แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นเสียหาย แต่เทคโนโลยีกลับไม่หยุดที่จะพัฒนาไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศจีนที่กำลังจะเปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนของประเทศออกมารวมถึงเงินหยวนดิจิทัล อุตสาหกรรมบล็อกเชนในไทยเองก็ไม่แพ้กันซึ่งก็ได้มีความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีอยู่เรื่อยๆ
ล่าสุดประเทศไทยได้มีการจัดตั้งมูลนิธิด้านบล็อกเชนในนามว่า “มูลนิธิไทยเชน” แล้ว มูลนิธินี้ตั้งขึ้นโดยกลุ่มภาคเอกชน มุ่งผลักดันการใช้งานเครือข่ายบล็อกเชนสาธารณะ thaichain.io หลังจากที่ได้ทราบเรื่องทางเราจึงได้ทำการสัมภาษณ์ไปยังนายโดม เจริญยศซึ่งเป็นประธานกรรมการของมูลนิธิฯ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ให้บริการด้าน cloud server ชื่อดัง DomeCloud และนายธนารัตน์ กัววัฒนาพันธ์รองประธานมูลนิธิไทยเชนนี้
เขาทั้งสองได้ให้สัมถาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนว่าได้ทำการจัดตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริม ให้ความรู้, ดูแลเครือข่ายไทยเชน, ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์ ตามที่ได้กล่าวไว้ในเอกสารวัตถุประสงค์การจัดตั้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือตัวแทนของมูลนิธิได้ให้ข้อมูลว่านอกจากจะดำเนินการมูลนิธิให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งแล้ว ทางมูลนิธินั้นอยากให้มี “Public Blockchain” ในเมืองไทยและนำบล็อกเชนนี้ไปใช้กับระบบการโหวตของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะมีการใช้งานกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Jaymart ด้วย
“เราอยากให้มี Public Blockchain ในเมืองไทย ที่สามารถใช้งานได้โดยมีค่า GAS ไม่แพง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือมีการใช้ Thaichain ในการทำระบบ AGM Voting การประชุมผู้ถือหุ้นผ่าน Blockchain โดยจะมีการใช้งานจริงกับการประชุมผู้ถือหุ้นของ Jaymart จำกัด (มหาชน)”
“เราให้ความรู้นักเรียนนักศึกษา เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากร เราดูแลเครือข่าย เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้สนใจใช้งานได้สะดวก เราร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทำโครงการด้านบล็อกเชนที่มีประโยชน์หลายโครงการ” นายธนารัตน์ กล่าวเสริม
นอกจากนี้นายธนารัตน์ยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่าตอนนี้ทาง Thaichain ได้ทำโครงการนำร่องกับตัวบริษัท JVentures ที่ออกเหรียญ JFIN อยู่ซึ่งจะเป็นการเอาบล็อกเชนมาใช้ในการลงความเห็นการประชุมผู้ถือหุ้นอีกด้วย
โปรเจคหลักที่ช่วยเหลือคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางไทยเชนนั้นได้มีการกล่าวยกตัวอย่างถึงการนำบล็อกเชนมาใช้กับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Meeting) ด้วย วิธีการดำเนินการประชุมและการลงคะแนนเสียงโดยปกตินั้นจะเป็นการใช้ Paper Work แบบธรรมดา แต่ด้านของไทยเชนก็ได้ไปศึกษาข้อมูลว่าการประชุมนี้สามารถทำในรูปแบบ e-meeting ได้
นายธนารัตน์ก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนเสียงในการประชุมเอาไว้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นเจ้าของสิทธิ์ผ่าน Digital ID ซึ่งใช้ระบบของ NDID มาช่วย (เป็นระบบบล็อกเชน) โดยจะดำเนินการตามมาตรฐาน IAL 2.3, AAL 2.2 จากนั้นแต่ละการประชุมจะประกอบไปด้วยหลายวาระซึ่งแต่ละวาระจะใช้ smart contract แยกกัน
ก่อนประชุมผู้จัดประชุมจะทราบอยู่แล้วว่ามีใครมีสิทธิ์เข้าประชุมบ้างและนำหมายเลขบัตรประชาชนไปเข้ารหัส
“เนื่องจากเลขบัตรประชาชนเป็นข้อมูลส่วนตัว จึงต้องเข้ารหัสซ่อนเอาไว้ แล้วเอาไปลงทะเบียนใน smart contract ว่ามีใครบ้างที่มีสิทธิ์ลงความเห็น”
วิธีการโหวตก็คือส่งหมายเลขบัตรประชาชนที่เข้ารหัสแล้วพร้อมความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่จากนั้นข้อมูลก็จะถูกเก็บบันทึกเก็บไว้บนบล็อกเชนเพื่อให้สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของคะแนนได้อย่างโปร่งใส
“เจ้าของสิทธิ์จะทราบว่าคะแนนเสียงตัวเองมีอยู่จริง แต่คนนอกจะไม่รู้ว่าใครลงความเห็นว่าอย่างไรเพราะบัตรประชาชนเข้ารหัสไว้ มีเพียงเจ้าของบัตรที่รู้ว่าหน้าตาของบัตรประชาชนตนเองที่เข้ารหัสแล้ว เป็นอย่างไร มันคือหลักการ anonymous vote ครับแก้ปัญหาเรื่องการถูกแทรกแซงความเห็นจากบุคคลที่สาม (เช่น ซื้อขายเสียง)” นายธนารัตน์กล่าวเสริม
นอกจากนี้ระบบการโหวตนี้ยังรองรับการแต่งตั้งตัวแทนมาลงความเห็นด้วย เช่น ถือหุ้นผ่านกองทุนตัวแทนกองทุนจะเป็นคนลงคะแนนเสียงโดยปกติจะต้องทำใบมอบอำนาจแต่ด้วยกฎหมาย Digital ID จึงสามารถทำระบบมอบอำนาจกันแบบออนไลน์ด้วยมาตรฐาน AAL 2.2 และบันทึกหลักฐานลงบนบล็อกเชนของ NDID
การลงคะแนนเสียงโดยการแต่งตั้งตัวแทนมีหลักการคือเจ้าของสิทธิ์เปิดแอพขึ้นมา กดมอบอำนาจ แล้วแสกน QRCode ของผู้รับอำนาจ จากนั้นก็ยืนยันตัวตามมาตรฐาน AAL 2.2 กรอก PIN code, ตรวจ OTP ที่ส่งให้ทาง SMS, ถ่ายรูปใบหน้า เพื่อทำ Biometric check แบบ liveness เป็นการยืนยันตัวแบบ 3-factor authen และบันทึกผลลง Blockchain ของ NDID
ตัวแอปพลิเคชันสำหรับการโหวตนี้ทางไทยเชนก็วางแผนจะเปิดเป็น opensource เพื่อความโปร่งใสอีกด้วย
“เนื่องจากการโหวตจะเป็นการทำธุรกรรมจากโทรศัพท์ของผู้มีสิทธิ์ ต่อตรงเข้ากับ Thaichain ผ่าน Web3 API ครับไม่มีการส่งข้อมูลมาที่ server เราเลยเป็นการคุยกันตรงๆ ระหว่างแอพกับ Thaichain”
การนำ Blockchain มาใช้กับการลงคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นทำให้คะแนนเสียงมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อีกหนึ่งกรณีใช้งานจริงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ไม่ใช่แค่เป็นฐานของการสร้างคริปโตเคอร์เรนซีอย่างเดียว
ด้านประธานกรรมการมูลนิธิก็ได้มองว่าบล็อกเชนนั้นสามารถนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้มหาศาลและเขาเชื่อว่าในอนาคตจะมีกรณีใช้งานจริงเกิดขึ้นอีกมากมาย
“พี่คิดว่า Blockchain มันได้ก้าวผ่านเรื่อง คริปโต ไปแล้วการใช้งานจริงๆ แบบไม่มีคนกลางและน่าเชื่อถือ กำลังทะยอยมาครับ”
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น