<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

‘หนึ่ง ปรมินทร์’ ชวนวิเคราะห์ ! ธุรกรรม Tether (USDT) ที่เป็นข่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดิไอคอน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

สืบเนื่องมาจากช่วงเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม สยามบล็อกเชนได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการโอนย้าย USDT ของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจในวงการคริปโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ทีมงานสยามบล็อกเชนจึงเชิญคุณหนึ่ง ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Firo และเว็บเทรด Satang Pro (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ออร์บิกซ์) มาร่วมสัมภาษณ์เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น รวมถึงความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น โดยคุณหนึ่งได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องนี้และชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ติดตามได้เข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง

จากการสัมภาษณ์ คุณหนึ่งอธิบายว่า เมื่อตรวจสอบธุรกรรมที่มีการโพสต์ไว้พบว่ามีที่มาจากสองเชน ได้แก่ ETH และ TRON ซึ่งชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่การทำธุรกรรมที่ผิดปกติ เนื่องจากมีการระบุจุดหมายเป็น Binance hot wallet อย่างชัดเจน

คุณหนึ่งอธิบายต่อไปว่า โดยปกติแล้วเวลาคนจะส่งเหรียญไปที่เว็บเทรด พวกเขาจะทำการส่งไปยังที่อยู่ที่เว็บได้ระบุ และสำหรับมูลค่าการทำธุรกรรมใน Binance hot wallet ที่ค่อนข้างสูงนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด   นอกจากนี้ เขายังยืนยันด้วยว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ที่ต้องการโอนเงินออก แต่เป็นลักษณะการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของเว็บเทรด

นอกจากนี้ทางสยามบล็อกเชนยังได้มีการตรวจสอบบัญชีกระเป๋าเงินบนเชน ETH ของดิไอคอนที่ตกเป็นข่าวซึ่งพบว่ามียอดการทำธุรกรรมระดับหลักสิบล้านบาทจำนวนหลายรายการ เมื่อรวมมูลค่าทั้งหมดแล้วจะคิดเป็นเงินหลัก 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ในส่วนนี้คุณหนึ่งอธิบายว่า ที่อยู่ดังกล่าวนั้นคือการที่ Bitfinex ส่ง USDT ไปยัง Kraken 

โดยผู้ที่ออกเหรียญ USDT อย่าง Tether มีความเกี่ยวข้องกับ Bitfinex อยู่แล้วดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการส่งเหรียญจากผู้สร้างมายังเว็บเทรดในเครือที่พวกเขาเป็นเจ้าของ หลังจากนั้นเมื่อต้นทางมีการโอนไปยัง Kraken ก็ยิ่งเสริมความมั่นใจขึ้นไป เนื่องจากทั้งสองแห่งนั้นเป็น CEX ที่มีอำนาจในการอายัดบัญชี

คุณหนึ่งมองว่า ความเป็นไปได้ที่เจ้าของกระเป๋าเงินจะโอน USDT หนีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องจากหลักฐานที่มีอยู่ เพราะการโอนเข้าไปยัง Exchange ที่สามารถทำการระงับบัญชีนั้นไม่ใช่วิธีการที่ควรจะเป็นและไม่สมเหตุผล เช่นเดียวกันกับขนาดของการทำธุรกรรมยังมีตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาโดยตลอดไม่ใช่เพิ่งจะเพิ่มขึ้นมาในขณะที่เป็นข่าว รวมถึงจำนวนการทำธุรกรรมที่มีนับร้อยไม่ใช่ 1-2 ธุรกรรม (ผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการหนี)

ในคำถามถัดมา ทีมงานสยามบล็อกเชนได้สอบถามคุณหนึ่งว่า หากมีการโอนเหรียญ Tether (USDT) ไปยังกระเป๋าเงินภายนอกที่ไม่ใช่เว็บเทรด ตำรวจไทยยังสามารถติดตามธุรกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งคุณหนึ่งได้ชี้แจงว่า สามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องรีบติดต่อไปยังบริษัท Tether เพื่อทำการอายัดบัญชีที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัท Tether มีอำนาจในการสกัดกั้นการทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของกลุ่มลาซารัส ซึ่งเป็นแฮ็กเกอร์ชาวเกาหลีเหนือที่เคยถูกสกัดกั้นการทำธุรกรรมจากบริษัท Tether มาแล้ว 

สุดท้ายนี้ คุณหนึ่งได้ฝากข้อความไว้ว่า การที่สื่อมวลชนพยายามเหมารวมการใช้ USDT เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดกฎหมายนั้น ควรพิจารณาปรับปรุงวิธีการนำเสนอข่าวสารใหม่และเสนอให้มองในแต่ละกรณีตามหลักฐานที่มีอยู่ โดยไม่ควรทำข่าวเพื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่ไม่เข้าใจหรือไม่อยู่ในวงการ เนื่องจากการทำเช่นนี้อาจทำให้พวกเขาไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจริง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาดออกไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเกลียดชังต่ออุตสาหกรรมคริปโตในภาพรวมได้