<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

การซื้อขายเหรียญ Bitcoin บนตลาดอนุพันธ์คืออะไร

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

“หนี้คือทาสของการเป็นอิสระ”

– Publilius Syrus

หากจะกล่าวถึงสิ่งที่มนุษย์ในปัจจุบันไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ก็คือการเป็นหนี้ ทุกๆวันนี้อาจพูดได้ว่าไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นหนี้มาก่อน การเป็นหนี้นั้นถือเป็นเรื่องที่หลายๆคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นอะไรที่ยอมรับกันไปได้แล้ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการเป็นหนี้นั้นก็คงจะหนีไม่พ้นความโลภที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต, หนี้พนันบอล, หนี้จากการยืมเงินเพื่อน, หนี้เงินกู้บ้านหรือคอนโดฯ และหนี้อื่นๆอีกมากมาย ทว่ายังมีหนี้อีกหนึ่งชนิดที่หลายๆคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับมัน ซึ่งเป็นหนี้ชนิดที่นักลงทุนส่วนใหญ่เสพย์ติดในหนี้ชนิดนี้ นั่นก็คือหนี้บนตลาดตราสารอนุพันธ์

ก่อนที่จะพูดถึงตราสารอนุพันธ์นั้นเราอาจจะต้องย้อนไปคุยเรื่องการแลกเปลี่ยนซื้อขายแบบพื้นฐานก่อน เมื่อประมาณหลายพันปีก่อนที่จะมีเงินตราเกิดขึ้นมานั้น ผู้คนแลกเปลี่ยนซื้อขายกันด้วยวิธีการ “ของแลกของ” กล่าวคือหากคุณต้องการจะซื้อวัวหนึ่งตัวจากเพื่อนบ้าน คุณอาจจะต้องนำเอาข้าวสิบเกวียนหรือสิ่งของที่เท่าเทียมมาแลกมัน แต่กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและการตกลงของทั้งสองฝ่ายในยุคสมัยที่ตัวเลขของราคานั้นยังไม่เกิดขึ้นมา

การแลกเปลี่ยนนั้นก็ได้ถูกวิวัฒนาการมาเรื่อยๆจะกระทั่งมีการสร้างเงินตราขึ้นมากำหนดค่าความเป็นสากลให้กับมัน ซึ่งผู้กำหนดค่าก็คือรัฐบาลที่มีการนำสิ่งของที่ไม่สามารถหามาได้ง่ายๆอย่างเช่นทองคำมาเป็นตัวแบ็คมันไว้ อย่างไรก็ตามในโลกของ Cryptocurrency นั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครมาเป็นผู้กำหนดค่ามันแบบโดยตรง และไม่มีการนำแร่ธาตุอะไรก็แล้วแต่มาแบ็คมันไว้ หากแต่เป็นเทคโนโลยี, ความเชื่อมัน และความสามารถในการใช้งานหลักๆของมันที่เป็นบรรทัดฐานทำให้ผู้คนให้ค่ามันขึ้นมา

การเป็นหนี้นั้นเกิดขึ้นมาจากการที่คนบางกลุ่มเสาะแสวงหาวิธีการสร้างรายได้โดยการให้บุคคลหนึ่งทำการ “กู้ยืม” สินทรัพย์ของเขา และทำการคิดดอกเบี้ย ซึ่งในศาสนาอิสลามนั้นถึงกับมีการห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมคิดดอกเบี้ย ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านเรียกมันว่า “ริบา” ที่มีการจำกัดความมันไว้ว่า

“ริบาเป็นการกินทรัพย์สินของเพื่อนมนุษย์โดยมิชอบ ทำให้การหารายได้ การทำธุรกิจ และการผลิตที่มนุษย์มีความต้องการเกิดการชะงักงัน ผู้ที่รับดอกเบี้ยทรัพย์ของเขาเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ทำให้เขาละทิ้งการทำธุรกิจ และการทำประโยชน์ที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จากมัน จุดจบของผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับริบาทุกคนคือความถดถอยของทรัพย์สินเงินทอง”

การซื้อขายแบบตราสารอนุพันธ์

หากจะอธิบายแบบง่ายๆ การแลกเปลี่ยนบนตลาดตราสารอนุพันธ์ก็คือ

ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่จะซื้อหรือขายสินค้าในราคา ปริมาณ และเงื่อนไขอื่นที่ตกลงกันไว้ โดยจะทำการส่งมอบสินค้ากันในอนาคต ทั้งนี้ มูลค่าของอนุพันธ์ขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าที่ตกลงซื้อขาย หากมูลค่าของสินค้านั้นเปลี่ยนแปลงไป อนุพันธ์ก็จะมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยดีกับการซื้อขาย Bitcoin บนตลาดแลกเปลี่ยน Bx ที่เราทำการซื้อขายกันโดยใช้เงินบาทและ BTC ซึ่งการแลกเปลี่ยนแบบนั้น ในภาษาทางการเราจะเรียกมันว่า Spot trading ในขณะที่ถ้าหากคุณเข้าไปที่เว็บ Okex หรือ Bitfinex นั้น พวกเขาจะมีบริการที่เรียกว่า Derivatives หรือตราสารอนุพันธ์นั่นเอง

แล้วมันทำงานอย่างไรล่ะ?

ตราสารอนุพันธ์นั้น ในตอนแรกเริ่มเดิมทีมันถูกออกแบบขึ้นมาบนแนวคิดสำหรับการป้องการความเสี่ยงหรือ hedge เนื่องจากความพิเศษของมันคือความสามารถในการซื้อขายทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลงของราคา โดยนั่นหมายถึงผู้ที่ทำการซื้อขายบนตลาด spot trading นั้นสามารถที่จะใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้นั่นเอง

ประเภทของตราสารอนุพันธ์นั้นมีหลายแบบ แต่ในปัจจุบันตราสารอนุพันธ์ที่เป็นที่นิยมในตลาดเหรียญ​ cryptocurrency มีอยู่แบบเดียว นั่นก็คือตลาด Futures


สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures contract)

การซื้อขายแบบนี้เป็นแบบที่นิยมในวงการ cryptocurrency มากที่สุด ตลาดการซื้อขายดังกล่าวเป็นการซื้อขายสัญญาซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคล หรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่าจะมีการซื้อขายสินทรัพย์ (ซึ่งในที่นี้ก็คือเหรียญคริปโตอย่าง Bitcoin หรือ Litecoin) ในอนาคต โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ ดังนั้นภาระของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาทำการส่งมอบในอนาคต และฝ่ายผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต

ลองจินตนาการคุณมี Bitcoin อยู่ 1 BTC โดยทางเว็บ Okex (หนึ่งในตลาดผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Bitcoin Futures) บอกว่าคุณสามารถที่จะซื้อ “สัญญาซื้อขาย” ได้ในราคา 1 สัญญาต่อ 100 ดอลลาร์ สมมติว่าราคา 1 Bitcoin อยู่ที่ 100 ดอลลาร์ นั่นแปลว่าคุณจะต้องใช้ 1 BTC ซึ่งจะซื้อได้ 1 สัญญา

แต่ด้วยความที่ตลาดอนุพันธ์เป็นตลาดที่ถูกออกแบบมาเพื่อ hedge นั่นหมายความว่าคุณจะถูกบังคับให้กู้ยืมเงินของทาง Okex มาใช้ในการซื้อสัญญา เพราะอะไร?

สมมติว่าคุณมีเงิน 200 ดอลลาร์ และทำการซื้อ Bitcoin บนตลาด spot trading ที่มีราคา 100 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC มา 2 Bitcoin และคุณกลัวว่าราคาของ Bitcoin นั้นจะลดลงในอนาคต คุณจึงต้องเข้าหาตลาด Futures โดยทางตลาด Okex บอกคุณว่า คุณสามารถที่จะ “ยืม Bitcoin ของทาง Okex มาขายก่อน และซื้อคืนให้พวกเขาทีหลัง”​ เพื่อป้องกันความเสี่ยง

ฟังดูงงๆใช่มั้ยล่ะ? ลองมาคำนวณด้วยตัวเลขกันดู สมมติว่าราคาของ Bitcoin นั้นตกลงมาจาก 100 ดอลลาร์เหลือ 90 ดอลลาร์ นั่นแปลว่าคุณจะขาดทุนไป 20 ดอลลาร์จาก 2 BTC ที่คุณซื้อมาเมื่อสักครู่นี้ แต่ทาง Okex บอกว่าคุณสามารถที่จะเปิด Short position (การขายสัญญาเพราะคิดว่าราคาจะลง) เพื่อป้องกันความเสี่ยงกับเงินจำนวน 20 ดอลลาร์ที่คุณจะต้องเสียไป ซึ่งการเปิด short position ดังกล่าวนั้นคือการ

“ขอยืม Bitcoin ของ Okex มาขายก่อน แล้วสัญญาว่าจะซื้อคืนให้ทีหลัง”

นั่นเอง โดยเงื่อนไขคือคุณสามารถที่จะยืมได้โดยคิดจาก margin ของ Bitcoin หรือทุนที่คุณมีอยู่บน portfolio ของคุณ โดยเว็บผู้ให้แลกเปลี่ยนแต่ละที่ก็จะมีการกำหนดขนาดของการให้ยืม (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าการ leverage) แตกต่างกันไป ในกรณีของ Okex นั้นจะอยู่ที่ 10 เท่าและ 20 เท่า ซึ่งผู้ซื้อขายสามารถที่จะเลือกได้

ลองจินตนาการต่อ ถ้าหากคุณเลือก 20 เท่า นั่นหมายความว่าคุณจะมีกำลังซื้อ Bitcoin สูงสุดได้ 200×20 = 4,000 BTC (สมมติอยู่ที่ราคา BTC ละ 100 ดอลลาร์) หรือหากคิดเป็นจำนวนสัญญาก็จะอยู่ที่ 40 สัญญา แต่นั่นก็ย่อมหมายถึงการค้ำประกันด้วย 2 Bitcoin ที่คุณมี

ทีนี้เราลองมาดูกัน ถ้าหากสมมติว่าคุณทำการเปิด short position ด้วย Bitcoin จำนวน 2 BTC และ leverage อยู่ที่ 20 เท่า และหลังจากนั้นราคา Bitcoin ได้ร่วงลงมาอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ แต่แทนที่คุณจะเสียเงิน 20 ดอลลาร์ คุณกลับมีเงินเพิ่มขึ้นมา 399.99 ดอลลาร์ เพราะอะไร?

เพราะในเหตุการณ์ดังกล่าวหมายความว่าคุณยืม Bitcoin ของ Okex จำนวน 4,000 BTC มาขายที่ราคา 100 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้แล้ว และถือเงินดอลลาร์ไว้ 400,000 ดอลลาร์ ภายหลังราคาของ Bitcoin ลดลงมาอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ คุณทำการปิด short postion โดยเป็นการซื้อ Bitcoin คืน Okex ทั้งหมด 4,000 Bitcoin เท่าเดิมและเก็บส่วนต่างไว้ 399.99 ดอลลาร์ (หรือ 4.4444 BTC ตามรูปภาพด้านล่าง)

ทว่าด้วยความที่มันเป็นตลาด Future นั้น การซื้อและขายสัญญาย่อมมีวันสิ้นสุด (ไม่ต่างจากการยืมเงินนั้นย่อมมีวันกำหนดคืน) โดยส่วนใหญ่นั้น ตลาด Future ของเหรียญ cryptocurrency จะมีกำหนดระยะเวลาให้เลือกวันสิ้นสุดอยู่ที่ 1 วัน, 7 วัน และ 2 เดือน แตกต่างกันไปตามแต่ละที่ๆให้บริการ ซึ่งถ้าหากครบกำหนดวันแล้ว คุณจะต้องปิด position ที่คุณถืออยู่ โดยทางเว็บจะบังคับปิดโดยอัตโนมัติแม้คุณจะไม่ยอมก็ตาม



คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าคุณขาดทุนล่ะ? ลองเอาตัวอย่างเมื่อกี้นี้มายกให้ดูให้เห็นในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าคุณเปิด short position แบบเมื่อกี้แล้วราคาของ Bitcoin พุ่งขึ้นไปที่ 103 ดอลลาร์ นั่นแปลว่าคุณจะขาดทุนไปทั้งหมด 120 ดอลลาร์ เพราะว่าการยืม Bitcoin มาขายที่ราคา 100 ดอลลาร์ของคุณล้มเหลว เนื่องจากราคามันได้พุ่งไปแล้ว ทำให้คุณต้องซื้อ Bitcoin กลับมาคืน Okex ในราคาที่แพงกว่านั่นเอง

แล้วถ้าหากว่าคุณหมดตัวล่ะ? ข่าวดีก็คือทาง Okex จะมีการ liquidate (หรือพูดง่ายๆคือการบังคับปิด position ทั้งๆที่ยังขาดทุน) นักเทรดที่มีสภาพเป็นการขาดทุนมากเกินกว่าที่ margin จะกำหนดไว้ ซึ่งในที่นี่คือที่ราคา 104.21 ดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ทางนักเทรดเป็นหนี้เกินกว่าที่จะจ่ายคืนให้กับทาง Okex ได้ หรือในคำศัพท์ที่เรียกกันในหมู่นักลงทุนว่า Margin call นั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้วคุณอาจจะไม่จำเป็น leverage ให้เต็มที่กับ Bitcoin ที่คุณมีทั้งหมด

การใช้ตราสารอนุพันธ์นั้นก็เปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้เป็นก็จะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด แต่หากใช้ไม่เป็น ซื้อขายจนเหมือนกับการพนัน คุณก็อาจจะหมดตัวเอาได้ง่าย สำคัญที่สุดก็คือการบริหารความเสี่ยงที่ทางผู้ลงทุนต้องทำให้เป็น และไม่ควรลงทุนมากกว่าที่ตัวเองจะเสียได้นั่นเอง

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น