<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

วิเคราะห์พรก. การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล อาจมีข้อดีมากกว่าที่คิด

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในที่สุด Bitcoin ก็ถูกกฎหมายในประเทศไทยเสียที

หลังจากข่าวเรื่องการเก็บภาษีคริปโตและทรัพย์สินดิจิทัลที่ออกมาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2018 นั้น ทำให้ผู้คนในวงการคริปโตต่างออกมาวิพากษณ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ใดที่มีกำไรจากคริปโตนั้น จำเป็นต้องเสียภาษี 15 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งอาจเป็นเรื่องธรรมดาที่กฎหมายใหม่นั้น จะทำให้ผู้คนต้องพบกับความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ  โดยนอกจากกฎหมายด้านภาษี ยังมีพรก. เกี่ยวกับการประกอบธรุกิจทรัพย์สินดิจิทัลที่หลาย ๆ คนกำลังมองข้ามไป วันนี้ทาง Siam Blockchain จะมาวิเคราะห์ว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบกับใคร และ อย่างไรบ้าง

ขั้นแรกต้องมาจำแนกและแยกแยะกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เร็นซี่ในประเทศไทยเสียก่อน

นักเทรด & นักขุด

หากอ้างอิงจากพระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) มาตรา 4 ข้อ ฉ:

“ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คํานวณหักในอัตรา ร้อยละ 15 ของเงินได้”

บุคคลดังกล่าวที่มีโดนกระทบคือนักเทรดและนักขุดคริปโต ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยคือ พวกเขาเหล่านี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่มากขึ้น อาจส่งผลให้นักขุดและนักเทรดเลือกที่จะไม่ขายคริปโตที่ได้กำไรมานั้นเป็นเงินบาทและถอนผ่านเว็บเทรดในไทย และหันไปเทรดที่เว็บต่างประเทศแทนซึ่งทำให้เว็บเทรดในไทยนั้นมีสภาพคล่องที่ลดลง

นายหน้า และ เว็บซื้อขายคริปโต

ข้อกฎหมายที่ออกมานั้นยังครอบคลุมไปถึงนายหน้า และเว็บซื้อขายคริปโต โดยอ้างอิงจากมาตรา 30 หมวดที่ 4:

“การให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัล (ตลาดรอง) เช่น ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า ผู้ค้า สินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องได้รับการกำกับอนุญาตจากรัฐมนตรีการคลัง, กรรมการและผู้บริหารไม่มีลักษณะต้องห้าม, มีมาตราฐานตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น แหล่งเงินทุนเพียงพอ, ความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงจากการโจรกรรม, การรู้จัก & ตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงลูกค้า และ มีมาตราการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ ฟอกเงิน”

และอ้างอิงจาก มาตรา ๑๐๐:

“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่ พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับและเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพระราชกําหนดนี้ หากจะดําเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคําขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกําหนดนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกําหนดนี้ มีผลใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคําขออนุญาตแล้ว ให้ดําเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าจะมีคําสั่งไม่อนุญาต”

การที่พวกเขาเหล่านั้นมาขออนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้มีกำแพงและต้นทุนทั้งในด้านเวลาและความยุ่งยากที่มากขึ้น รวมทั้งมีรายได้ที่น้อยลงด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินการที่มากขึ้น ทั้งในเรื่องการวิ่งเรื่องขออนุมัติ การเจรจา การตรวจสอบ และวางระบบในการหักภาษีสำหรับผู้ใช้งาน และรายได้ของเว็บเทรดนั้นมาจากค่าธรรมเนียมในการเทรดและการถอน ซึ่งเมื่อกฎหมายนี้ถูกใช้งาน ผู้ใช้ก็จะอยากถอนเงินบาทน้อยลง และหันไปใช้เว็บเทรดของต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้มีสภาพคล่องน้อยลง ผู้ใช้ทำการเทรดได้ยากขึ้น รายได้ของเว็บเทรดลดน้อยลง ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้เว็บเทรดคริปโตในไทยบางเว็บต้องปิดตัวลง และมีเว็บใหม่ ๆ เกิดขึ้นน้อยลง จนเหลือเพียงไม่กี่เว็บหลัก ๆ ทำให้มีการผูกขาดของเว็บเทรดคริปโตมากขึ้น มีการแข่งขันกันน้อยลง และผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้รับประโยชน์ที่น้อยลง

บุคคล, บริษัท, สตาร์ทอัพที่ต้องการระดมทุน ICO

หากอ้างอิงจากมาตราที่ 17 หมวดที่ 3 บุคคลธรรมดาไม่สามารถเป็นนายหน้าในการให้บริการซื้อขายคริปโตได้อีกต่อไป โดยรายละเอียดของมาตราดังกล่าวนั้นมีอยู่ว่า:

“ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน ผู้ออกโทเคนดิจิทัลที่ประสงค์จะเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต. และให้กระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทษัทมหาชนจำกัด และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคน”

กล่าวคือสตาร์ทอัพที่มีไอเดียและต้องการเงินระดมทุนผ่านช่องทาง ICO จะต้องไปจดเป็นบริษัทเสียก่อน ซึ่งนั่นจะเพิ่มต้นทุนและความยุ่งยากของพวกเขาอีกเช่นกัน เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มคนที่มีไอเดีย และความตั้งใจเดียวกัน และมีความสามารถที่จะทำสิ่งที่พวกเขาวาดฝันไว้ให้เป็นจริง ขาดเพียงแต่เงินระดมทุน พรก. นี้อาจส่งผลให้มี ICO ดี ๆ ในไทยนั้นเกิดขึ้นน้อยลง พวกเขาอาจจะไประดมทุนที่ต่างประเทศที่มีกฎหมายที่เข้มงวดน้อยกว่า ชื่อเสียงและผลประโยชน์ที่จะได้นั้นก็จะไปตกอยู่กับประเทศอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีเลยกับวงการคริปโตในไทย

ข้อดีที่ตามมา

แต่ก็ใช่ว่ากฎหมายเหล่านี้ จะมีแต่ข้อเสียตามมาเท่านั้น จริง ๆ แล้วมันมีข้อดีแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน หากอ้างอิงจากมาตราที่ 3 จากพรก. ดังกล่าว จะเห็นว่าในนั้นมีการนิยามคำจำกัดความของคริปโทเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrencies), โทเคนดิจิทัล และทรัพย์สินดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้ว หลังจากที่อยู่ในพื้นที่สีเทามานาน กล่าวว่า:

” “คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือ เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด

“โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) กําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ

(2) กําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กําหนด ในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด

“สินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล” “

เราสามารถมั่นใจได้ในระดับนึงแล้วว่าสิ่งที่พวกเราเทรด, ขุด หรือลงทุนอยู่นั้นจะผิดกฎหมาย และแน่นอนว่าการที่บางสิ่งถูกกฎหมายนั้น ย่อมแปลว่าผู้ใช้งานจะได้รับการคุ้มครองจากทางกฎหมายด้วย เช่น ห้ามมิให้เผยแพร่ข้อมูลการวิเคราะห์ที่เป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วนสำหรับทรัพย์สินและโทเคนดิจิทัล หรือมีการดูแลควบคุมตรวจสอบผู้ที่จะมาเปิดเว็บเทรดคริปโต และ ICO เพื่อป้องกันนักต้มตุ๋นเป็นต้น และทำให้มั่นใจได้ระดับนึงว่านักลงทุนและผู้ใช้งานจะได้รับการคุ้มครอง มีอะไรมารองรับ ตรวจสอบที่มาที่ไปได้

และแน่นอนว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ทำให้นักต้มตุ๋นหลอกเงินจากนักลงทุนและผู้ใช้งานได้ยากยิ่งขึ้น เช่น เสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝ่าฝืนหรือไม่ได้รับอนุญาตจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดทซึ่งผู้นั้นได้ขอเสนอขาย แต่ทั้งนี้เงินค่าปรับ ต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ, เสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยฝาฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการปรับไม่เกิน 500,000 และปรับไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฎิบัติให้ถูกต้อง หรือ การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมิได้รับอนุญาต จำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 ถึง 5 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ เป็นต้น

ในตอนนี้เหมือนทางกลต. จะเห็นว่าทรัพย์สินดิจิทัล, คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล นั้นเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้ว คาดว่าการออกพรก. ดังกล่าวน่าจะเป็นแค่กฎหมายนำร่องมาควบคุม ก่อนที่จะออกนโยบาย หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่จะมาส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศของเรานั้นไม่ตกรถขบวนนี้ เช่น การจัดงาน Expo หรือศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนและคนไทย ทำให้วงการคริปโตในไทยอาจมีเงินไหลเวียนอัดฉีดเข้ามามากขึ้น จากนักลงทุนรายใหญ่ที่เริ่มมีความเชื่อใจหลังจากที่รัฐบาลรับรองและการยอมรับที่มากขึ้น ไม่ได้ถูกมองว่ามันเป็นแค่ธุรกิจเครือข่าย หลอกลวง ไม่มีอยู่จริง สอดคล้องกับเหตุผลที่กำหนดให้มีการกำกับควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล โดยอ้างอิงจากพรก. ว่า :

“เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน อันจะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมีเครื่องมือในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมทั้งประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ”

ความคิดเห็นส่วนตัว

โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า การเก็บภาษีและการออกกฎหมายควบคุมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะจะทำให้คริปโตและทรัพย์สินดิจิทัลเหล่านี้ถูกกฎหมาย และได้รับการเข้าใจและการยอมรับในวงที่กว้างขึ้น แต่ว่าจำนวนภาษีนั้นอาจจะมากเกินไปซักหน่อย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ใช้งานหาวิธีเลี่ยงภาษีแทนการที่จะจ่ายให้ถูกกฎหมาย อาจจะลดลงเหลือซัก 8 เปอร์เซ็นต์ กำลังดี เนื่องจากเราก็ได้รับประโยชน์ การสอดส่องคุ้มครองจากทางรัฐบาลเช่นกัน นอกจากนี้หากนำไปเทียบกับตลาดหุ้นที่จัดว่าเป็น Capital เช่นเดียวกัน นักเทรดหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่จำเป็นต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้มาจากการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแถลงการณ์ที่แน่ชัดออกมาจากระดานเทรดต่าง ๆ ว่าหากผู้ใช้ถอนเงินบาทนั้น พวกเขาจะมีนโยบายอย่างไรต่ตอพรก. ดังกล่าว รวมทั้งพรก. นั้นก็อาจมีสิทธิปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตตามความเหมาะสมเช่นกัน ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น