เป็นเวลานานมาแล้วที่ Web Monetization หรือการหารายได้เสริมบนเว็บไซต์ได้กลายมาเป็นอาชีพหลักๆของผู้ให้บริการคอนเท้นของเว็บไซต์ และมีพัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย
เริ่มตั้งแต่ยุคแรกๆของ Internet หรือสมัยที่การสร้างเว็บไซต์และ Host ขึ้นไม่ง่ายเหมือนกับสมัยนี้ และสมัยที่ตัว search engine ชื่อดังอย่าง Google ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมานั้น การสร้างเว็บเพื่อให้ตัวเองได้เป็น “เว็บท่า” หรือเว็บท่าเรือของนัก surf อินเทอร์เนตทั้งหลายจึงได้รับความนิยมอย่างมาก
เว็บท่าคือการนำเอาลิงค์ และ component จิปาถะจากเว็บอื่นๆมารวมไว้ในเว็บเดียวกันเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายในกรณีที่พวกเขา “ลืมชื่อเว็บไซต์” ที่ตัวเองเคยเข้า และไม่สามารถที่จะหาเว็บเหล่านั้นเจอ (เพราะยังไม่มี search engine แบบสมัยนี้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เนตสมัยก่อนบางคนนิยมจดชื่อเว็บไว้กันลืม) ซึ่งสมัยก่อน เว็บท่าที่มีชื่อเสียงมากในประเทศไทยก็คือ Sanook.com
เวลาผ่านไปนาน เว็บท่าเหล่านั้นก็ได้รับการเข้าเยี่ยมชมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยความสะดวก จนทำให้พวกเขาถูกติดต่อมาจากธุรกิจต่างๆมากมาย เพื่อขอให้ชื่อและลิงค์ของธุรกิจของพวกเขาขึ้นไปอยู่บนเว็บท่าเหล่านั้น หวังเพื่อที่จะให้เป็นที่ถูกจดจำจากผู้ใช้งานในเวลาอันรวดเร็ว ภายหลังจึงพัฒนามาเป็นการ “ติดตั้ง Banner” ที่ทางเจ้าของเว็บท่าเหล่านั้นสามารถที่จะทำรายได้จากการ monetize ในรูปแบบนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
วิธีการติด Banner เพื่อหารายได้ดังกล่าวก็ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆในหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น Ads Network ที่มีการรวมเอาเครือข่ายของผู้โฆษณามาไว้บนแพลทฟอร์มเดียวกัน และให้ผู้ที่อยากจะโฆษณาสามารถเลือกจ่ายเงินตามความพอใจและงบประมาณของตนเองอย่างที่สามารถเห็นได้จาก Google AdSense และ Google AdWords เป็นต้น ซึ่งภายหลังการมีขึ้นของเว็บ search engine เหล่านั้นทำให้เว็บท่าที่เคยมี ต้องผันเปลี่ยนตัวเองเป็นเว็บแนว content เพื่อเรียกผู้ใช้งานที่เคยเสียไปให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่ารูปแบบของเว็บจะเปลี่ยน แต่รูปแบบการหารายได้ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยก็คือการติดตั้ง banner โฆษณาที่กลายเป็นมาตรฐานของเว็บมาสเตอร์ไปแล้วในปัจจุบัน
ทว่าสำหรับผู้ใช้งานหรือผู้อ่านบางคนอาจไม่คิดเช่นนั้น บางคนมองว่าการติดตั้งแบนเนอร์เหล่านี้ทำลายอรรถรสในการเข้าเยี่ยมชมหรืออ่าน content บนเว็บไซต์ เนื่องจากการวาง banner หลายๆจุดบนเว็บนั้นทำให้หน้าเว็บดูไม่สะอาดและเลอะเทอะ และบางคนมองว่าทางผู้ทำเว็บไซต์ไม่สมควรจะได้เงินตรงส่วนนี้ไป และควรที่จะทำ content ให้ผู้อ่านได้อ่านฟรีๆ ทั้งๆที่ผู้ทำเว็บนั้นมีต้นทุนและรายจ่ายที่มากมายอยู่แล้ว เป็นต้น
แต่ภายหลังการมีขึ้นของสกุลเงิน cryptocurrency และการขุดเหรียญคริปโตที่มีมูลค่าในตัวเอง ผ่านคอมพิวเตอร์ประมวลผล อาจจะทำให้การ monetize แบบการวาง banner ที่มีมาช้านานต้องเปลี่ยนไป
หน้าเว็บโล่ง สะอาด
เป็นเวลาไม่นานนักหลังจากที่ Satoshi Nakamoto คิดค้น Bitcoin ที่ทำงานอยู่บนอัลกอริทึม Proof of work ขึ้นมา ซึ่งการพิสูจน์การทำงานด้วยการแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ ที่ทำให้ผู้ช่วย confirm ธุรกรรม Bitcoin ต้องไปสรรหาเครื่องขุดเหรียญมาขุดเพื่อหวังที่จะได้เหรียญเหล่านี้มาครอบครองและนำไปแลกออกเป็นเงินธรรมดาได้นั้น ได้กลายมาเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
ซึ่งภายในเวลาไม่กี่ปี เหรียญใหม่ๆบนตลาดมากมายก็เกิดขึ้นมา เหรียญเหล่านี้ก็ทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain และส่วนใหญ่ก็สามารถถูกขุดได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างหลักๆที่มีให้เห็นก็คือ Ethereum และ Monero ที่ผู้ขุดสามารถประยุกต์นำเอาการ์ดจอมาช่วยประมวลผลธุรกรรมของเหรียญดังกล่าวได้
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียใหม่ๆขึ้นมา ว่าถ้าหากเรากำจัด Banner บนเว็บออกไปให้หมด และให้ผู้ที่เข้าชมเว็บของเราได้อ่าน content แบบฟรีๆ ทว่าพวกเขาก็มี CPU และคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ทำไมไม่ให้พวกเขามาช่วยเราขุดเหรียญสร้างรายได้แทนการโฆษณา จะได้วินวินกันทั้งสองฝ่ายล่ะ?
Coin-Hive.com คือผู้ที่ริเริ่มไอเดียดังกล่าว ด้วยการมีแนวคิดที่อยากจะให้เว็บไซต์แนว content นั้นปลอดแบนเนอร์โฆษณา ดูสะอาด แต่ก็ยังสามารถให้ผู้ผลิตคอนเท้นสามารถสร้างรายได้นำไปเลี้ยงชีพและเซิฟเวอร์ได้อยู่
หลักการการทำงานของ Coin-Hive ก็คือเจ้าของเว็บสามารถที่จะนำ script ดังกล่าวไปแปะไว้ที่ footer ด้านล่างสุดของเว็บ โดย script ที่ว่านี้จะ “ทำการดึงเอาแรงประมวลผล CPU ของผู้ที่เข้าเว็บไซต์มาขุดเหรียญ Monero” และจะโอนเหรียญที่ขุดได้เข้ามาในกระเป๋าของเจ้าของเว็บ และสามารถโอนเหรียญดังกล่าวไปขายทอดตลาดได้ในภายหลัง
script ที่ว่านี้จะทำงานก็ต่อเมื่อเว็บถูกเปิดขึ้นมา และจะหยุดทำงานเมื่อปิดหน้าเว็บนั้นๆลง อีกทั้งผู้ติดตั้ง script ยังสามารถที่จะกำหนดได้ว่าจะดึงเอาจำนวน threads ของ CPU มาช่วยประมวลผลเป็นจำนวนเท่าไรได้อีกด้วย โดยหากดึงมาน้อย ก็จะได้แรงขุดน้อย แต่หากดึงมามากก็จะได้แรงขุดมาก และจะทำให้ CPU ของเครื่องของผู้เข้าเว็บทำงานหนักมากขึ้น
การหารายได้ในลักษณะนี้ อาจจะช่วยการันตีให้เว็บไซต์ที่มี traffic ผู้เข้าชมหลักหมื่นจนถึงหลักแสนต่อวันสามารถที่จะถอด banner โฆษณาออกไปในตอนท้ายสุดได้ และแทนที่ด้วยรายได้จากการวาง script ขุดเหรียญบนเว็บไซต์ได้แทน
แล้วข้อเสียล่ะ?
ก่อนหน้านี้ เว็บแหล่งรวม Torrent ที่ใหญ่ที่สุดนามว่า Pirate Bay เคยออกมายอมรับว่าพวกเขาได้ทำการทดสอบ script ขุดเหรียญดังกล่าวบนเว็บของพวกเขา หลังจากที่ผู้ใช้งานเว็บบางคนพบว่าอัตราการใช้งาน CPU ทั้งหมด 8 threads ของเขาเพิ่มขึ้นถึง 80-85% ทุกๆครั้งที่เปิดเว็บดังกล่าว ทั้งๆที่เว็บดังกล่าวนั้นไม่ได้มี component อะไรมากนัก
ดูเหมือนว่าวิธีการหารายได้ดังกล่าวนี้มาพร้อมกับข้อเสียบางประการที่อาจจะสร้างความขัดแย้งระหว่างผู้ทำเว็บกับผู้อ่านขึ้นมาได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการ “ดึงเอาแรงประมวลผลของ CPU มาใช้มากจนเกินไป” ซึ่งเคยมีรายงานจากผู้ใช้งานบางคนที่ไม่ประสงค์จะเอ่ยนามว่าเขาเคยเข้าชมเว็บชมการ์ตูนญี่ปุ่นเว็บหนึ่ง ก่อนที่เครื่องจะทำงานอย่างหนักจนรีสตาร์ทตัวเองแบบไร้สาเหตุ และภายหลังเขามาทราบอีกทีว่าเว็บนั้นรัน script ขุดเหรียญดังกล่าว
ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าวิธีการแก้ไขนั้น ทางเว็บมาสเตอร์อาจจะต้องปรับลดการตั้งค่าของการดึง CPU ของผู้ใช้งานเว็บให้ต่ำลง และอยู่ในความพอดีไม่มากจนเกินไป หรือไม่น้อยจนเกินไป
สำหรับข้อเสียในด้านอื่นๆนั้น อาจจะนับรวมอุปกรณ์ประเภทพกพาอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุค ที่จะต้องทำงานอยู่บนแบตเตอรี่ สำหรับบางคนที่ใช้งานเว็บที่มี script ขุดเหรียญแบบไม่เสียบสายชาร์จก็อาจจะต้องประสบปัญหาแบตหมดเร็วกว่าปกติ
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
แล้วมันผิดไหม?
คำถามที่ตามมาคือผิดอะไรดีล่ะ? ระหว่างผิดกฎหมาย กับผิดจริยธรรม
โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตราที่ 9 และ 10 ที่มีใจความว่า
- มาตรา ๙ การทำลายแก้ไข/เปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดย มิชอบ
- มาตรา ๑๐ รบกวน/ขัดขวางระบบคอมพิวเตอร์
โดยเนื้อหาบนข้อพ.ร.บ.ได้มีการยกตัวอย่างการกระทำในรูปแบบดังกล่าวที่มีใจความว่า
“ในกรณีที่อาชญากรทางคอมพิวเตอร์ทำการแก้ไขแปลงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ทำการแก้ไขเปลี่ยนข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรือปล่อยไวรัส/ใช้ชุดคำสั่งในทางมิชอบ (Malicious Code) เช่น Viruses, Worms, Trojan Horses ทำให้เสียหาย และทำลายโดยมิชอบ
แต่หากการกระทำดังกล่าวทำให้ระบบคอมฯถูกชะลอขัดขวางจนไม่สามารถทำงานเป็นปกติได้ อาทิเช่น การทำ DOS (Denial of Service) ถือเป็นความผิด ม.10″
ซึ่งหากลองนำมาวิเคราะห์ให้ดีแล้วๆ แม้ว่าสคริปต์ขุดเหรียญดังกล่าวจะไม่ได้เป็น malware ที่ถูกฝังลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ กล่าวคือจะทำงานเมื่อเปิดเว็บไซต์ขึ้น และจะหยุดทำงานเมื่อปิดเว็บไซต์นั้นลง แต่ในบางกรณีถ้าหากเว็บมาสเตอร์ตั้งค่าให้ CPU ของผู้เข้าชมเว็บทำงานหนักแบบเต็มที่ อีกทั้งไม่มีการแจ้งให้ผู้อ่านทราบ จนเป็นเหตุให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้อ่านรวนหรือเสียหาย หรือสูญเสียข้อมูลนั้น ก็อาจจะเสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎพ.ร.บ.ดังกล่าวได้
ซึ่งในกรณีที่ว่านี้ ทางเว็บมาสเตอร์ควรที่จะชี้แจงให้ผู้เข้าชมเว็บทราบถึงการฝัง script ขุดดังกล่าว และควรจะมีเขียนข้อตกลงการใช้งานบอกให้แน่ชัด เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นของทั้งสองฝ่าย
สรุป
แต่หากถามว่ามันผิดจริยธรรมไหม ก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าลักษณะการใช้งานเว็บไซต์เป็นแบบไหน เนื่องจากว่าหลักจริยธรรมบางข้อนั้นไม่ได้ถูกระบุไว้อยู่บนข้อกฎหมาย แต่การกระทำบางอย่างที่ทำไปแล้วอาจทำให้สังคมตั้งคำถาม และแสดงความไม่พอใจ
ถ้าหากเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเว็บที่มีการผลิตคอนเท้นเพื่อแลกกับจำนวน traffic และมีการรัน script ขุดเหรียญที่มีการตั้งค่าการดึง CPU ที่พอดี เพื่อสร้างรายได้แทนการวางแบนเนอร์ และทางเว็บมาสเตอร์ได้มีการแจ้งผู้เข้าเว็บไซต์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วนั้น หลายๆคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ส่วนคนที่ยอมรับไม่ได้ สิ่งที่สามารถทำได้ก็แค่ยกเลิกการใช้บริการเว็บเหล่านั้นไป
แต่ถ้าหากเป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีการแจ้งเตือนผู้เข้าชมก่อน อีกทั้งยังรัน script ขุดที่มีการตั้งค่าการดึง CPU ไว้แบบ maximum นั้น ก็อาจจะเสี่ยงมีความผิดทั้งสองด้านนี้
หมายเหตุ: บทความวิเคราะห์ดังกล่าวถูกทำขึ้นมาเพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ทางสยามบล็อกเชนไม่มีเจตนาชักชวนหรือเชิญชวนให้ผู้อ่านมาใช้งาน script ดังกล่าว ทางผู้อ่านควรจะคิด, วิเคราะห์และแยกแยะตามความสมควร
[poll id=”2″]
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น