ด้วยกระแสเทคโนโลยี Blockchain อันร้อนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า ปัจจุบันได้มีการประยุกต์หลักการของ Decentralize ใช้ในแทบจะทุกอุตสาหกรรมเลย แต่คำถามคือ การที่เรา Decentralized ทุก ๆ อย่างเป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่
Decentralization ตัดคนกลางออกจากระบบ
การประยุกต์ใช้ Blockchain สามารถกำจัดปัญหาเรื่อง Trust ตัวกลางออกไปได้ทำให้อำนาจทั้งหมดของทั้งระบบไม่ไปรวมที่คนหรือกลุ่มเดียว และกระจายกลับสู่ทุก ๆ คนในเครือข่ายได้ ทุกคนในเครือข่ายสามารถทำกิจกรรมที่ปกติต้องอาศัยตัวกลางได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำธุรกรรมออนไลน์ ที่ปกติต้องมีธนาคารเป็นคนกลาง
ระบบแบบ Decentralized ดีจริง ๆ หรือไม่
ในทางทฤษฎี การ Decentralize นั้นดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบนั้นทุกด้าน ด้วยความที่ อำนาจการตัดสินใจถูกกระจายไปให้ผู้ใช้เครือข่ายทุก ๆ คน เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ทุกๆคนในเครือข่ายนั้นมีความคิดยังไง ทิศทางที่คนกลุ่มมากกำลังตัดสินใจนั้นเป็นไปตามที่ควรจะเป็น หรือสามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้จริง หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การ Hard Fork ของ Bitcoin Cash ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความเห็นที่ไม่ตรงกันในการพัฒนาต่อยอด ทำให้เหรียญแตกย่อยออกมาเพิ่ม แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งท้ายที่สุดการตัดสินใจนั้นก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง ความช้าในการทำธุรกรรมที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นอยู่ดี ทุก ๆ คนที่เคยทำธุรกรรมออนไลน์ด้วย Bitcoin จะทราบเป็นอย่างดีว่า เมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้นมันมีค่าธรรมเนียมที่สูง และระยะเวลาการธุรกรรมที่นานกว่า การทำธุรกรรมออนไลน์แบบปกติซะอีก
สิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนมากับการกระจายอำนาจ ก็คือความเร็วในการทำสิ่งต่าง ๆ ภายในเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น เว็บเทรดคริปโตแบบ Decentralized ถึงแม้ว่า โดยทางเทคนิคแล้วจะไม่สามารถโดนแฮ็คได้ แต่ว่าข้อเสียที่ร้ายแรงของมันคือ ในปัจจุบันเว็บเทรดแบบ Decentralized ทำงานช้ากว่าเว็บเทรดปกติเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถเทรดได้ตามต้องการ ซึ่งแทบจะทำให้ผู้ใช้หมดความสนใจในการใช้ไปเลยทีเดียว ใครที่เคยใช้บริการของเว็บเทรดแบบ Decentralized จะทราบดีว่าช่วงที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันเยอะๆ เว็บจะค้างไปเลยเนื่องจากการทำงานของมันก็ยังเจอปัญหาเรื่อง Scaling เช่นเดียวกันกับคริปโตส่วนใหญ่
นอกเหลือจากนี้การ Decentralize จำเป็นต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นในการสร้างระบบเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เครือข่าย Bitcoin จำเป็นต้องมีเครื่องขุด Bitcoin เพื่อให้ระบบดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเครื่องขุด Bitcoin ในปัจจุบันมีราคาหลักหมื่น ถึงแสนบาท ถ้าเกิดลองเอาราคาของเครื่องขุดทั้งเครือข่ายมารวมกัน ต้นทุนในการสร้างเครือข่าย Bitcoin ในปัจจุบันจะมีมูลค่าเท่าไร นี่ยังไม่รวมถึงค่าไฟ และค่าบำรุง ที่เครื่องขุดเหล่านั้นล้วนจำเป็น
นี่คือหนึ่งใน ตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ว่า ระบบ Decentralized นั้นมีข้อเสียอยู่เช่นเดียวกัน
Decentralized VS Centralized
และแน่นอนว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้น ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นจะ Decentralized เสมอไป คริปโตบางตัวก็ทำงานอยู่บนระบบ Blockchain แต่ว่าระบบของมันอยู่ในรูปแบบของ Centralized ซึ่งปัจจุบันมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ต่ำ และ ใช้เวลาในการทำธุรกรรมน้อยว่าคริปโตบางตัวที่ Decentralized ด้วยซ้ำ
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา อดีตผู้ก่อตั้ง coins.co.th กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า:
“สิ่งที่บอกว่าจะใช้ระบบแบบ Decentralized หรือ Centralized คือ ความเชื่อใจที่ทุกคนในเครือข่ายมีให้กับผู้คุมที่เครือข่ายอยู่ หรือ Admin ถ้าเกิดทุก ๆ คนเชื่อใจ การใช้ Blockchain แบบ Private ก็ยังส่งผลดีต่อเครือข่ายถึงแม้ว่ายังอยู่ในรูปแบบของ Centralize อยู่แต่ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพของเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะ ต้นทุนจากการ sync ข้อมูลของเครือข่ายที่ลดลง และการสื่อสารระหว่างคนในเครือข่ายที่รวดเร็วยิ่งขึ้น”
โดยภาพรวมแล้ว การ Decentralize นั้นไม่ได้จำเป็นทุกกรณีเสมอไป เพราะว่ายังมีข้อเสียด้านการ Scaling ที่แก้ไขได้ยากอยู่ แต่เป็นที่เชื่อว่าในอนาคตการ Decentralize จะเป็นคำตอบสำหรับเครือข่ายส่วนใหญ่เนื่องจาก ความสามารถที่กำจัดตัวกลางของระบบ และ การคืนอำนาจสู่ทุกคนในเครือข่าย แต่ไม่แน่การผสมผสานกันระหว่างทั้งคู่อาจจะทำให้เกิดระบบที่ดีที่สุดก็เป็นได้ อย่างเช่น Lightning Network ที่ Bitcoin กำลังจะทำให้มันเกิดขึ้นอยู่ก็เป็นได้
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น