สำนักงานราชบัณฑิตยสภา หรือหน่วยงานที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีในด้านการจัดทำพจนานุกรม และการบัญญัติหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ได้ออกมาสร้างคำจำกัดความของคำว่า Cryptocurrency แล้ว
โดยอ้างอิงจากเพจบน Facebook ของราชบัณฑิตยสภานั้น ได้มีการโพสต์ภาพอธิบายความหมายของคำว่า cryptocurrency เป็นภาษาไทยว่า
“cryptocurrency
เงินตราเข้ารหัสลับ, คริปโทเคอร์เรนซี
สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม ซึ่งใช้วิทยาการเข้ารหัสลับสำหรับรับประกันความถูกต้องของธุรกรรมนั้น เพื่อควบคุมการสร้างหน่วยเงินดิจิทัลเพิ่ม และเพื่อยืนยันความถูกต้องของการโอนสินทรัพย์ เป็นเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ควบคุมโดยกระจายศูนย์กลางผ่านบล็อกเชน”
ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากการให้คำจำกัดความคำว่าคริปโทเคอร์เรนซีเป็นภาษาไทยนั้น พวกเขายังได้ให้คำจำกัดความของคำว่า blockchain อีกด้วย โดยเขียนอธิบายในอีกภาพที่แยกออกไปว่า
“blockchain
วิธีการเก็บข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลงตามหลักการทางบัญชี โดยการเข้ารหัสและจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ต่อกันตามลำดับเวลาที่ข้อมูลเข้ามา กลุ่มข้อมูลดังกล่าวจะเผยแพร่ไปให้ผู้ใช้ในเครือข่ายที่กำหนดได้ทราบทั่วกัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชนทุกรายการตลอดเวลา”
นอกจากนี้ยังมีคำว่า Bitcoin อีกด้วย โดยให้คำจำกัดความว่า
“bitcoin
บิตคอยน์
ชื่อสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์
ประเภทหนึ่งซึ่งใช้เทคโนโลย ีบล็อกเชน”
ข้อมูลของคำจำกัดความทั้งสองคำนั้นอาจฟังดูสับสนในครั้งแรก แต่หากลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจทีละส่วนนั้น จะค้นพบว่ามันสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดายตามความหมายของมันเอง ยกตัวอย่างเช่น
วิธีการเก็บข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลงตามหลักการทางบัญชี – ที่หมายถึงการจัดเก็บข้อมูลตามหลักการทางบัญชีที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามหลากหลายรูปแบบ เช่น proof of work, proof of stake และอื่น ๆ
โดยการเข้ารหัสและจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ต่อกันตามลำดับเวลาที่ข้อมูลเข้ามา – คือการจัดเก็บข้อมูลเข้าไปใน block แต่ละ block แล้วนำ block เหล่านี้มาเรียงกันเป็นลูกโซ่ ตามลำดับของเวลาที่มีการจัดเก็บข้อมูล
กลุ่มข้อมูลดังกล่าวจะเผยแพร่ไปให้ผู้ใช้ในเครือข่ายที่กำหนดได้ทราบทั่วกัน – หากเป็น public blockchain หรือบล็อกเชนแบบสาธารณะ ข้อมูลนั้นจะถูกกระจายไปให้ผู้ใช้งานในเครือข่ายที่เป็นผู้ถือ node
ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชนทุกรายการตลอดเวลา – คนธรรมดาก็สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบใน block explorer ได้ว่ามีการใส่ข้อมูลอะไรเข้าไปบ้าง ที่ block ไหน เวลาไหน จำนวนเท่าไร โดยสามารถตรวจดูได้ตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ไม่มีหมกเม็ด
แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่อธิบายว่า “ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเปลี่ยนแปลงในบล็อกเชน” อาจทำให้บางคนสับสน เนื่องจากว่าหากมีการบันทึกข้อมูลลงไปใน blockchain และทุก ๆ node ได้รับการยืนยันร่วมกันแล้ว ข้อมูลดังกล่าวใน block ที่ผ่านมานั้นจะไม่สามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อีก ดังนั้นมันจึงน่าจะเป็น “ผู้ใช้ทุกคนจะทราบการเพิ่มเติมรายการการเก็บข้อมูลในบล็อกเชน” มากกว่า
แต่กระนั้น มันก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าคำจำกัดความดังกล่าวนั้นจะถูกนำไปบรรจุไว้ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยในเล่มต่อไปหรือไม่ ซึ่งก็ต้องรอดูการประกาศจากทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป
แล้วคุณล่ะ คิดว่าคำจำกัดความทั้งสองคำนี้มีความตรงและสอดคล้องมากแค่ไหน สามารถใส่ความคิดเห็นด้านล่างนี้ได้
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น