ได้ บล็อกนี้จะเปรียบเสมือนกล่องที่ใส่บิทคอยน์ที่จะเดินทางไปหาเป้าหมายของมัน แต่ก่อนที่มันจะไปไหน จะต้องถูกตรวจสอบก่อนโดยนักขุดของพวกเรา ที่จะมาทำการไขปริศนาที่เรียกว่า Proof of Work เพื่อยืนยันว่า ไม่มีใครมาแอบอ้างสร้าง transaction ปลอมๆในกล่องนี้ ก็จะถือว่ากล่องนี้ผ่านการตรวจสอบ เอาไปต่อกับบล็อกก่อนหน้า เพื่อให้เกิดเป็นห่วงโซ่ของบล็อก ทีนี้บิทคอยน์เองก็เปรียบเสมือนโปรแกรมตัวหนึ่ง บางครั้งก็ต้องมีการอัพเดทแพทช์บ้าง การ Fork คือการท่ีห่วงโซ่บล็อกเชน แบ่งออกไปอีกสายหนึ่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบิทคอยน์ เส้นเก่าอาจจะยังคงมีบล็อกมาเกาะต่อไปเรื่อยๆ หรือทุกคนอาจจะย้ายมาที่เส้นใหม่ก็ได้ เปรียบได้กับเวลามีการสร้างถนนเส้นใหม่ขึ้นมา และถนนเส้นนี้จะมีด่านตรวจอยู่ว่า คนที่จะมาวิ่งถนนเส้นนี้ได้ จะต้องทำการอัพเกรดแพทช์ใหม่ของบิทคอยน์ก่อนเท่านั้น ใครยังไม่อัพเกรดให้กลับไปวิ่งเส้นเดิม
Soft Fork
คือ Fork ในรูปแบบที่มีผลกระทบกับบล็อกเชนน้อย คนที่ไม่อัพเกรดไปเวอร์ชันใหม่ก็ยังเป็นสมาชิกของบล็อกเชนได้เรื่อยๆ ในการอยู่บนห่วงโซ่เส้นเก่า แต่สำหรับคนที่อัพเกรดเวอร์ชันล่าสุดแล้ว ทุกๆบล็อกที่เกิดขึ้นจากนักขุดที่อัพเกรดเวอร์ชันแล้วจะไปเกิดขึ้นที่ห่วงโซ่ใหม่ จะไม่ไปยุ่งกับอันเดิม นั่นก็แปลว่า นักขุด และ node ในบล็อกเชนนั้น มีสิทธิ์เลือกว่าจะไปทางไหน เปรียบเสมือนการโหวต ถ้าทุกคนพร้อมใจกันเดินหน้าสู่เวอร์ชันใหม่ ทุกคนก็จะต้องอัพเกรดเวอร์ชันของโปรแกรมตาม แต่ถ้ามีคนไม่เห็นด้วย คนเหล่านั้นก็ยังสามารถทำทุกอย่างเหมือนเดิมได้อยู่ดี แต่อาจจะได้บล็อก และได้ขุดน้อยลง เพราะคนหมู่มากเขาไปถนนอีกเส้นกันแล้ว
Hard Fork
คือ Fork แบบที่กระทบกับระบบบล็อกเชนรุนแรง จนไม่สามารถเวิร์คกับเวอร์ชันก่อนหน้านี้ได้ ถ้าจะเปลี่ยนแล้ว ทุกคนต้องเปลี่ยนตามเท่านั้น จะมาเปลี่ยนครึ่งๆกลางๆไม่ได้ เรียกได้ว่าทำให้บิทคอยน์ตายไปเกิดใหม่กลายเป็นอีกสกุลเงินไปเลยก็ได้ Fork แบบนี้ จะไม่ยอมให้มีส่วนน้อยที่ไม่ยอมอัพเกรดตามเขา เพราะคนส่วนน้อยนี้จะขุดอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่ปฏิบัติตามเวอร์ชันใหม่ที่ออกมา ออกแนวเผด็จการนิดๆ
SegWit vs Bitcoin Unlimited
SegWit (Segregated Witness)
SegWit คือไอเดียใหม่ที่จะมาแก้ปัญหาที่ค้างคาในบิทคอยน์ ในเรื่องของ การโอนที่ล่าช้า ขนาดของบล็อกเชนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และช่องโหว่ความปลอดภัย แปลตรงตัว Segregated แปลว่า ตัดออก Witness คือ พยาน เมื่อมารวมกันแล้วมันคือการตัด “พยาน” ออก ซึ่งพยานในที่นี้คือสิ่งที่เรียกว่า signature ที่จะถูกแนบไปกับทุกๆ transaction นึกภาพเวลาคุณใช้บัตรเครดิตแล้วคุณต้องเซ็นกำกับไว้เพื่อยืนยันว่า คุณเป็นเจ้าของบัตรจริงๆนะ นั่นแหละคล้ายๆ signature ของบิทคอยน์ มันคือชุดตัวเลขที่คำนวณมาแล้วเพื่อเอาไว้ยืนยันว่านี่คือเจ้าของบิทคอยน์กำลังทำการโอนเงินจริงๆนะ เปรียบเสมือนเป็นพยานของการทำธุรกรรมนี้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสจริงๆ
ผู้คิดค้น SegWit เสนอว่า signature นี้ใช้แค่ตอนตรวจสอบตอนต้นเท่านั้น ตอนเราบันทึกข้อมูล เราไม่ต้องบันทึกมันลงไปก็ได้ ผลลัพธ์คือ ขนาดข้อมูล transaction นึงจะเล็กลง ที่ว่างในบล็อกนึงจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้มี transaction ถูก confirm ในปริมาณที่มากขึ้น และเร็วขึ้น ช่วยให้การโอนเงินเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ที่เจ๋งไปกว่านั้น SegWit เป็น Soft Fork ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยทีมผู้พัฒนา Bitcoin Core แท้ๆ ที่เป็นผู้คอยดูแลให้บิทคอยน์มาถึงจุดนี้ได้ โดยการอัพเดทนี่คาดว่าจะช่วยให้ระบบบิทคอยน์ดีขึ้น และมันยังเป็นการอัพเดทแบบค่อยเป็นค่อยไป
ข้อเสียของ SegWit คือ ปัญหาเรื่องขนาดของบล็อกที่ SegWit พยายามจะแก้ เป็นแค่การแก้ปัญหาระยะสั้น กล่าวคือ พอกล่องมันเต็มง่าย เราก็ลดขนาดของที่เราอยู่ในกล่องสิ แต่เดี๋ยวพอวันหนึ่งที่การโอนบิทคอยน์มันเกิดขึ้นเยอะมากๆ เกิดเป็นบล็อก หรือกล่องนี้ทีละหลายๆกล่อง แต่ละกล่องก็ใช้เวลากว่าจะ confirm ได้ สุดท้ายมันก็จะกลับไปช้าเหมือนเดิม
Bitcoin Unlimited
Bitcoin Unlimited หรือ ชื่อย่อว่า BTU คือคอนเซปต์ที่กลุ่มนักลงทุนและนักขุดบิทคอยน์กลุ่มหนึ่งเสนอว่า ถ้าวิธีแรกมันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราไปแก้ที่ต้นเหตุกัน ก็ทำให้ขนาดของบล็อกมันไม่มีลิมิตซะสิ จะใหญ่เท่าไรก็ได้ พอตอน transaction มาเยอะๆ เราก็รอเลย รอให้กล่องมันเต็มพอเหมาะ จน transaction มันเริ่มไม่มีมาละ แล้วก็จับมัดรวมกัน แล้ว confirm มันให้หมด แบบนี้ทีเดียว เร็วกว่าเยอะ
จากเดิม นักขุดจะถูกจำกัดไว้ที่ ขนาดบล็อก 1 MB ถ้าเขาเอา transaction ยัดใส่กล่องจนเต็มแล้ว ถือว่าหมดโควต้าของคุณแล้ว แต่พอขนาดบล็อกไม่มีจำกัด นักขุดจะรอจนถึงเมื่อไรก็ได้ จนกว่าเขาจะพอใจแล้วปิดกล่องเพื่อไป confirm transaction ไปๆมาๆ กลายเป็นเราให้อำนาจใหญ่ในการตัดสินความเร็วของระบบด้วยกำลังของนักขุด และความซื่อสัตย์ของนักขุดว่า พวกเขาควรจะเลือกขนาดบล็อกที่พอเหมาะ พอดี ไม่ใช่โลภมาก รอเก็บเยอะๆทีเดียว จนทำให้คนเค้ารอกัน
BTU เป็น Hard Fork นั่นแหละว่าทุกคนต้องเห็นตรงกัน และเปลี่ยนพร้อมกันหมด จนทำให้มีคนถึงกับสันนิษฐานว่า ถ้า BTU เกิดขึ้นจริงแล้ว มีคนยังไม่ไปตาม เราจะเกิดเป็น 2 สกุลเงินที่แยกกันต่างหากคือ BTC (Bitcoin) และ BTU (Bitcoin Unlimited) ซึ่งนี่คือชื่อที่กระดานเทรดตั้งให้เลย เหมือนรอรับแล้วว่า เราจะไม่เอาเหรียญสองอันนี้มารวมกัน เพราะคอนเซปต์มันจะต่างกันโดยสิ้นเชิง ในวันที่ BTU ถูกเปิดใช้งานสำเร็จ วันนั้นคุณอาจจะตื่นขึ้นมาพบว่าคุณมี BTC และ มี BTU ในปริมาณที่เท่ากันอยู่ในมือก็ได้
Emergent Consensus
คอนเซปต์ใหม่ สดๆร้อนๆ Bitcoin Unlimited ไม่ยอมลดละความพยายามในการขยายขนาดของบล็อกออก คราวนี้พวกเขาจึงมาใหม่ ด้วยชื่อที่ไฉไลกว่าเดิม คือ Emergent Consensus แปลตรงตัว คือ ความลงตัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คอนเซปต์ของมันคือ ขนาดของบล็อก มีจำกัด แต่ขนาดเท่าไรนั้น เราจะให้ตลาดเป็นคนจัดการ โดยนักขุดจะส่งสัญญาณบอกว่าขนาดที่พวกเขาคิดว่าโอเคคือเท่าไร แล้วความต้องการของตลาดต้องการ transaction เร็วแค่ไหน ขนาดของบล็อกก็จะปรับไปมาเรื่อยๆจนเจอจุดตรงกลางที่พอดีว่า บล็อกมันต้องขนาดเท่านี้แหละ ทุกคนถึงแฮปปี้
แน่นอนว่าคอนเซปต์นี้ก็เป็น Hard Fork และอาจจะเป็นแค่เอาการทำบล็อกให้ใหญ่แบบโนลิมิตมาปรับแต่งคำพูดให้สวยหรู แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขนาดบล็อกมันก็ทำให้ทุกอย่างมันเร็วขึ้นจริง แต่ถ้าจะเพิ่มแล้วกลายเป็นคนเพียงกลุ่มเดียวคือนักขุดขึ้นมาเป็นใหญ่แล้วล่ะก็ มันอาจจะไม่คุ้มกัน
สงครามกลางเมืองของบิทคอยน์
ภาพด้านบนคือ โพลจากเว็บ Coin Dance ที่บ่งบอกว่า มี Pool ไหนของนักขุด สนับสนุนคอนเซปต์ไหนบ้าง จะเห็นว่าการเพิ่มขนาดบล็อกนำโด่งแซง SegWit มา เพราะนักขุดอยากได้บล็อกที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้เงินจากการขุดที่มากขึ้น อีกทั้งผู้นำเสนอคอนเซปต์การขยายขยาดนั้น มาจากเว็บ Bitcoin.com ที่ตั้งชื่อแอ๊บเนียนให้เหมือน Bitcoin.org ที่เป็นเว็บของบิทคอยน์จริงๆ และกลุ่มผู้นำเสนอคอนเซปต์ก็ยังเป็นนักขุดกันเองด้วยซ้ำ
ส่วนภาพด้านบนคือโพลของฝั่ง node หรือฝั่งผู้ใช้งานบิทคอยน์ที่ไม่ใช่คนขุด จะเห็นว่าความเห็นของพวกเขานั้น เทไปทาง Core ซึ่งก็คือฝั่งทีมงาน Bitcoin Core ที่เป็นผู้พัฒนา SegWit ดูเหมือน พวกเขาจะกลัว Hard Fork จาก Bitcoin Unlimited จะมาทำลายสมดุลแห่งบล็อกเชนลง และทำให้เป้าหมายของบิทคอยน์มันเปลี่ยนแปลงไป ถึงขั้นเสี่ยงต่อการทำให้มูลค่าของบิทคอยน์ตกลงได้อีก พวกเขาจึงเชื่อมั่นใน SegWit ที่เป็น Soft Fork มากกว่า ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าไม่คิดจะเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนแล้วต้องมั่นใจว่ามันถูกต้อง
ทั้งสองกลุ่มนี้ มีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ต่างคนต่างมีพื้นฐานการตัดสินใจในมุมมองที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นที่จะต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียของทุกๆทางเลือกที่มี และเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้บิทคอยน์และบล็อกเชนเดินหน้าไปต่อ
แล้วเราต้องทำอย่างไรเพื่อรับมือกับผลลัพธ์ของสงครามนี้
ณ ตอนนี้ เราคงทำได้แต่อยู่เฉยๆ ต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เมื่อ SegWit มาถึงในวันที่ 1 สิงหาคม และเราคงได้แต่คาดเดาว่าถ้า Bitcoin Unlimited เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบมากแค่ไหนกับราคาและความมั่นคงของบิทคอยน์ ถ้าอยากทำอะไรสักอย่าง คงเป็นการแสดงจุดยืนของตัวเอง ว่าจะอยู่ฝั่ง Core หรือฝั่ง Unlimited
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น