<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

แสนสิริจับเทคโนโลยี Blockchain ของ PowerLedger เป็นโมเดลแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าในโครงการ

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

การนำเอาเทคโนโลยี Blockchain เพื่อมาใช้จัดการด้านพลังงานนั้นดูเหมือนว่ากำลังจะเป็นที่ให้ความสนใจกันอย่างมาก ไม่ว่าจะในกลุ่มนักพัฒนา, รัฐบาล หรือแม้แต่ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์

แสนสิริผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ ของประเทศไทย ได้ออกมาประกาศเปิดโครงการนำร่องแลกเปลี่ยนไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยการจับมือ กับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ใช้ต้นแบบเทคโนโลยีของบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย PowerLedger โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับให้ผู้ใช้งานสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าด้วยกันได้

อ้างอิงจากนายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานจัดงานแถลงข่าวในวันนี้ว่า

“แสนสิริก้าวล้ำไปอีกระดับด้วยการร่วมมือกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ด้วยการวางระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ในที่พักอาศัย ซึ่งเป็นครั้งแรกในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสำหรับโครงการที่พักอาศัยทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานผ่านระบบ Blockchain ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

นอกจากนี้ นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ยังได้กล่าวชื่นชมเทคโนโลยีดังกล่าวว่า

“ข้อดีของการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้คือช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ผ่านแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว โปร่งใส และปราศจากข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีคนกลาง ด้วยราคาที่ถูกลงและช่วยลดมลภาวะด้วยการใช้พลังงานสะอาด ตามแนวคิด Low Cost, Low Carbon”

การร่วมมือดังกล่าวนั้น มีเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบ Blockchain ของ PowerLedger เป็นเทคโนโลยีต้นแบบ

นายเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เลดเจอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบ Blockchain กล่าวว่า “การร่วมมือกับแสนสิริและบีซีพีจีนับเป็นก้าวแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังกันระหว่างผู้บริโภค ชุมชน และผู้ผลิตพลังงาน”

สำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารนั้น มร.เดวิดกล่าวเสริมว่า ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการตกลงกันไว้ล่วงหน้าด้วย smart contract  โดยผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่ผลิตได้ เหลือใช้ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ส่วนผู้ที่ผลิตได้เกินจากความต้องการก็จะขายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด

“นับเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของแพลตฟอร์มของเราที่สามารถแยกระดับการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยน  เป็น 2 ขั้นตอน คือระหว่างผู้บริโภคกับบีซีพีจี และระหว่างบีซีพีจีกับพาวเวอร์ เลดเจอร์เพื่อปิดความเสี่ยง ต่อผู้บริโภคในเรื่อง cryptocurrency”

โครงการนำร่องดังกล่าวเริ่มที่ T77 มีผู้ร่วมโครงการ 4 อาคาร ซึ่งเบื้องต้นเป็นกลุ่มนิติบุคคล โดยมีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ภายในโครงการ และการเชื่อมโยงกับสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  ซึ่งแต่ละรายมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า (load profile) และศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่แตกต่างกัน

การดำเนินการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้โดยเทคโนโลยี Blockchain ที่นำมาใช้เพื่อประมวลผลถึงความเหมาะสม ในการกำหนดผู้ซื้อและผู้ขายในความถี่ระดับเสี้ยววินาที โดยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นของบีซีพีจี ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ

ซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานคืออะไร

PowerLedger คือ บริษัทสตาร์ทอัพในออสเตรเลียที่ทำธุรกิจในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบ Blockchain โดยก่อนหน้านี้ PowerLedger สามารถระดมทุนผ่าน ICO ได้ 34 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยเงินทุนดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบตลาดซื้อขายพลังงานแบบ Peer to Peer บนเทคโนโลยี Blockchain ที่เจ้าของแผ่นพลังงานโซลาร์สามารถที่จะเก็บไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาได้อย่างฟรี ๆ แล้วนำมาขายทอดตลาด

นอกจากนี้เมื่อปลายปี 2017 Power Ledger ได้เซ็นสัญญากับ BCPG เพื่อมาเปิดตลาดซื้อขายพลังงานหมุนเวียนได้ในประเทศไทย โดย Power Ledger จะใช้ระบบ Blockchain ระดับโลกเพื่อสร้างระบบ Ledger หรือตัวบัญชีเก็บข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อขายพลังงานไฟฟ้าด้วยกันเองได้

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น