นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ได้ทำการทดลองที่แยบยล โดยส่งคำตอบที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากคำถามข้อสอบของสถาบัน ซึ่งผลลัพธ์ที่น่าทึ่งคือ สามารถหลอกอาจารย์ผู้สอน และทำคะแนนได้ดีกว่านักศึกษาที่เป็นมนุษย์จริง ๆ เสียอีก
งานวิจัยนี้ดำเนินการที่มหาวิทยาลัย Reading และตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังพลิกโฉมระบบการศึกษาโดยรวมได้อย่างไรบ้าง และสร้างความปวดหัวครั้งใหม่ให้กับอาจารย์ผู้สอน ในขณะที่กำลังพยายามหาแนวทางการสอน และประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาต่อไปในอนาคต
Etienne Roesch ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Reading และผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับการวิจัย วา “งานวิจัยของเราเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบที่เรามีในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคข้อมูล เราจำเป็นต้องทุ่มเทให้กับความมุ่งมั่นของเราต่อความซื่อสัตย์ทางวิชาการ และการวิจัยให้มากขึ้น”
ในงานวิจัยนี้ นักวิจัยได้นำข้อสอบจากหลายวิชาพื้นฐานทางด้านจิตวิทยามาใช้เป็นกรณีศึกษา โดยพวกเขาป้อนคำถามเหล่านั้นให้โปรแกรม ChatGPT ของ OpenAI เพื่อตอบคำถาม จากนั้นก็นำคำตอบที่ได้ไปยื่นเป็นผลงานของนักศึกษา โดยใช้ชื่อปลอมซึ่งข้อสอบมีทั้งแบบเขียนตอบสั้น ๆ ไม่เกิน 200 คำ และแบบเขียนเรียงความยาว 1,500 คำ
งานวิจัยระบุว่า อาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่ไม่รู้เรื่องการทดลองนี้ได้ทำการตรวจข้อสอบ แล้วมีอาจารย์เพียงแค่ 6% เท่านั้นที่สามารถระบุได้ว่า เป็นคำตอบที่สร้างโดย AI ส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดนั้น ที่ผ่านการตรวจ ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าเป็นงานเขียนของคน
ที่สำคัญไปกว่านั้น งานเขียนคำตอบของ AI ยังได้คะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักศึกษามหาวิทยาลัย Reading อีกด้วย
นักวิจัยกล่าวว่านี่เป็น “งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ และรัดกุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา” เกี่ยวกับผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อการศึกษา ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าโปรแกรม ChatGPT สามารถผ่านการทดสอบทัวริง (Turing Test) ซึ่งเป็นวิธีประเมินความสามารถของเครื่องจักร ในการสนทนาโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างแนบเนียนราวกับเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากนี้ นักวิจัยในงานชิ้นนี้ยังเสนอแนะด้วยว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยแนะนำว่า ควรนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทในระบบการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาและป้องกันการทุจริตทางวิชาการที่อาศัยความช่วยเหลือจาก AI เหล่าผู้สอนต่างกำลังพิจารณาแนวทางใหม่ ๆ กันอยู่ไม่ว่า จะเป็นการสอบปากเปล่า , การทำงานในชั้นเรียน ซึ่งการนำข้อสอบแบบกลับไปทำที่บ้าน หรือแม้แต่การทำข้อสอบบนคอมพิวเตอร์ อาจจะกลายเป็นการทดสอบแบบในอดีตไปอย่างรวดเร็ว และอาจเสื่อมความนิยมลงได้
แต่ประเด็นการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในห้องเรียน กลับเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก ซึ่งแนวคิดของเหล่าอาจารย์แตกออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรกมองโลกในแง่ร้ายกลัวว่า นักเรียนในอนาคตจะไร้ความสามารถ ต้องพึ่งพา AI มากเกินไปจนกลายเป็นไม้ค้ำยัน อีกฝั่งที่มองโลกในแง่ดีเชื่อว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ อีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่มีข้อเสียร้ายแรง
ที่มา : futurism