สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ได้ออกมาโพสต์ผ่าน Facebook ของพวกเขาในวันนี้ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่ม “บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจใหม่ และการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือกระทำความผิด รวมถึงการกำหนดสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อขายเหรียญ privacy coins
โดยอ้างอิงจากโพสต์ของพวกเขาบน Facebook นั้น ทาง ก.ล.ต. ได้ออกมาโพสต์กล่าวว่า
“ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการเพิ่ม “บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจใหม่ และการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือกระทำความผิด
เพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมและคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่ม “ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจประเภทใหม่ตาม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ และการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือกระทำความผิด พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางกำกับดูแลดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=690
ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564”
โดยที่น่าสนใจก็คือ ในส่วนของแบบรับฟังความคิดเห็นข้อ 4.2 ทางก.ล.ต. ได้มีการเขียนระบุเกี่ยวกับ “ข้อกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อขาย privacy coin” และนั้นเป็นการบอกใบ้นัย ๆ แล้วว่าตอนนี้ทางก.ล.ต. ไทยกำลังจับตาดูเหรียญ privacy coin อย่างใกล้ชิด
หลังจากที่ได้อ่านแบบรับฟังความคิดเห็นของทางก.ล.ต.ในวันนี้ ทางสยามบล็อกเชนได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้โดยตรง และจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณหนึ่ง ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งโปรเจคเหรียญ privacy coin ชื่อดังในไทยอย่าง Firo (ชื่อเดิม Zcoin)
ทีมงาน Siam Blockchain :
คุณหนึ่งมีความคิดเห็นอย่างไรที่กลต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อขายเหรียญ privacy coins ครับ
คุณปรมินทร์ :
สำหรับคำถามนี้ ผมต้องบอกก่อนเลยนะครับว่า “privacy coins” มีคำนิยามที่กว้างมาก คือ ถ้าเราเข้าไปอ่านแบบรับฟังความคิดเห็นของทางก.ล.ต. เราจะเห็นได้เลยนะครับว่าทางก.ล.ต.ได้กำหนด privacy coin ว่าเป็น cryptocurrency ประเภทหนึ่งที่สามารถปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรม โดยอนุญาตให้ผู้ใช้ควบคุมสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยข้อมูลผู้โอนหรือผู้รับหรือผู้ที่ทำธุรกรรมระหว่างกันได้ ดังนั้นธุรกรรมของผู้ที่ถือ privacy coin จึงสามารถตรวจสอบได้ยากและมีความเสี่ยงต่อกฏหมายต่อต้านการฟอกเงิน AML/CFT ยกตัวอย่างเช่นเหรียญ Monero, Zcash และ Dash
โดยผมจะบอกว่าคำนิยามตรงนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ข้อย่อย ๆ คือ 1. ผู้ใช้มีสิทธิ์ในการที่จะปกปิด Wallet ของผู้โอน 2. ปกปิด Wallet ของผู้รับ หรือ 3. ธุรกรรมที่ทำระหว่างกันได้ ซึ่งในฟีเจอร์ตรงนี้เหรียญคริปโตตัวอื่น ๆ ก็สามารถรับรองการทำธุรกรรมแบบ Privacy ได้ด้วยเหมือนกันเช่น Tornado cash ของ Ethereum ถึงแม้มันอาจจะไม่ได้ดีเท่า Firo ก็ตาม
ซึ่งเราจะเห็นแล้วว่าถ้ามีคนนำ Ethereum ไปใช้ Tornado cash ทำธุรกรรมที่ปกปิด มันจะก็ไปตรงกับสิ่งที่ก.ล.ต.นิยามทันทีว่า ผู้โอนก็ปกปิด ผู้รับอาจจะปกปิดหรือไม่ปกปิดก็ได้ แต่การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างกันมันสามารถปกปิดได้ ดังนั้นพอนิยามมันกว้างแบบนี้มันจะถือว่าเหรียญคริปโตทุกเหรียญเข้าข่ายคำนิยามนี้หมด
ผมเลยคิดว่าคำนิยามนี้น่าจะยังไม่ make sense ซึ่งผมเชื่อว่าคำนิยามของ Privacy ควรจะเป็นการบังคับไปเลยว่ามันจะต้องปกปิดทั้งผู้ส่ง ผู้รับและธุรกรรมที่ทำระหว่างกัน มันถึงจะดู make sense เหมือนกับเหรียญ Monero ที่ปกปิดทั้งผู้ส่ง ผู้รับและธุรกรรมที่ทำระหว่างกัน แบบนี้ถึงได้เรียกได้ว่ามันเป็นเหรียญ privacy coin จริง ๆ แต่สำหรับเหรียญอื่น ๆ ที่สามารถเปิดก็ได้ ปิดก็ได้ จะทำธุรกรรมแบบปกปิดหรือไม่ก็ได้ ผมมองว่ามันไม่น่าจะเข้าข่ายของคำว่า privacy coin เพราะเราอนุญาตให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะทำธุรกรรมแบบปกติหรือไม่เปิดเผย ดังนั้นในเรื่องคำนิยามตรงนี้ผมเลยรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่
ทีมงาน Siam Blockchain :
ถ้าก.ล.ต.ไทยสั่งให้มีการถอดถอนเหรียญ privacy coin ออกจากเว็บกระดานเทรด คุณหนึ่งมีความเห็นว่าอย่างไรครับ
คุณปรมินทร์ :
เหมือนผมพูดไปก่อนหน้านี้ครับว่า การที่เรามี product หลาย ๆ อันให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ มันเป็นทางเลือกอยู่แล้ว และปัจจุบันทุก ๆ ธุรกรรม ทุก ๆ การซื้อขายทางทีมงานของเราก็ได้ส่งให้กับทางก.ล.ต.อยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่มีการซื้อขายผ่าน Exchange ก.ล.ต.จะรู้อยู่แล้วว่า ใครเป็นผู้ที่ซื้อหรือใครเป็นผู้ที่ขาย ดังนั้นผมเองจึงมองว่าทำไมถึงจะต้องห้ามหรือถอดถอนเหรียญ privacy coin ออกด้วย เพราะว่าทุกธุรกรรมมันรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นคนซื้อ ใครเป็นคนขาย ใครโอนเข้า ใครโอนออก
ทีมงาน Siam Blockchain :
คุณหนึ่งพอจะทราบมั้ยว่าทำไมก.ล.ต.ถึงให้ความสนใจเกี่ยวกับ privacy coin ในไทย ในช่วงเวลานี้ครับ
คุณปรมินทร์ :
ผมมองว่าตอนนี้ก.ล.ต.น่าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง Financial Action Task Force (FATF) นะครับ เพราะต้องการที่จะเข้าร่วมด้วย ซึ่งทาง FATF เองก็ไม่ได้พูดเจาะจงนะครับว่าจะต้องเอาตัว privacy coin ออกจากกระดานเทรด โดยในรายละเอียดของเขา เขาบอกอยู่แล้วครับว่ามันจะต้องตรวจสอบได้ว่าใครคือผู้โอนหรือผู้รับ ซึ่งปัจจุบันทาง Exchange เองก็เป็นผู้เก็บข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้วครับ และตอนที่สมัครลงทะเบียนเทรดผู้ใช้ก็ต้องทำการยืนยันตัวตน KYC อยู่แล้ว ดังนั้นธุรกรรมที่ลูกค้าโอนออกไปแม้แต่เหรียญ Monero เองทางเราก็เก็บอยู่แล้วครับว่าใครเป็นคนซื้อและเขาโอนออกไปที่ Address ไหน
ผมก็เลยไม่เข้าใจว่าข้อมูลตรงมันมีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องเอา privacy coin ตรงนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นสำหรับการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้นะครับ ดังนั้นผมเลยมองว่าสำหรับเรื่องรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ privacy coin ผมว่าเราควรกลับไปทบทวนคำนิยามของ privacy coin ก่อน เพราะอย่างที่ผมบอกปัจจุบันคำนิยามมันได้รวม Ethereum เข้าไปด้วย ผมเลยคิดว่ามันไม่ถูกต้องครับ
ปัจจุบันนอกจากเหรียญ Firo จะมีให้เทรดบน Satangpro แล้วยังเปิดให้มีการซื้อขายบนเว็บกระดานเทรดชั้นนำอย่าง Binance, Huobi และ Bittrex อีกด้วย อ้างอิงข้อมูลจาก Coinmarketcap
สำหรับใครที่ต้องการโหวตแบบรับฟังความคิดเห็นของก.ล.ต. เกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลเพื่อป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือกระทำความผิด และแนวทางกำกับดูแลผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถเข้าไปร่วมโหวตกันที่นี่