หลังจากที่ Bitcoin ได้ทำราคาพุ่งขึ้นสูงและทำให้นักลงทุนในประเทศต่างสนใจในคริปโทเคอร์เรนซี่อย่างมากในปี 2021 ส่งผลกระดานเทรดคริปโตประเทศไทยได้ทำการโฆษณา crypto ไปอย่างกว้างขวางผ่านป้ายโฆษณา ไวนิล กิจกรรม หรือแม้แต่กระทั่งโฆษณาผ่านทางช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต่างเข้ามาลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไม่ขาดสายตลอดปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ พบประเด็นปัญหาจากการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหลายราย เช่น ไม่มีคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีหรือคำเตือนมีขนาดเล็กเกินไป ส่งผลให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการโดยยังไม่มีการกำกับดูแลการโฆษณาที่ชัดเจน และอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
ทำให้ ก.ล.ต. เสนอหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองผู้ซื้อขายและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ สเปน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการดังกล่าวมาใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ เช่น
- การโฆษณาต้องไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ ให้ระบุเฉพาะจำนวนลูกค้าที่ได้รับอนุมัติให้เปิดบัญชีและพร้อมใช้บริการได้แล้วเท่านั้น
- การโฆษณาต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม เช่น ระบุคำเตือนเรื่องความเสี่ยงตามข้อความและขนาดตัวอักษรตามที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยต้องมีความคมชัดและสังเกตได้ง่าย หากมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน ต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (balanced view) เป็นต้น
- การโฆษณาเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีให้ทำได้เฉพาะในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ห้ามโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่น ๆ
- ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมดูแลการโฆษณาของบริษัท บริษัทในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ เช่น ผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหารหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงผู้ทำโฆษณาและผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการในสังคมออนไลน์ (influencer) ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
- ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (Introducing Broker Agent: IBA) ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี โดยผู้ประกอบธุรกิจโทเคนดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ยังมีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าได้ตามเดิม
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ยังได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. โดยมีแบบรับฟังความคิดเห็นให้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected], [email protected] และ [email protected] จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2022