จริง ๆ แล้ว Facebook สร้างเหรียญคริปโตออกมา 2 โปรเจ็ค ซึ่งทาง Facebook ได้ออกมาเผยว่านอกจากเหรียญ Libra แล้วทางบริษัทยังวางแผนที่จะเปิดตัวโทเค็นสำหรับการลงทุน ที่เรียกว่า “Libra investment token” อีกด้วย
โดยโทเค็นเพื่อการลงทุนนี้จะไม่เหมือนโทเค็นอื่น ๆ ตรงที่มันจะเป็นหลักทรัพย์ และจะถูกขายให้แก่กลุ่มลูกค้าพิเศษเท่านั้น ซึ่งก็คือสมาชิกคอนโซเทียมที่เข้าร่วมทำงานกับโปรเจ็ค Libra หรือที่เรียกว่า Libra Association และนักลงทุนที่ได้รับเลือก
เหรียญ Libra จะถูกหนุนด้วยเงินเฟียตหลายสกุลเงินและหลักทรัพย์ของรัฐบาล ส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับจากหลักประกันนั้นก็จะตกอยู่กับผู้ถือโทเค็นสำหรับการลงทุน
จากรายงานก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าทาง Facebook ได้ทดสอบรันโหนดในบริษัททั้ง 28 แห่งที่เป็นคอนโซเทียมร่วมลงทุนกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทาง Facebook ก็ให้โทเค็นเพื่อการลงทุนเป็นรางวัลตอบแทนแก่บริษัทเหล่านั้น และรางวัลนี้จะมีค่าก็ต่อเมื่อเครือข่ายเริ่มทำงาน
“ผลตอบแทนที่ให้แก่นักลงทุนรายแรก ๆ จะเริ่มมากขึ้นเมื่อเครือข่ายประสบความสำเร็จแล้วและเงินสำรองมีมากขึ้น”
Facebook กล่าวในเอกสารชุดหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเสริมจาก White Paper ของ Libra
ผู้ที่ถือโทเค็นจะมีสิทธิเข้ามากำกับดูแลเหรียญ Libra ด้วย นักลงทุนที่ซื้อโทเค็นไม่จำเป็นจะต้องรันโหนดแต่ถ้าเกิดรันโหนดเอง พวกเขาจะไม่ได้รับการโหวตให้เป็นสมาชิก
การปกครอง
Libra Association เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบบการกำกับดูแลมีหลายชั้นและมีองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดคือสภาซึ่งมีตัวแทนของสมาชิกแต่ละองค์กรเข้าไปนั่งอยู่
“สภาได้มอบอำนาจให้ผู้บริหารหลายคนในการจัดการภายในองค์กร แต่สภายังคงมีอำนาจในการกลับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของผู้บริหารและคงไว้ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญกับตัวเองด้วย”
การที่จะเป็นสมาชิกได้นักลงทุนจะต้องลงเงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์ และคุณสมบัติของธุรกิจจะต้องตรงตามเกณฑ์ เช่น อย่างน้อยต้องเป็นลิสต์ที่อยู่ใน Fortune 500
สำหรับการลงทุนทุก ๆ 10 ล้านดอลลาร์สมาชิกจะได้รับหนึ่งเสียงเสียงคะแนนโหวตก็คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนทั้งหมดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรวมอำนาจไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างไรก็ตามรางวัลทางการเงินยังคงได้รับตามสัดส่วนจำนวนเงินที่ลงทุน
สภาจะรับผิดชอบเรื่องการกำกับดูแลมาตรฐาน เช่น การแต่งตั้งทีมผู้บริหารสำหรับสมาคมที่นำโดยกรรมการผู้จัดการและคณะกรรมการบริหารซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลพวกเขา อีกทั้งกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงและจัดการกับเงินสำรอง
ทางหน่วยงานจะเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องทางเทคนิค เช่น การเปิดใช้งานฟีเจอร์ใหม่บนโปรโตคอลและแก้ไขสถานการณ์เมื่อโหนดถูกแทรกแซงและส่งผลกระทบไปยัง Blockchain ของ Libra ส่วนองค์กรย่อย Calibra เป็นหนึ่งในสมาชิกคอนโซเทียมที่ก็นั่งอยู่ในสภาเช่นกันซึ่งองค์กรอื่น ๆ หรือบริษัทสาขาก็จะเข้ามามีบทบาทในการปกครองด้วยเช่นกัน
“เมื่อเครือข่าย Libra เปิดใช้งานแล้ว Facebook และบริษัทสาขาจะมีข้อผูกพันร่วมกัน มีสิทธิพิเศษและพันธกรณีทางการเงินร่วมกันเช่นเดียวกับสมาชิกผู้ก่อตั้งอื่น ๆ บทบาทในการปกครองสมาคมของ Facebook จะเท่าเทียมกับเพื่อนบริษัทสาขาและผู้ร่วมก่อตั้งของเรา”
เงินสำรอง
เหรียญ Libra จะมีสภาพคล่องโดยมีเงินทุนสำรองหนุนไว้อยู่ แม้ว่าเหรียญ Libra จะออกมาในรูปแบบของเหรียญ stablecoin ก็ตามแต่มันก็จะมีการวิ่งขึ้นลงของราคาอยู่บ้างและไม่ได้เป็นเงินที่อิงค่าแบบ fix rate แต่ที่ตัดสินใจออกมาในรูปแบบ stablecoin ก็เพราะไม่อยากให้เหรียญ Libra ผันผวนขนาดเท่า Bitcoin
“การมีเงินทุนสำรองก็เพื่อป้องกันความเสียหายจากความผันผวนของราคาโดยเฉพาะตอนที่ราคามันร่วงหรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา”
“โดยเงินค้ำประกันนั้นประกอบด้วยเงินฝากธนาคารและหลักทรัพย์รัฐบาลจากธนาคารกลางที่มีเสถียรภาพและมีชื่อเสียง เพราะหนี้จากรัฐบาลที่มั่นคงแล้วมันจะไม่ประสบภาวะเงินเฟ้อสูง” ทาง Facebook กล่าว
แทนที่จะวางเงินทั้งหมดไว้กับธนาคารแห่งเดียวแม้ว่ามันจะน่าเชื่อถือมากเพียงใด แต่เงินสำรองของเหรียญ Libra นั้นเลือกที่จะฝากเงินไว้กับรัฐบาลหลายรัฐบาลด้วยกันแทนที่จะเลือกเพียงหนึ่งเดียว
อย่างไรก็ตามองค์ประกอบต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งทาง Facebook กล่าวว่าเหรียญจะได้รับการหนุนอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องแห่กันไปถอนเงินออก
ความเป็นส่วนตัวและการดำเนินการตามกฎหมาย
ทาง Facebook ก็ได้ดำเนินการตามนโยบายด้านการป้องกันการฟอกเงินเช่นเดียวกับเหรียญอื่น ๆ ที่อยู่บน Blockchain เพื่อป้องกันไม่ให้เหรียญถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด โดยทาง Facebook เลือกฝังนโยบายดังกล่าวไว้บน Blockchain ของเหรียญ Libra ดังนั้นบุคคลภายนอกจึงสามารถเข้ามาตรวจสอบได้
ดังนั้นทาง Facebook จึงไม่ใช้อัลกอริทึมแบบ zero-knowledge proof ที่เน้นไปที่การไม่เปิดเผยตัวตนแบบของทาง zcash แต่ถ้าหากใครที่เป็นกังวลเรื่องข้อมูลส่วนตัว ทางบริษัทก็ได้เสนอโมเดลด้านความเป็นส่วนตัวในรูปแบบใหม่ขึ้นมา
“บุคคลหรือองค์กรจะปฏิบัติการบน Blockchain ของ Libra ผ่านบัญชีผู้ใช้ซึ่งแยกออกจากตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริง”
Facebook กล่าว
“ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแต่ละรายการ เช่น ที่อยู่สาธารณะของผู้ส่งและผู้รับ, ช่วงเวลาและจำนวนธุรกรรมจะถูกบันทึกและเปิดเผยต่อสาธารณะ”
การเก็บข้อมูล
จากการที่มีผู้คนหลายคนออกมากังวลเกี่ยวกับประเด็นที่ว่ากลัว Facebook จะเข้าแทรกแซงหรือแอบเก็บข้อมูลส่วนตัวเอาไว้ ทั้งข้อมูลการทำธุรกรรมด้วย ทาง Facebook เลยออกมายืนยันว่า
“Calibra จะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้หรือข้อมูลทางการเงินแก่ Facebook หรือบุคคลภายนอกโดยปราศจากความยินยอมของผู้ใช้งาน”
พร้อมเน้นย้ำอีกว่า:
“ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของ Calibra และข้อมูลทางการเงินจะไม่ถูกใช้เพื่อการโฆษณาของ Facebook หรือบริษัทในเครือ”
แต่มันก็จะมีบางกรณีที่ข้อมูลสามารถถูกเผยแพร่ได้หากเป็นกรณีที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของบุคคลอื่น ๆ และเพื่อดำเนินการตามกฎหมายและให้บริการขั้นพื้นฐานแก่คนที่ใช้ Calibra
ในส่วนของประสบการณ์ผู้ใช้งาน แอปพลิเคชั่นสามารถนำเข้ารายชื่อผู้ใช้งาน Facebook มาสู่วอลเล็ทของ Calibra ได้เพื่อให้สามารถโอนเงินได้สะดวกขึ้น แต่ฟีเจอร์นี้เป็นแบบ opt-in ไม่ใช่ฟีเจอร์อัตโนมัติ
บริษัทตั้งใจที่จะใช้ข้อมูลที่รวบรวมไว้บน Facebook เพื่อแจ้งการอัปเกรดผลิตภัณฑ์ของตนรวมถึงสถิติการใช้งานในระดับภูมิภาคเพื่อตรวจสอบว่ามีการใช้งานของเหรียญมากเพียงใดแล้ว
“หากมีคนเข้าถึงบัญชีของคุณโดยมิชอบและขโมยเหรียญ Libra ไปบางส่วน ทางเรายินดีจะคืนเงินให้คุณ” ทาง Facebook กล่าว
แม้ว่าการเปิดตัวของเหรียญนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่เป้าหมายของผลิตภัณฑ์นั้นชัดเจนซึ่งก็คือความปลอดภัย, ความเป็นส่วนตัวและใช้งานง่ายสำหรับทุกคน
ที่มา coindesk
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น