<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Depin คืออะไร และทำไมเทคโนโลยีนี้ถึงสำคัญต่อโลกคริปโต?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

DePIN ย่อมาจาก Decentralized Physical Infrastructure Networks คือการผสานเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เพื่อสร้างและดำเนินการระบบแบบกระจายศูนย์ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ DePIN ในโลกปัจจุบัน ก็คือบริษัทอย่าง Microsoft และ Amazon ในขณะที่ DePIN ในโลกคริปโตก็คือโปรเจกต์อย่าง Render Network (RNDR) และ Theta Network (THETA) นั่นเอง

ที่สำคัญคือวงการ DePIN กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมูลค่าตลาดโดยรวมของ DePIN ได้ทะลุเกินกว่า 28,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่าตลาดรวมของโทเค็น Decentralized Exchange (DEX) อีกด้วย อ้างอิงข้อมูลจาก CoinGecko

ด้วยความต้องการของ DePIN ที่เพิ่มสูงขึ้น บทความนี้จะพาไปเจาะลึกว่า DePIN ในโลกคริปโตคืออะไร และสรุปข้อดีของมันออกมาให้ทุกคนได้เห็นภาพกัน

DePIN  ในโลกคริปโต คืออะไร?

DePINs เป็นเครือข่ายแบบPeer-to-Peer (P2P) ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถนำทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูล, การเชื่อมต่อไร้แบบสาย, การเซ็นเซอร์ หรือแม้กระทั่งระบบเครือข่ายพลังงานไฟฟ้า มาแบ่งปันและใช้งานร่วมกัน โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับผลตอบแทนตามกลไกสร้างแรงจูงใจที่โปรโตคอลที่ DePIN กำหนดไว้

แนวคิดการใช้แรงจูงใจและทฤษฎีเกมเพื่อขับเคลื่อนระบบให้มีความยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคยอย่าง Web3 แต่ทว่า DePIN แตกต่างตรงที่ นำทฤษฎีเกมที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน มาผสมผสานกับการใช้งานจริงในโลกกายภาพ ซึ่งดึงดูดผู้คนทั่วไปให้เข้าร่วมได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

ในโลกแบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง บริษัทคลาวด์สโตร์เรจ จะเป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อร่วมสร้างและดูแลโครงสร้างพื้นฐานภายในระบบนิเวศ ซึ่งระบบแบบนี้มีข้อเสียที่ชัดเจน อาทิเช่น อุปสรรคในการเข้าร่วมที่สูงสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ และความเสี่ยงต่อการรวมศูนย์อำนาจ

DePINs หรือก็คือ เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานแบบ ‘กระจายอำนาจ’ จึงได้เข้ามาพลิกโฉมระบบดังกล่าว ด้วยการกระจายภาระหน้าที่ในการสร้างและดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดออกไป

แนวคิดนี้คือ การมีผู้เข้าร่วมเครือข่ายมากพอที่จะทำให้ระบบทั้งหมดสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เหมือนกับเป็นระบบเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

พูดง่าย ๆ เลยก็คือ DePINs ประสบความสำเร็จบนเครือข่ายการเชื่อมต่อ โดยอาศัยหลักการพื้นฐานของเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (distributed networks) ในการแก้ปัญหาการจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพแบบดั้งเดิม

มูลค่าของเครือข่ายมักจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้เข้าร่วม ยิ่งมีคนเข้ามาแบ่งปันทรัพยากรด้วยแรงจูงใจมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานโดยรวมก็จะยิ่งขยายตัวและมีมูลค่ามากขึ้น สิ่งนี้ดึงดูดให้มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นอีก และส่งเสริมเครือข่ายให้แข็งแกร่งมากขึ้นตามไปด้วย

DePin แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

รายงาน “Crypto Theses 2024” ของสถาบันวิจัย Messari ได้แบ่ง DePINs ออกเป็นสองประเภทได้แก่ Physical Resource Networks (PRNs) และ Digital Resource Networks (DRNs)

1.Physical Resource Networks (PRNs)

PRNs จะเป็นการมอบเหรียญคริปโตเป็นสิ่งจูงใจให้กับผู้เข้าร่วมเพื่อการติดตั้งฮาร์ดแวร์ที่ต้องพึ่งพาตำแหน่งในการให้บริการ โดย PRNs ยังทำหน้าที่เป็นทรัพยากรฝั่งอุปทาน ในด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และ การเข้าถึงเครือข่ายพลังงาน 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีพลังงานลม โดยลมเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีเฉพาะในบางพื้นที่ และพลังงานที่ผลิตได้จะถูกแจกจ่ายให้กับผู้อยู่อาศัยในบางพื้นที่เท่านั้น

2.Digital Resource Networks (DRNs)

DRNs ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตำแหน่งที่ตั้งเหมือนกับ PRNs ดังนั้นผู้ใช้สามารถใช้บริการของ DRNs ได้โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่

ทรัพยากรทางดิจิทัลเช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูล การคำนวณ และแบนด์วิธ อยู่ภายใต้ประเภทนี้ กล่าวโดยง่าย ด้วย DRNs คุณสามารถได้รับประโยชน์จากบริการที่มีอยู่ทั่วโลกในขณะที่คุณอยู่ที่บ้าน

ยกตัวอย่างโปรเจกต์ DePIN ในโลกคริปโต

1.Render Network (RNDR)

เครือข่าย Render เป็นแพลตฟอร์มการเรนเดอร์แบบ Decentralized ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้พลังงาน GPU ได้ตามความต้องการ โดยโปรเจกต์นี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาแบบ 3D คุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครือข่ายนี้รวบรวมทรัพยากร GPU จากระบบนิเวศของตนและแจกจ่ายให้ทั่วเครือข่าย อีกทั้งผู้ให้บริการ GPU จะได้รับโทเค็น Render (RNDR) เป็นการตอบแทนสำหรับการให้ทรัพยากร การประหยัดต้นทุนและการใช้พลังงานที่ต่ำ ทำให้เครือข่าย Render เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในโลก Metaverse ในอนาคต

2.Theta Network (THETA)

เครือข่าย Theta ประกอบด้วยเครือข่ายการส่งวิดีโอที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน นอกจากนี้ แพลตฟอร์มของพวกเขายังใช้ทรัพยากรการประมวลผลและแบนด์วิธที่เหลืออยู่เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบการ Stream วิดีโอที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สำคัญไปกว่านั้น กลไกการให้ผลตอบแทนของโปรเจกต์นี้มีบทบาทสำคัญในการได้รับความยอมรับจากแพลตฟอร์มการสตรีมอย่างกว้างขวาง

สรุป

DePINs เสนอทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากเครือข่ายแบบรวมศูนย์กลางที่เก็บค่าสมาชิก เช่น คลาวด์สโตร์เรจและคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของบริษัทที่ให้บริการดังกล่าวอย่าง Microsoft และ Amazon มีมูลค่าสูงเกินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานแบบคริปโตอย่าง DePIN ยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องพัฒนา

DePIN ไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราว ที่มาไม่นานแล้วจากไป แต่มันคือเทคโนโลยีที่มีศักยภาพอันมหาศาลในการสร้าง และบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพจำนวนมากที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ก็จะได้รับประโยชน์จากการผสานเทคโนโลยี DePIN ตัวนี้

ที่มา:halborn