<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

รู้จักกับ ‘เหลียง เหวินเฟิง’ จากผู้ก่อตั้งกองทุน Hedge Fund สู่ผู้สร้าง DeepSeek AI ที่สะเทือนทั้งเมกา

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในยุคที่ทั่วโลกต่างแข่งขันกันเพื่อขึ้นเป็นผู้นำในด้าน AI ชื่อของ ‘เหลียง เหวินเฟิง’ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิก DeepSeek AI  สตาร์ทอัพจีนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเทคโนโลยีและการเงินของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ

‘เหลียง เหวินเฟิง’ ไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนผู้นำด้าน AI ทั่วๆ ไป ที่เราคุ้นเคยกันดี อย่าง แซม อัลท์แมน ซีอีโอของ OpenAI เนื่องจาก ‘เหลียง’ มาจากโลกการเงิน โดยหลังจากที่เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Zhejiang ในปี 2015 เขาได้ร่วมก่อตั้งกองทุน Quantitative Hedge Fund ชื่อว่า “High-Flyer” ที่มีการนำ AI มาใช้ในการคาดการณ์แนวโน้มตลาดและช่วยตัดสินใจในการลงทุน

ปัจจุบัน ‘เหลียง’ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรม AI ของโลก ด้วย แนวคิดที่เริ่มต้นจากงานอดิเรกของเขาในปี 2021 ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนภายในปี 2023 ชื่อของ DeepSeek AI ก็กลายเป็นบริษัท AI ชั้นนำที่ทุกคนต้องจับตามอง

ภาพ ‘เหลียง เหวินเฟิง’ ผู้ก่อตั้ง DeepSeek ที่มา:LionHerald

จุดเริ่มต้นของ DeepSeek AI

ในปี 2021 ‘เหลียง’ เริ่มซื้อชิป Nvidia หลายพันตัวเพื่อสร้าง Computer Cluster ซึ่งหมายถึง การนำคอมพิวเตอร์หลายเครื่องมาทำงานร่วมกัน สำหรับการพัฒนา AI ซึ่งในตอนนั้น เพื่อนร่วมงานของเขามองว่า มันเป็นเพียงงานอดิเรกทั่วๆ ไป 

เพื่อนร่วมงานของ ‘เหลียง’ เล่าให้ฟังว่า “ตอนที่เจอเขาครั้งแรก เขาเป็นคนเนิร์ดมากๆ ทรงผมก็แปลกๆ และเขาชอบพูดถึงการสร้างคลัสเตอร์ด้วยชิป 10,000 ตัว เพื่อเทรนโมเดล AI ของเขา ซึ่งในตอนนั้นเราไม่คิดว่าเขาจะทำมันอย่างจริงจัง” 

“เขาไม่ได้อธิบายวิสัยทัศน์ชัดเจนเลยนอกจากพูดว่า ‘ผมจะสร้างสิ่งนี้ และมันจะเปลี่ยนโลก’”

ในปี 2023 เหลียงก่อตั้ง DeepSeek AI เพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ Artificial General Intelligence (AGI) ที่สามารถทำงานได้เทียบเท่ากับมนุษย์ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายใหญ่อย่าง OpenAI และ Google อย่างมาก ทำให้ความสำเร็จนี้สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรม AI ทั่วโลก

ล่าสุด หุ้น Nvidia ลดลงถึง 17% ส่งผลกระทบให้ดัชนี Nasdaq ลดลง 3% และ S&P 500 ลดลง 1.8%  ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของ DeepSeek ทำให้หลายคนเริ่มมองว่า บริษัทนี้ไม่ใช่เพียงแค่งานอดิเรกอีกต่อไป

กลยุทธ์ที่แตกต่างของ DeepSeek

แม้ DeepSeek จะเริ่มต้นจากโปรเจกต์เสริม แต่ ‘เหลียง’ ในวัย 40 ปี ลงมือดูแลบริษัทและงานวิจัยด้วยตัวเอง ตามรายงานของ Financial Times

เขามุ่งมั่นที่จะทำให้ DeepSeek เป็นผู้นำด้าน AI ในประเทศ โดยดึงดูดบุคลากรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน พร้อมเสนอค่าตอบแทนในระดับเดียวกับบริษัทแม่ยักษ์ใหญ่ของ Tiktok อย่าง ByteDance

ในบทสัมภาษณ์เมื่อกรกฎาคม 2024 กับ Waves ที่เผยแพร่ซ้ำโดย China Academy เหลียงได้เผยถึงเป้าหมายของ DeepSeek และยุทธศาสตร์ AI ของจีน

“หลายปีที่ผ่านมา บริษัทจีนมักใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาจากต่างประเทศมาประยุกต์เพื่อสร้างรายได้ แต่นี่ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน เป้าหมายครั้งนี้ของเราคือการขับเคลื่อนขอบเขตเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเพื่อสร้างการเติบโตของระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่การแสวงหากำไรระยะสั้น”

เขายอมรับว่านวัตกรรมต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีเดิมในอดีตเป็นเพราะเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ปัจจุบัน ด้วยความสำเร็จของ ByteDance และ Tencent ที่กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกพร้อมสร้างกำไรมหาศาล ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป

“สิ่งที่เราขาดไม่ใช่เงินทุน แต่คือความมั่นใจและความสามารถในการจัดการบุคลากรระดับสูงเพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ” เหลียงกล่าว

DeepSeek เลือกใช้โมเดลโอเพ่นซอร์ส ซึ่งต่างจาก OpenAI แต่ เหลียงมองว่าการแบ่งปันความก้าวหน้าไม่ใช่ข้อเสีย

เขาเชื่อว่าการปิดกั้นซอร์สโค้ดไม่ได้หยุดยั้งคู่แข่ง และการเปิดเผยกลับเป็นข้อได้เปรียบ

“จุดแข็งที่แท้จริงของเราคือการเติบโตของทีม สะสมความรู้ ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม การเปิดเผยข้อมูลและตีพิมพ์งานวิจัยไม่ใช่การสูญเสียครั้งใหญ่ สำหรับนักเทคโนโลยี การถูกติดตามคือรางวัล โอเพ่นซอร์สไม่ใช่แค่เชิงพาณิชย์ แต่เป็นวัฒนธรรม การให้กลับคืนคือเกียรติยศ และมันดึงดูดผู้มีความสามารถ”

“ความเชื่อ” คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม

เหลียงอธิบายว่า DeepSeek เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน โดยมีการแบ่งงานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีการกำหนดบทบาทตายตัวหรือโครงสร้างลำดับชั้นที่เข้มงวด ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างอิสระ แต่เมื่อไอเดียใดเริ่มมีศักยภาพ ผู้บริหารจะจัดสรรทรัพยากรจากบนลงล่างทันที

DeepSeek ยังไม่จำกัดการเข้าถึงทรัพยากรการประมวลผลหรือบุคลากร ใครก็ตามที่มีไอเดียดีสามารถใช้ “คลัสเตอร์ฝึกอบรม” ได้ตลอดเวลา แม้แต่ห้องประชุมก็เข้าถึงได้ง่าย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างบังเอิญและสร้างสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน

“ผมเชื่อว่านวัตกรรมเริ่มต้นจากความเชื่อ” เหลียงกล่าว “ทำไมซิลิคอนแวลลีย์ถึงสร้างสรรค์นัก? เพราะพวกเขากล้าที่จะลอง ตอน ChatGPT เปิดตัว จีนยังขาดความมั่นใจในงานวิจัยแนวหน้า ตั้งแต่นักลงทุนไปจนถึงบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ หลายคนมองว่าช่องว่างนั้นกว้างเกินไปและหันไปเน้นแค่การประยุกต์ใช้แทน แต่การสร้างนวัตกรรมต้องอาศัยความมั่นใจ ซึ่งคนรุ่นใหม่มักจะมีมากกว่า”

ที่มา:fortune