สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบกลุ่ม (shelf filing)และการปรับปรุงสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยเพื่อรองรับการระดมทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (soft power)
ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์ shelf filing และการปรับปรุงสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยเพื่อเพิ่มทางเลือกและความยืดหยุ่นในการขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO) ให้ภาคเอกชนสามารถเลือกใช้ได้สอดคล้องกับลักษณะของโทเคนดิจิทัลและเพื่อให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการระดมทุนรวมจากผู้ลงทุนรายย่อยมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับลักษณะของโครงการ
โดยยังมีการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่า
นมา และผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นด้วย ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (shelf filing)
กำหนดให้โทเคนดิจิทัลที่สามารถเสนอขายแบบ shelf filing ต้องเป็นโทเคนดิจิทัลที่เป็นโครงการซึ่งมีทรัพย์สินอ้างอิงหรือทรัพย์สินที่ลงทุนในลักษณะเดียวกันหรือโครงการในทำนองเดียวกันตามที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ได้แก่ โครงการในกลุ่มอุตสาหกรรม soft power เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร ศิลปะ เป็นต้น
โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายแบบ shelf filing จะสามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้โดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขายภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ การยื่นคำขออนุญาต แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบfiling) การชำระค่าธรรมเนียม และข้อกำหนดเกี่ยวกับ ICO จะต้องเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
(2) ยกเว้นการกำหนดสัดส่วนและมูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลรวมต่อผู้ลงทุนรายย่อยกรณีที่เป็นโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรม soft power จากเดิมที่มีการจำกัดมูลค่าการระดมทุนรวมต่อผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวไว้
ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ ทั้งนี้ การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว* ได้เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16
กันยายน 2567 เป็นต้นไป นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า
“ก.ล.ต. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาตลาดทุน เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุน โดยเฉพาะด้านการระดมทุนของกิจการผ่านเครื่องมือที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ ก.ล.ต. คาดหวังว่า จะมีส่วนช่วยส่งเสริมโครงการในกลุ่มของอุตสาหกรรม softpower ให้เข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน
ได้สะดวกขึ้น ตลอดจนเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม soft power สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy)ของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป”