ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น ในฐานะเครื่องมือที่อาจช่วยทำนายเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ด้วยความแม่นยำ เนื่องจากสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในโมร็อกโก ในตุรกีและซีเรียเมื่อช่วงต้นปี ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50,000 ราย
ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็เริ่มเร่งพัฒนาโมเดล AI ที่อาจช่วยทำนายภัยพิบัติล่วงหน้า เพื่อช่วยชีวิตผู้คน
อย่างไรก็ตามความพยายามในการทำนายแผ่นดินไหวที่มีมานานหลายทศวรรษ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถทำได้แม่นยำพอจะใช้เตือนภัยล่วงหน้าได้จริง
แต่ตอนนี้ AI อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เข้ามาพลิกสถานการณ์ได้ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Machine Learning ที่สามารถวิเคราะห์รูปแบบของคลื่นไหวสะเทือน , ข้อมูลทางธรณีวิทยา และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อระบุความน่าจะเป็นในการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งหากแม่นยำพอ ก็อาจช่วยให้หน่วยงานเตรียมรับมือได้ทัน
งานวิจัยก่อนหน้านี้ จากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยพัฒนาโมเดล AI มาใช้ทำนายอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งโมเดล AI นี้ มีความแม่นยำมากกว่า 80%
ในขณะที่ งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Nature Communications นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้เสนอวิธีใหม่ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยให้มองเห็นการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเปลือกโลกที่เกิดขึ้นนับล้านครั้งให้ชัดเจนขึ้น
โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า “ถ้าเราตรวจจับและระบุตำแหน่งของแผ่นดินไหวขนาดเล็กพวกนี้ได้ดีขึ้น เราก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่า แผ่นดินไหวเชื่อมโยงหรือกระจายตัวไปตามรอยเลื่อนยังไง เริ่มต้นยังไง หรือแม้แต่หยุดลงได้ยังไง ”
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ก็ใช้ระบบ Neural Network มาทำนายแผ่นดินไหวได้ด้วยความแม่นยำสูง โดยอาศัยรูปแบบของคลื่นการไหวสะเทือนที่ผ่านมา
ขณะที่ทีมจากห้องปฏิบัติการ Los Alamos National Laboratory ในสหรัฐฯ เพิ่งเปิดเผยว่า พวกเขาสามารถใช้ AI ทำนายแรงเสียดทานในรอยเลื่อนได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การทำนายเวลาเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตได้แบบใกล้เคียงความจริง
แม้ผลการวิจัยเหล่านี้จะชวนให้ตื่นเต้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดสำคัญด้านข้อมูล เนื่องจากแผ่นดินไหว ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทำให้การรวบรวมข้อมูล เพื่อสอน AI นั้นทำได้ยาก อีกทั้งแผ่นดินไหวมีความซับซ้อนสูง ปัจจัยที่ทำให้เกิดแต่ละครั้งก็หลากหลาย และนักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่เข้าใจกลไกทางฟิสิกส์ที่แท้จริงของแผ่นดินไหวทั้งหมด
ตามข้อมูลจาก Caltech Science Exchange ระบุว่า ปัจจุบันเรายังไม่สามารถทำนายได้แบบเป๊ะ ๆ ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน หรือจะรุนแรงแค่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สามารถประเมินพื้นที่ที่มีความเสี่ยงว่า จะเกิดแผ่นดินไหวได้ โดยใช้การคำนวณความน่าจะเป็นและการพยากรณ์
ด้านสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ก็ยืนยันว่า ไม่เคยมีนักวิทยาศาสตร์จาก USGS หรือนักวิทยาศาสตร์คนไหน ที่สามารถทำนายแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้อย่างแม่นยำ และก็คิดว่า ยังไม่สามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้นี้
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ยังกล่าวเสริมว่า สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ของเราทำได้ คือ การคำนวณความเป็นไปได้ที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่พื้นที่หนึ่ง ภายในช่วงระยะเวลาหลายปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดีการประยุกต์ใช้ AI เพื่อช่วยทำนายแผ่นดินไหว และลดผลกระทบจากภัยพิบัติในอนาคต ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี และยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้อีกมาก เพราะถ้าวันหนึ่ง AI สามารถบอกได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนเกิดแผ่นดินไหวจริง ก็อาจเปลี่ยนโฉมวิธีรับมือภัยพิบัติของโลกไปได้อย่างสิ้นเชิง
ที่มา : greekreporter