เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา Dan M. Berkovitz กรรมาธิการแห่ง Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ได้แสดงความคิดเห็นว่าแพลตฟอร์ม DeFi อาจขัดกับกฎหมาย Commodity Exchange Act (CEA) ผ่านการอภิปราย “การเปลี่ยนแปลงและ DeFi ความท้าทายใหม่สำหรับ CFTC”
“ไม่เพียงแค่ตลาด DeFi ที่ไม่มีใบอนุญาตสำหรับตราสารอนุพันธ์แต่ผมคิดว่ามันยังอาจจะขัดกับกฎหมาย CEA ด้วย” Berkovitz กล่าว
Berkovitz ได้ตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมาย CEA กำหนดให้มีการซื้อขายสัญญา Futures ตามตลาดสัญญาที่กำหนด (DCM) ที่ได้รับอนุญาตและควบคุมโดย CFTC แต่เขาได้ยืนยันว่ายังไม่มีแพลตฟอร์ม DeFi แพลตฟอร์มไหนที่ลงทะเบียนเป็น DCMs หรือ SEFs เลย
ระหว่างการอภิปราย Berkovitz ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็น ที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องทำความคุ้นเคยกับอนุพันธ์และการใช้งานอื่น ๆ ของ DeFi ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคส่วนนี้ โดยเขาได้กล่าวถึงสภาพคล่องจำนวนมากที่เข้าสู่ตลาดในช่วงสิบสองเดือนที่ผ่านมา ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อปกป้องนักลงทุน DeFi
“ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคส่วนนี้ หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางควรทำความเข้าใจเทคโนโลยีและการใช้งานที่เป็นไปได้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปกป้องประชาชนจากการนำไปใช้ในทางที่ผิด”
นอกจากนี้ Berkovitz ยังเตือนว่าการเกิดขึ้นของ DeFi อาจส่งผลต่อการแข่งขันกับหน่วยงานที่มีการควบคุม พร้อมกับโต้แย้งข้อเสนอจาก DeFi ที่ว่า การตัดคนกลางออกไปจะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าและความคุมการลงทุนได้มากกว่าระบบแบบดั้งเดิม
โดยเขาได้บอกว่าระบบธนาคาร, การแลกเปลี่ยนและระบบการเงินแบบดั้งเดิมนั้น ได้พัฒนารูปแบบการธนาคารและการเงินมานานกว่า 200 ถึง 300 ปี จนทำให้รูปแบบดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ
“เหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบการเงินของเราแข็งแกร่ง คือการคุ้มครองทางกฎหมายที่นักลงทุนจะได้ เมื่อพวกเขานำเงินไปลงทุนในตลาด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะลงทุนผ่านตัวกลาง” Berkovitz กล่าว
แต่ที่น่าสนใจก็คือ Berkovitz ได้อ้างอิงคำจัดความเกี่ยวกับ DeFi จากเว็บไซต์ Wikipedia รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าการค้นคว้าของเขาจะมาจากการค้นหาด้วย Google Search เพียงอย่างเดียว โดยหากพิมพ์ว่า “What is DeFi” คุณจะพบบทความจาก CoinDesk เป็นบทความแรก
Jacob Franek ผู้ร่วมก่อตั้ง Coin Metrics ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การค้นคว้าของกรรมาธิการ CFTC อย่างรวดเร็วว่า “คุณควรทำมากกว่าอ่านบทความจาก CoinDesk นะ”