“ในตอนนี้เราไม่มีความชัดเจนและความเข้าใจจริงๆ ว่าเราจะเอามันมาใช้ทำอะไร”
Jesse Morris ประธานองค์กร Rocky Mountain Institute (RMI) เอ่ยปากวิจารณ์การทดลองใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในอุตสาหกรรมพลังงาน ถึงแม้จะมีหลากหลายบริษัทที่พูดถึงเทคโนโลยีนี้ รวมถึงเริ่มมีโครงการนำร่องไปบ้างแล้วในบางส่วน แต่ประโยชน์และสิ่งที่บล็อคเชนจะเข้ามาช่วยบริษัทเหล่านี้ก็ยังคงกำกวมอยู่
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ RMI ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งรัฐ Colorado, USA ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาพลังงานสีเขียว ได้สร้างมูลนิธิที่เรียกว่า Energy Web Foundation (EWF) ซึ่งจับมือร่วมกันกับ Grid Singularity บริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับบล็อคเชนจากเมืองเวียนนา
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธินี้ได้ประกาศสมาชิกผู้เข้าร่วมสนับสนุนการเดินหน้าพัฒนาโปรเจ็คนี้ ได้แก่ Centrica, Elia, Engie, Shell, Sempra Energy, SP Group, Statoil, Stedin, TWL และ Tepco อีกทั้งบริษัทเหล่านี้ยังได้ทุ่มเงินไปแล้วเป็นจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการนี้
ด้วยความช่วยเหลือจากบริษัทเหล่านี้ทำให้บริษัท RMI และ Grid Singularity สามารถทำการเฟ้นหาสิ่งที่บล็อคเชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือและเติมเต็มอุตสาหกรรมนี้ อย่างสมเหตุผลและเป็นไปได้
“มีสถาบันวิจัยสองสามที่ ที่สามารถคิดกรณีใช้งานของบล็อคเชนสำหรับธุรกิจพลังงานได้ถึง 200 ข้อ” Morris กล่าวกับ CoinDesk แถมยังเสริมด้วยว่า
“เราเอาสิ่งนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นเราค่อยๆวิเคราะห์จนเหลือแต่ข้อที่เราคิดว่า เมื่อนำบล็อคเชนมาใช้แล้วมันจะมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์”
กรณีใช้งาน
EWF ได้ค้นพบการนำบล็อคเชนไปประยุกต์ในด้านต่างๆ เช่น การออกบิลให้ลูกค้า, ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน และ การแชร์พลังงานแบบเครือข่าย Peer-to-peer (P2P)
Morris ลงรายละเอียดในเรื่องของการใช้งานกับใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนพลังงานสีเขียว โดยการแลกเปลี่ยนเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ เพื่อสามารถตามหาแหล่งที่มาของมันได้
“ถ้าเราลองมองเข้าไปในระบบพวกนี้ดีๆนะ พวกมันกำลังกรีดร้องโหยหาเจ้าเทคโนโลยีบล็อคเชนนี่อยู่เลย” เขากล่าว
Morris ยังกล่าวกับ CoinDesk อีกว่า
“ลองนึกภาพว่าคุณมีโรงงานที่ผลิตพลังงาน และพลังงานที่ผลิตออกมาได้ก็จะเกิดเป็นใบรับรองที่เอาไว้แลกเปลี่ยน ตอนนี้มันมีปัญหามากมายในระบบปัจุบัน อย่างเช่น ใบรับรองเดียวกันโดนเอาไปใช้สองครั้ง หรือการที่คนส่วนใหญ่เข้ามาไม่ถึงตลาดนี้อีกทั้งยังมีความท้าทายในเรื่องของข้อกฏหมาย ย่อยๆอีกมากมายในการแลกเปลี่ยนใบรับรองพวกนี้”
RMI และ EWF เชื่อว่าบล็อคเชนจะสามารถแก้ปัญหาของการตรวจสอบที่มาที่ไปของแหล่งพลังงานในใบรับรองพวกนี้ได้
อีกกรณีใช้งานหนึ่งคือ การแลกเปลี่ยนพลังงานกันในเครือข่ายแบบ P2P ซึ่งความจริงก็ได้มีคนลองริเริ่มทำไปบ้างแล้ว โดยบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ LO3 Energy จาก New York ได้ร่วมกับ บริษัท Siemens ในการสร้างระบบที่ใช้งานอีเธอเรียมในการทำให้คนในเครือข่ายนี้สามารถแลกเปลี่ยนพลังงานกันได้
นอกเหนือจากนี้ Morris ยังได้วาดฝันไว้ว่า บล็อคเชนจะสามารถนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Internet of Things เพื่อทำการแลกเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนส่วนเกิน
เขาอธิบายว่า
“เมื่อเรานึกถึงเทคโนโลยีบล็อคเชน ให้เราลองนึกภาพตึกอาคารที่กลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนพลังงานไปมาระหว่างอาคารอื่นๆ และโรงไฟฟ้า นั่นแหละคือที่ที่บล็อคเชนจะฉายแสงในแวดวงของพลังงาน”
แต่ก่อนจะไปถึงไอเดียเหล่านี้ เราอาจจะมาเริ่มที่อะไรง่ายๆก่อน อย่างเช่น การนำบล็อคเชนมาช่วยในการออกบิล หรือคิดเงินลูกค้าในอุตสาหกรรมพลังงาน
เราสามารถสร้าง Virtual Identity ของตึกและอาคารต่างๆในบล็อคเชน แทนตัวตนของมันจริงๆ เพื่อนำมาบันทึกการรับพลังงานไฟฟ้าจากที่ต่างๆ ด้วยวิธีนี้ เราจะสามารถลดขั้นตอนที่ต้องทำด้วยคน และจะลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ไปได้อีกมากมาย
การวางรากฐานที่ดี
ในช่วงแรกนี้ EWF ต้องการที่จะใช้อีเธอเรียมในการทดลองทำสิ่งต่างๆ
“มันจะเป็นบล็อคเชนอีเธอเรียมที่จะใช้คอนเซ็ปต์ Proof of Authority (คอนเซ็ปต์ใหม่ที่พยายามแยกตัวออกมาจากคอนเซ็ปต์เดิมในบล็อคเชน เช่น Proof of Work และ Proof of Stake)” Morris กล่าว “แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากำลังจะทำ จะเป็นเหมือนพื้นฐานของทุกๆสิ่ง และเราจะต้องการความช่วยเหลือจากหลากหลายบริษัท เราต้องลองใช้หลากหลายวิธี หลากหลายไอเดีย และหลากหลายเทคโนโลยี”
ตอนนี้ล้อได้เริ่มหมุนแล้วสำหรับ Grid Singularity ที่จะมาเป็นผู้ทดลองคอนเซ็ปต์ใหม่นี้กับวงการพลังงาน
ซึ่งอันที่จริงแล้ว Grid Singularity เองก็กำลังร่วมงานอยู่กับสตาร์ทอัพเฉพาะทางด้านอีเธอเรียมอื่นๆในมูลนิธินี้เช่นกัน ได้แก่ Party Technologies, Slock.it และที่ปรึกษาด้านบล็อคเชน ชื่อ Brainbot
ถึงแม้การที่จะขยายตัวบล็อคเชนเพื่อเข้ามาครอบคลุมการใช้งานต่างๆกับธุรกิจพลังงานจะเป็นงานยาก แต่ Ewald Hess CEO ของ Grid Singularity ก็มั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้เป็นไปได้ ความยากที่แท้จริงนั้นอยู่ที่รายละเอียดเล็กๆ เช่น ข้อกำหนดและมาตรฐานของอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ก้าวเท้าเข้ามาร่วมโปรเจคนี้ ควรเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ และไม่ใช่แค่การช่วยเหลือทางด้านเงินอย่างเดียว แต่เป็นความเข้าใจกันและความสอดคล้องกันในการที่จะนำบล็อคเชนไปใช้งานในบริษัทต่างๆ
Hess กล่าวกับ CoinDesk ว่า
“มันง่ายกว่ามากเลยกับการที่คุณมีหลายๆบริษัทมาตัดสินใจร่วมกันในการออก smart contract หนึ่งอันที่จะสร้าง token ขึ้นมา แล้วงานที่เหลือที่คุณต้องทำก็คือการไปเช็คและสร้างไวท์ลิสต์ของโรงผลิตพลังงานที่เราจะยินยอมให้เป็นผู้ออก token และเป็นผู้ไวท์ลิสต์ smart contract”
มันก็จะเป็นงาน “การมือง” หน่อยๆ Hess เสริม โดยแอบจิกกัดพื้นเพของความเข้มงวดและการเมืองอันหนาแน่นของอุตสาหกรรมพลังงานที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
แหล่งที่มา http://www.coindesk.com/energy-sector-giants-turn-to-ethereum-to-test-blockchain-potential/
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น