ดูเหมือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาอัพเดทข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ของพวกเขาหรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ล่าสุดผ่าน infographic เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวโดยง่าย ซึ่งมันไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อภูเขาเหมือนกับที่หลายๆคนเข้าใจ
โดยอ้างอิงจาก Facebook Page ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้มีการโพสต์ภาพเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการอินทนนท์ของพวกเขา โดยหลักๆนั้นเป็นการอธิบายไฮไลท์คร่าวๆของขั้นตอนและระยะในการพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยประกอบไปทั้งหมด 3 ระยะด้วยกันซึ่งก็คือ
- ระยะที่ 1 สร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยี DLT หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า Blockchain
- ระยะที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถของระบบการชำระเงินต้นแบบที่ครอบคลุมกิจกรรมการเงินที่ซับซ้อน
- ระยะที่ 3 การออกแบบระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ
จุดที่น่าสนใจก็คือพวกเขาได้มีการแสดงภาพที่เผยให้เห็นถึงแผนภูมิการพัฒนาร่วมกับสถาบันการเงินทั้งในไทยและต่างประเทศทั้งหมด 8 Pack ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ธนาคารกรุงศรี, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกสิกรไทยและ HSBC ซึ่งตรงกับข้อมูลในช่วงตอนแรกที่มีการเผยว่าเหรียญคลิปโตของแบงค์ชาตินั้นจะถูกนำไปใช้เพียงแค่ในระบบของสถาบันการเงินเท่านั้นแต่ยังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้
สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าทำไมเหรียญดังกล่าวถึงต้องถูกตั้งชื่อว่าอินทนนท์นั้น ทางสยามบล็อกเชนเคยได้รายงานไปแล้วว่าผู้คุมโครงการดังกล่าวเคยออกมาอธิบายว่าปัจจุบันรัฐบาลในหลายๆประเทศได้มีการพัฒนาโครงการเหรียญคลิปโตของพวกเขา และส่วนใหญ่ก็มักจะตั้งชื่อโครงการตามชื่ออุทยานแห่งชาติของประเทศตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่นของแคนาดามีโครงการ Jasper ที่ตั้งชื่อตามอุทยานแห่งชาติ Jasper, สิงคโปร์ใช้ชื่อว่า Ubin โดยตั้งตามอุทยานแห่งชาติ Ubin และฮ่องกงที่มีการตั้งชื่อโครงการของพวกเขาตามอุทยานแห่งชาติ Lion Rock ซึ่งนั่นจึงเป็นสาเหตุที่โครงการเหรียญของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องตั้งชื่อตามอุทยานแห่งชาติในประเทศไทยบ้าง ซึ่งก็คืออินทนนท์
“ของเราก็เป็นอินทนนท์ ก็จะเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย”
กล่าวโดยคุณวิจักขณ์ ศรษฐบุตร ตำแหน่ง Senior Developer Project Inthanon
นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเคยได้ออกมาประกาศขยายโครงการเหรียญคริปโต ‘อินทนนท์’ ไปภาคเอกชน ผลักดันการใช้งานให้มีการใช้กันมากขึ้น และบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัดมหาชนก็ได้เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเริ่มที่จะมีความจริงจังกับเทคโนโลยีบล็อกเชนดังกล่าวมากขึ้น
ขอขอบคุณภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย