นอกจากความร้อนแรงของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีแล้ว การแข่งขันของธุรกิจศูนย์ซื้อขาย หรือกระดานเทรดก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน
เดิมในไทยมี ‘บิทคับ’ ( Bitkub) เป็นกระดานซื้อขายเบอร์ 1 แต่เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ ‘กัลฟ์’ (Gulf) ก็ประกาศจับมือกับกระดานเทรดเบอร์ 1 ของโลก ‘ไบแนนซ์’ ( Binance) เปิดให้บริการ Gulf Binance อย่างเป็นทางการ
ขณะที่กระดานเทรดคริปโตฯ แห่งแรกของไทยอย่าง ‘สตางค์’ ( Satang) วันนี้รีแบรนด์ใหม่เป็น ‘ออร์บิกซ์’ (Orbix) ภายใต้ร่มของธนาคารกสิกรไทย (KBank) พร้อมกลับมาแข่งขันแล้ว
‘ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์’ ประธานกรรมการ และ ‘ชาญวิทย์ รุ่งเรืองลดา’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จำกัด กล่าวถึงการกลับมาในครั้งนี้
จุดเด่น ‘เชื่อถือได้’ และ ‘ใช้งานง่าย’
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด Orbix กลับมั่นใจว่า บริษัทฯ จะสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้ โดยเฉพาะคนที่อาจจะยังไม่กล้าเข้ามาในตลาดคริปโตฯ ด้วยคุณค่าที่มอบให้แก่ลูกค้า (Value Proposition) ซึ่งอยู่บนหลัก ‘เชื่อถือได้’ (Trustworthy) และ ‘ใช้งานง่าย’ (Easy)
สำหรับ Trustworthy บริษัทฯ อยากเป็นกระดานเทรดที่มีความน่าเชื่อถือที่ลูกค้าเชื่อมั่น เพราะ Orbix อยู่ในธุรกิจการเงิน (เป็นลูกของ KBank) จึงเป็นภาพลักษณ์ที่น่าจะเหมาะกับบริษัทฯ
โดยบริษัทฯ เชื่อว่า ลูกค้าที่ต้องการ Trustworthy ยังมีอยู่ และเขาไม่ใช่กลุ่มคนแรก ๆ (Early Adopter) ที่มาในตลาดก่อนแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะไม้ใหญ่กว่า เงินเยอะหน่อย แต่แบ่งเงินจำนวนหนึ่งมาลงทุน เป็นกลุ่มคนที่มาใหม่ เป็นนักลงทุนระยะยาวหน่อย เป็นต้น
ส่วน Easy หมายถึง ประสบการณ์การใช้งาน ประสบการณ์การใช้บริการ ที่พยายามทำให้ใช้ง่าย ใช้แล้วไม่ติดขัด ซึ่งตอนนี้ได้นักออกแบบ UX/UI จากทาง Beacon Interface ในเครือ KBank เข้ามาช่วยดีไซน์ ซึ่งเป็นทีมเดียวที่ดีไซน์ให้โมบายแบงกิ้ง K Plus ของธนาคารกสิกรไทยด้วย
‘เชื่อว่ากลุ่มลูกค้าที่น่าจะสนใจในเรื่องของ Trustworthy กับ Easy น่าจะเป็นคนละกลุ่มกับลูกค้าที่ลงทุนในเจ้าตลาด โดยเท่าที่รีเสิร์ชมา ลูกค้าเป็นนักลงทุนอยู่แล้ว แต่ยังขาดความมั่นใจที่จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุน จะลงทุนกับใครดี’
ลูกค้ามั่นใจ ไม่ปิด ไม่หนี ไม่หาย
แน่นอนว่าเรื่องของการลงทุนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล นักลงทุนสามารถรับความผันผวนของราคาได้ ลงทุนกำไรมากหรือน้อย รับได้ แต่ความเสี่ยงที่รับไม่ได้คือ ผู้ให้บริการ (Operator/Service Provider) หายไป ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ลูกค้าจำนวนมากที่ไปเจอ ที่ยังไม่กล้าลงทุน ไม่ใช่ว่ารับความผันผวนของสินทรัพย์ไม่ได้ แต่ไม่มั่นใจว่า กำไรมีอยู่จริงหรือไม่ Operator จะหายหรือเปล่า ทำให้เขาลังเล
‘ที่บอกว่า รายได้เราจะเป็น 1 ใน 3 ไม่ได้แปลว่า เราจำเป็นต้องไปแย่งกับคนอื่น มันมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขารอจะเข้า (ตลาด) แต่อาจจะไม่ใช่ผู้รับความเสี่ยง (Risk Taker) หรือ Early Adopter แต่กำลังรอผู้ให้บริการที่ไว้ใจได้ (Trustable Service Provider)’
ลูกค้าอาจจะไม่ใช่คนเทรดไม้เล็ก ๆ ทุกวัน อย่างคนรวย หรือ Private Bank Customer คนเหล่านี้จะให้คุณค่า (Value) ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ เหมือนกับการซื้อเสื้อผ้า ลูกค้าจะซื้อที่ไหนก็ได้ ของก็ส่วนของ แต่ลูกค้าจะเลือกซื้อจากร้านไหน แน่นอนว่าต้องเลือกร้านที่ตอบโจทย์แต่ละคนที่แตกต่างกัน
ให้บริการด้วยเกรดเดียวกับธนาคาร
ปัจจุบัน Orbix อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่บังเอิญเป็นบริษัทลูกของธนาคาร (KBank) จึงอยู่ใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกทีหนึ่ง
สิ่งที่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ แปลว่า เราต้องยกระดับการกำกับดูแล กระบวนการทั้งหลาย ทุกอย่างเป็น Bank Grade มันจะมีหลายด้าน ทั้งกระบวนการด้านเทคโนโลยี กระบวนการดูแล ซึ่งพออยู่ใต้กำกับของ ธปท. มันจะเข้มข้นกว่า เราต้องยกระดับบริษัทล่วงหน้าก่อนเข้าซื้อพอสมควร เพื่อจะให้มั่นใจได้ว่า กระบวนการเหล่านี้เป็น Bank Grade
‘สิ่งนี้ลูกค้าไม่เห็นหรอก แต่เป็นสิ่งที่เราทำ เหมือนเวลาเราไปร้านอาหารในต่างประเทศ มันจะมีบางคนที่ดูว่า ร้านนี้มีการให้คะแนนความสะอาด A B C ซึ่งบางคนก็ดู บางคนก็ไม่ดู’
Orbix คงไม่สามารถเป็นทุก ๆ อย่างให้กับทุก ๆ คนได้ แต่บริษัทฯ เลือกเฉพาะคนที่เขาเป็นลูกค้า และต้องการสิ่งเหล่านี้ Orbix ก็ทำสิ่งนี้ให้ได้ดี และเชื่อว่าคนเหล่านี้กำลังค่อย ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น
ตั้งเป้าเป็นท็อป 3 ของประเทศไทย
ทั้ง 2 ประเมินว่า ด้วยศักยภาพที่มีจะช่วยให้บริษัทฯ ขึ้นมาเป็นท็อป 3 ของตลาดเว็บเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกมิติภายใน 3 ปีต่อจากนี้ จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 6 ทั้งในแง่ของฐานลูกค้า เอนเกจเมนต์ แบรนด์ดิ้ง วอลุ่มการซื้อขาย ฯลฯ ซึ่งในบางมิติ เชื่อว่าสามารถทำได้ดีกว่านั้น
ขณะที่เป้าหมายระยะสั้นในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 6 เท่า จากภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่คึกคัก โดยในปีที่ผ่านมา (2566) รายได้อยู่ที่ 20-26 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเติบโตแตะ 160-170 ล้านบาท
ในส่วนของยอดผู้ใช้งาน (User) คาดว่าจะเติบโต 10 เท่า (Daily Active User) จากฐานลูกค้าเดิมที่ลงทะเบียนกับบริษัทฯ อยู่แล้วราว 500,000 ราย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 10-15%
โดยรายได้มาจาก 2 ส่วน คือ ฐานลูกค้าเดิม โดยมีการกลับไป Re-engage กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ากลับมา Active กับบริษัทฯ อีกส่วนจะมาจากลูกค้าใหม่ ขณะที่ Daily Active User ปัจจุบันจะอยู่ที่ 500-600 รายต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายขยับขึ้นไปราว 5,000-6,000 ต่อวัน
ขณะที่วอลุ่มการซื้อขาย ในเดือน มี.ค.คาดว่าจะปิดเดือนที่ 2.3-2.5 เท่าก่อนเข้าซื้อกิจการ
ปัจจัยสนับสนุนตลาดคริปโตในปีนี้
สำหรับตลาดคริปโตฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ราคาเหรียญหลักอย่าง ‘บิตคอยน์’ ( Bitcoin) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยทำจุดพีกที่ราว 73,000 ดอลลาร์ หรือราว 2.6 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหนุนมาจาก
1. การอนุมัติกองทุนบิตคอยน์ ( Bitcoin Spot ETF) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เพราะการอนุมัติ ETF เปรียบเสมือนการเปิดประตูให้นักลงทุนในโลกเดิม เข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน ส่งผลให้มีการเก็งว่า จะมีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามามหาศาล หนุนให้ตลาดเติบโตขึ้น
2. ปรากฏการณ์การลดปริมาณบิตคอยน์ (Bitcoin Halving) ในเดือน เม.ย.นี้ ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในตลาด เพราะด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้มูลค่าบิตคอยน์เพิ่มขึ้น
3. ก.ล.ต.สหรัฐเตรียมอนุมัติกองทุนคริปโตฯ เหรียญอื่น ๆ ในช่วงไตรมาส 2 ที่จะถึงนี้ด้วย โดยคาดว่า เหรียญที่จะได้รับการอนุมัติ คือ อีเธอเรียม (ETH) ซึ่งต้องรอติดตามต่อไป
ไทยอยากเป็นฮับสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะที่ประเทศไทย นโยบายเศรษฐกิจก็มีส่วนสนับสนุน เช่น นโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) โดยนโยบายนี้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่าน 2 นโยบายย่อย ได้แก่
1. การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในกรณีที่การซื้อขายนั้นเกิดขึ้นในกระดานซื้อขาย (Exchange) นายหน้าซื้อขาย (Dealer/Broker) ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.ประเทศไทย
จากเดิมยกเว้นเป็นการชั่วคราวเฉพาะศูนย์ซื้อขาย แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการขยายประเภท และทำให้มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการถาวร เพื่อส่งสัญญาณว่า ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน
2. นอกจากนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ก็มีการอนุมัติ เห็นชอบให้มีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้ลูกค้ารายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth: UHNW) และลูกค้าสถาบัน (Institutional Investor: II) สามารถลงทุนใน Spot Bitcoin ETF ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ตามเงื่อนไขที่จะประกาศออกมา
‘2 เรื่องนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในประเทศไทยเองเนี่ย เราเริ่มเห็นการสนับสนุนในเชิงนโยบาย ในเชิงของมารตรการต่าง ๆ ที่จะออกมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือ Ecosystem นี้มากขึ้น’
โครงสร้าง Obrbix ในปัจจุบัน
สำหรับสัดส่วนการถือหุ้น ปัจจุบัน KBank ถือหุ้นผ่าน ‘ยูนิต้า แคปิทัล’ (Unita Capital) 100% ซึ่งเป็นเหมือนกับกลุ่มบริษัท (Holding Company) และภายใต้กลุ่มบริษัทนี้จะประกอบไปด้วยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ (Operating Company) ได้แก่
- ‘ออร์บิกซ์ เทรด’ (Orbix Trade)
- ‘ออร์บิกซ์ อินเวสท์’ (Orbix Invest)
- ‘ออร์บิกซ์ คัสโทเดียน’ (Orbix Custodian)
- ‘ออร์บิกซ์ เทค’ (Orbix Tech)
- ‘ออร์บิกซ์ โบรกเกอร์’ (Orbix Broker)
- คิวบิกซ์ (Kubix)
ที่มา : workpointtoday