หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศการเตรียมทดสอบ “Retail CBDC” ในช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยได้ประกาศว่าจะเริ่มต้นด้วยธนาารกรุงศรี-ไทยพาณิชย์-ทูซีทูพี ประเดิม 3 เจ้าแรก
ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็น 2 ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ทดสอบการใช้ Retail CBDC สำหรับประชาชนในวงจำกัด ระหว่างช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. 2566 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทดลองให้มีการใช้จ่ายเงิน “บาทดิจิทัล” หรือ Retail CBDC แล้วในวงจำกัด ซึ่งนอกจากธนาคารทั้งสองแห่งยังมีบริษัททูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งด้วย
สำหรับการใช้จ่าย Retail CBDC ในวงจำกัดนั้นธนาคารที่ได้รับอนุญาตจะให้ผู้เข้าร่วมทดลองใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น wallet CBDC โดยสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ชื่อ “CBDC SCB Wallet” ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยาใช้ชื่อ “CBDC Krungsri” ซึ่งยังไม่ใช่ชื่อที่เป็นทางการแต่เป็นชื่อที่เรียกในขั้นทดลองนี้ก่อน
ทั้งนี้ แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า กรุงศรีได้เริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในพื้นที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานพระราม 3 และอยู่ระหว่างขยายการใช้งานไปยังสาขาเพลินจิต โดยปัจจุบันมีพนักงานประมาน 2,000 คน และร้านค้าประมาน 100 ร้านค้า ร่วมการทดสอบ
โดยกรุงศรีได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “CBDC Krungsri” เพื่อใช้ในการทดสอบครั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการใช้งานเริ่มจาก
- ผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถแปลงเงินบาทเป็น CBDC หรือเงินบาทดิจิทัลได้ โดย 1 บาท มีค่าเท่ากับ 1 CBDC
- เข้าไปที่แอปพลิเคชั่นแล้วแปลงเงินบาทจากบัญชีที่ผูกไว้เป็นเงินดิจิทัลในจำนวนที่ต้องการ
- เลือกสแกนจ่าย จากนั้นสามารถสแกน QR Code ของร้านค้าได้ โดยจะเป็น QR Code สำหรับการใช้ Retail CBDC โดยเฉพาะ
“การใช้ Retail CBDC ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบ เราจึงใช้แอป CBDC Krungsri แยกออกมาเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เกิดความสับสน โดยในการทดสอบตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาจาการใช้งาน และในระยะต่อไปอาจนำกระเป๋าเงิน CBDC เข้าไปรวมไว้แอปพลิเคชั่น KMA ”
โดยการทดสอบใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้เพื่อต้องการทดสอบความเสถียรของระบบ เช่น การรองรับการทำธุรกรรมปริมาณมาก การแลกเงินกลับจากบาทดิจิทัลเป็นเงินบาทปกติ เป็นต้น โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบกรุงศรีจะรายงานผลไปยังธปท. เพื่อให้พิจารณาขยายการใช้งานไปยังประชาชนทั่วไปต่อไป
อย่างไรก็ดีหากภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนได้ใช้ Retail CBDC เป็นการทั่วไปแล้ว อาจจะต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและร้านค้า รวมถึงต้องแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ Retail CBDC กันมากขึ้น เช่น การให้ส่วนลดหรือการให้เงินคืน
ทั้งนี้แม้ว่าการใช้ Retail CBDC จะอาจมีความคล้ายกับการใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ แต่การใช้ Retail CBDC มีประโยชน์ที่ต่างไปจากพร้อมเพย์ เช่น
- การทำรัฐสวัสดิการ หากใช้ Retail CBDC จะทำให้สามารถจำกัดการใช้จ่ายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ เช่น การให้สวัสดิการแก่นักเรียนสามารถจำกัดการใช้งานได้ว่า Retail CBDC ที่ได้ไปต้องใช้จ่ายในร้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายกับร้านค้าอื่นๆ ได้
- ในอนาคตการให้สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงินจะสามารถควบคุมได้ จากเดิมที่ปัจจุบันเมื่อลูกค้าได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วสถาบันการเงินอาจไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสินเชื่อที่ลูกค้าได้รับไปได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่การใช้ Retail CBDC จะทำให้จำกัดการใช้งานได้ เช่น การขอสินเชื่อบ้านลูกค้าจะใช้ Retail CBDC ได้เฉพาะกับร้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เท่านั้น
- ลดต้นทุนการผลิตเหรียญและธนบัตรการทดสอบการใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้อาจเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบการชำระเงินเพิ่มขึ้นอีกช่องทางนอกเหนือจากการมีระบบพร้อมเพย์ซึ่งนับว่าเป็นระบบการชำระเงินที่แข็งแรงมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังอาจเป็นอีกก้าวที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอีกด้วย
ธปท. ขอย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ธปท. ย้ำว่า ปัจจุบัน Retail CBDC เป็น pilot to learn ไม่ใช่ pilot to launch การทดสอบในครั้งนี้เป็นการทดสอบในวงจำกัดประมาณ 10,000 คนเท่านั้น ยังไม่ได้ใช้จริงในวงกว้าง ซึ่งกลุ่มผู้ทดสอบได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นวันนี้หากพบกรณีที่แอบอ้างเกี่ยวกับ Retail CBDC จึงไม่ควรเชื่อ
ที่มา : moneyandbanking