การทำงานในสายงานคริปโตเคอร์เรนซีเป็นอย่างไร จะมีใครอยากรู้เรื่องนี้บ้างหรือไม่? ทางสยามบล็อกเชนเห็นว่าน่าสนใจจึงได้ทำสัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อเรื่อง “A day in a life” ชีวิตประจำวันของผู้ที่มีสายอาชีพด้านคริปโตเป็นอย่างไร มาดูกัน
นักวิศวกรรมซอฟต์แวร์สู่เจ้าของบริษัทของตัวเอง
ทีมงานสยามบล็อกเชนได้มีการสัมภาษณ์ไปยังนายวรชาติ พิรุณรักษ์ (ต้า) ซึ่งในตอนนี้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสยาม อินเทลลิเจนซ์เทคโนโลยีและเปิดเพจเทรดได้กำไรดีสอนกลยุทธ์การเทรดที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกตลาด
คุณต้าจบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนเรศวรพิษณุโลกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เริ่มต้นชีวิตหลังจากเรียนจบเขาได้ทำงานกับบริษัทด้านซอฟต์แวร์ชื่อดัง CISCO ที่มาเลเซียระหว่างนั้นก็ได้รู้จักการขุดคริปโต (แต่จริงๆ เริ่มรู้จักตอนเรียนป.โท) ซึ่งเขาเผยว่าสมัยนั้นการขุด Bitcoin ทำได้ง่ายมาก
คุณต้าเคยทำโปรเจคด้านคริปโตมาแล้วคือดีตผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจค OM Token และ OM Chain แต่ปัจจุบันได้ขายหุ้นของบริษัทไปแล้ว คุณต้าได้เผยว่าเขานั้นเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มไอเดียของโปรเจคนี้ และอีกโปรเจคหนึ่งคือ Swaple.io ซึ่งก็ได้ขายหุ้นให้กับบริษัทไปพัฒนาต่อเช่นกัน
ปัจจุบันคุณต้านั่งแท่นกรรมการบริษัทที่สยาม อินเทลลิเจนซ์เทคโนโลยีซึ่งจะโฟกัสกับ software house เป็นหลัก
“ปัจจุบันเนี่ยเรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วสำหรับสยาม อินเทลลิเจนซ์ซึ่งทำหลายอย่างแต่โฟกัสกับการทำ software house ซึ่งก็คือการ develop specific software สำหรับตอบโจทย์ใครบางคน เช่น อยากได้แอปพลิเคชั่นสำหรับผู้สนใจด้านคริปโต ทำอย่างไรให้พวกเขาสนใจ โปรเจคหลาย ๆ อย่างทีมงานก็ได้ดีไซน์ UX/UI application […]”
โปรเจคด้าน Financial คุณต้าก็เขียนโปรแกรมเอง และตัวเขาเป็น Consult ที่ออกแบบกลยุทธ์การเทรดให้กับลูกค้า ซึ่งในตอนนี้ก็ได้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมีพอร์ตอยู่ภายใต้การจัดการของเขาก็ค่อนข้างเยอะ
นอกจากการเป็นเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์แล้วคุณต้ายังได้อธิบายถึงกลยุทธ์การเทรดของเขาด้วยว่าจะนำบอทมาใช้
ระบบเทรดมีการใช้บอทที่เป็นโปรแกรมที่ทางคุณต้าเขียนขึ้นมาเอง เป็นกลไกทางคณิตศาสตร์ซึ่งส่วนตัวเขามองว่ามันแม่นยำมากกว่าและไม่พลาดเพราะคำนวณไว้หมด
“ทุกวันนี้คนยังดูกราฟกันอยู่เลย แต่ของเราโรบอททำ เพราะคนมักมี Feeling ต้องตัด Feeling ทิ้งแล้วให้โรบอทเทรด”
“ถ้าตลาดไม่มี Fish พวกพี่ไม่มีเงิน” คุณต้ากล่าว เขามองว่าเม่าที่อยู่ในตลาดมีความสำคัญสำหรับการทำธุรกิจของเขามาก ๆ
ในตอนนี้บริษัทคุณต้ากำลังทำโปรเจคด้าน Blockchain ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อใช้โทเค็นใน Ecosystem ของบริษัท
ชีวิตใน 1 วันกับไลฟ์สไตล์ของนายต้า
หลังจากที่ได้ทราบเกี่ยวกับงานของคุณต้าแล้วทั้งการทำงานที่เป็นเจ้าของกิจการเองและเป็นนักพัฒนาเองรวมถึงเป็นเทรดเดอร์ด้วยแล้วจะมีเวลาพักผ่อนบ้างหรือไม่ ทีมงานสยามบล็อกเชนจึงสงสัยว่าคุณต้าเอาเวลาใน 1 วันไปทำอะไรบ้าง เพราะดูมีกิจกรรมเยอะเหลือเกิน ซึ่งคุณต้าก็ได้เล่าในกิจวัตรประจำวันของเขาให้ฟัง
เนื่องจากเขาเป็นเทรดเดอร์ด้วยฉะนั้นเวลานอนของคุณต้าจะช้าหน่อยคือช่วงตี 2 ถึงตี 4 เพราะเจ้ามืออยู่ฝั่งสหรัฐฯ เช่น Bakkt, Deribit, CME ช่วงดึก ๆ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่กราฟวิ่ง คุณต้าก็ต้องดูกราฟช่วงนี้ด้วย
ช่วงตื่นนอนก็จะเป็นช่วงประมาณ 10 โมง ตลาดหุ้นเปิด ตื่นมาดูหุ้นไทยแล้วก็จิบกาแฟ หลัก ๆ คุณต้าจะดู Data Base แล้วส่งรายงานลูกค้า
คุณต้าส่วนตัวไม่ชอบที่จะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ตัวเขาชอบออกไปนั่งคาเฟ่หรือร้านชิว ๆ ข้างนอกมากกว่า แต่กว่าจะมาได้ถึงวันนี้ก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกันเพราะลองผิดลองถูกมาเยอะ
สิ่งที่คุณต้าทำแล้วรีแล็กซ์ก็คือการเขียนโค้ดในช่วงเวลาว่าง
“มันเหมือนกับการ push yourself to another limit” เขากล่าว
นอกจากนี้เขายังชอบดูหนังฟังเพลง เปิดเพลงไปด้วยเขียนโค้ดไปด้วย และชอบจิบเบียร์ ชอบไปหาร้านเบียร์อร่อย ๆ
สมัยที่ตัวเขาอยู่อเมริกาก็ได้ไปหาร้านนั่งชิวจิบเบียร์ นั่งเขียนโค้ด เบียร์ที่ชอบมาก ๆ คือเบียร์ที่ทำจาก Hobs พอกลับมาไทยเวลานั่งทำงานมีตติ้งกันก็คือนั่งที่ร้านเบียร์ ในไทยร้านที่ชอบก็คือ Beer Republic, HOBS อีก Hobby อื่น ๆ ก็คือจิบไวน์
กิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำก็คือทำงานบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน และส่วนตัวชอบอยู่บ้าน
สิ่งสำคัญที่ทำให้คุณต้ามีวันนี้
กว่าคุณต้าจะมีวันนี้ได้ก็ไม่ได้ง่าย โดยเขาแนะนำว่าให้คนที่สนใจจะมาสายนี้ต้องอ่านเยอะ ๆ หาให้เจอว่าเราชอบอะไร เพราะหลาย ๆ คนมักจะถามทำไมถึงเลือก computer engineer ซึ่งส่วนตัวคุณต้ามีความชอบด้านนี้มาก ๆ แล้วพอชอบแล้วจะไม่รู้สึกเหนื่อยและสามารถใช้เวลากับมันได้ตลอดเวลา
“พยายามหาให้เจอว่าเราอยากได้อะไร”
“passive income ไม่มีจริง ต้อง active ก่อนเพื่อได้มาซึ่ง passive”
สุดท้ายนี้คุณต้าปิดท้ายว่าฝากให้เรียนรู้ วางแผน และเน้นความสำคัญของการดีไซน์อัลกอริทึม ระบบการคิดสำคัญที่สุด ช่วง Coding ไม่ได้สำคัญ ช่วง Thinking สำคัญกว่า
“พี่อยากได้คนที่เป็น problem solving คนที่ Coding ได้มีเยอะแต่คนที่คิดได้มีน้อย” เขากล่าว
ต้องขยันในสิ่งที่ตัวเองชอบถ้าไม่มีพรสวรรค์ต้องทำงานหนัก และคุณต้ามองว่าการมีทีมงานที่มีคุณภาพคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เราเติบโต คิดและลงมือทำ