<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สรุปการพิจารณาคดีเบื้องต้นของ Ripple VS ก.ล.ต.สหรัฐฯ

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

การขึ้นศาลครั้งแรกของคดีการฟ้องร้องอันโด่งดังในวงการคริปโตเมื่อปลายปี 2020 ระหว่างทางฝั่งโจทก์อย่างก.ล.ต.สหรัฐฯ (SEC) และจำเลย 3 บุคคลได้แก่ บริษัท Ripple, นาย Brad Garlinghouse และ Christian Larsen ได้ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในการเข้ารับฟังการพิจารณาคดีเบื้องต้น (Pre-Trial) นี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนเกือบร้อยชีวิตสลับหมุนเวียนเข้าออกตลอดการพิจารณาคดี ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นคณะอาจารย์และกลุ่มนักเรียนกฎหมายวิชาเทคโนโลยีบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล และกฎระเบียบของรัฐบาลที่เข้าร่วมรับฟังเป็น Case Study

ภายหลังจากกระบวนการพิจารณาคดีเบื้องต้นได้เสร็จสิ้นลง ทนายความชื่อดังนาย Jeremy Hogan ได้ออกมาสรุปและพูดคุยถึงเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีให้กับผู้ติดตามเกือบ 5 หมื่นคนได้รับรู้ผ่าน Youtube Chanel ที่ชื่อ Legal Briefs ซึ่งมีผู้รับชมแล้วกว่า 120,000 ครั้ง

ก.ล.ต.สหรัฐฯ เปิดก่อนได้เปรียบอาจไม่จริงเสมอไป

โดยศาลเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ทั้งโจทก์และจำเลยนำเสนอเอกสารและข้อมูลต่อศาล ซึ่งมีเวลาเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายหยิบยกแต่เพียงประเด็นใหญ่ ๆ ขึ้นมา

ผู้พิพากษา Analisa Torres เริ่มต้นให้ทางฝั่งของโจทก์ชี้แจงก่อนโดยอัยการทางฝั่งโจทก์ได้กล่าวถึงการที่นาย Brad Garlinghouse ออกมาพูดว่า “I’m long XRP, very very long XRP” นั่นหมายถึงการเปิด Long Position เหรียญ XRP เพื่อทำกำไรในปี 2017 อีกทั้งยังกล่าวถึงการที่ทำให้เหรียญ XRP นั้นเปรียบเสมือนกับหุ้น 

ซึ่งนาย Hogan มองว่าหากทางฝั่งโจทก์ต้องการที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาอย่างได้เปรียบล่ะก็ควรจะแสดง “สัญญาการลงทุน” (Investment Contract) ต่อศาลซึ่งสัญญาการลงทุนดังกล่าวอยู่ในหมวดหมู่หนึ่งของหลักทรัพย์ โดยเขามองว่านี่จะเป็นข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักมากที่สุดของทางฝั่งโจทก์

แต่ปรากฏว่าทางฝั่งโจทก์นั้นไม่มีการแสดงหลักฐานเอกสารสัญญาในจุดนี้แต่กลับเปลี่ยนไปเป็นการแถลงการณ์ในกรณีถัดมาแทนนั่นก็คือ การที่บริษัท Ripple ทำการโฆษณาและกล่าวเชิงเหรียญ XRP นั้นเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการทำการตลาดที่มีลักษณะเข้าข่ายกับสัญญาการลงทุน

นาย Hogan มองว่าในกรณีนี้จากการนำเสนอของทางฝั่งโจทก์ต่อศาลนั้นดูเหมือนจะมีน้ำหนักไม่มากพอ อาจจะต้องปัดตกไปในภายหลัง

มาถึงข้อสุดท้ายที่ทางโจทก์ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือโต้ตอบใด ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทางบริษัท Ripple โดยนาย Hogan ตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อทางฝั่งโจทก์ได้ยื่นข้อโต้แย้งนี้ให้แก่ศาลไปตั้งแต่คำแถลงเปิดคดี (Opening Statement) แต่ทำไมถึงไม่มีการพูดถึงในการขึ้นศาลครั้งแรกนี้ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจมากสำหรับนาย Hogan 

Ripple พิสูจน์แล้วว่าเปิดทีหลังอาจจะดังกว่า

มาถึงทางฝั่งของจำเลยทั้ง 3 บ้างที่นาย Hogan กล่าวว่ามีความน่าสนใจมากกว่า โดยอัยการนาย Andrew Ceresney ที่กล่าวแทนบริษัท Ripple ดูเหมือนจะทำให้คำแถลงการณ์ของทางจำเลยนั้นมีน้ำหนักมากกว่าและใช้เวลานานกว่าการแถลงการณ์ของทางฝั่งโจทก์

โดยเริ่มต้นจากทางด้านอัยการ Ceresney กล่าวว่า “XRP นั้นเป็นสินทรัพย์กระจายอำนาจ (Decentralized Digital Asset) ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมาแล้วกว่า 8 ปี และในเดือนที่ผ่านมา มีการใช้งาน XRP ทำธุรกรรมมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่ง ‘ส่วนใหญ่’ แล้วไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท Ripple เลยแม้แต่น้อย”

ในข้อต่อมาทีมกฎหมายจากทางบริษัท Ripple ชี้ว่าในปี 2015 นั้น เครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐฯ หรือ Fincen (US Financial Crimes Enforcement Network) ได้ระบุว่า XRP เป็น ‘สกุลเงิน’ ซึ่งทำให้หลายประเทศทั่วโลกร่วมตัดสินใจกันว่า XRP นั้นไม่ใช่หลักทรัพย์ 

อีกทั้งการทำงานของ XRP จะดูเหมือน Bitcoin และ Ethereum เสียมากกว่า ซึ่งเหรียญดิจิทัล 2 ตัวดังกล่าวผ่านการรับรองโดยก.ล.ต.สหรัฐฯ และถูกระบุว่าไม่ใช่หลักทรัพย์อย่างแน่นอน

ต่อมาทีมกฎหมายจากทาง Ripple ระบุสั้น ๆ ว่าบริษัท Ripple ขาย XRP ราวกับสินทรัพย์โดยไม่ได้มีการทำสัญญากับผู้ซื้อว่าจะส่งเสริม XRP 

ส่วนข้อต่อมานาย Hogan กล่าวชมทีมกฎหมายของ Ripple ว่าสามารถทำได้ดีและมีการยกตัวอย่างเคสของ Telegram มาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตามต้องรอข้อมูลและการอธิบายเพิ่มเติมในการขึ้นศาลครั้งหน้า

และในข้อสุดท้ายของการนำเสนอจากทางฝั่งจำเลยนั้น ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมากโดยทางฝั่งของ Ripple ระบุว่าเมื่อปี 2019 มีแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตจำนวนมากสอบถามไปยังก.ล.ต.สหรัฐฯว่า 

“XRP เป็นหลักทรัพย์หรือไม่ แล้วพวกเราจะสามารถขายเหรียญดิจิทัล XRP บนกระดานเทรดได้หรือไม่ ถ้าไม่ เราจะได้หยุดขายมันและไม่ทำการขายมันต่อ” แต่ในการตอบกลับของก.ล.ต.สหรัฐฯ นั้นไม่ได้ระบุว่า XRP เป็นหลักทรัพย์ และไม่ได้มีการห้ามปรามแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการขาย XRP อีกด้วย

จึงทำให้นาย Hogan ตั้งข้อสังเกตว่าจากการที่ไม่ระบุคำตอบดังกล่าวและอนุญาตให้แพลตฟอร์มขายเหรียญ XRP มาอย่างต่อเนื่อง แล้วเหตุใดในปีถัดมาจึงมีการฟ้องร้องบริษัท Ripple ในข้อหาที่ XRP เป็นหลักทรัพย์ “ภายในระยะเวลา 1 ปี XRP จะกลายเป็นหลักทรัพย์งั้นหรือ?” ทนายความชื่อดังกล่าว

และไฮไลท์สุดท้ายของการพิจารณาคดีความครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการไต่สวนได้สิ้นสุดลง เมื่อมีชายนิรนามคนหนึ่งได้ตะโกนขึ้นกลางห้องพิจารณาคดีว่า “XRP to the moon” สร้างเสียงหัวเราะเล็ก ๆ น้อย ๆ และเปลี่ยนบรรยากาศที่ตึงเครียดให้ผ่อนคลายลงได้

ซึ่งข้อพิพาทและการโต้แย้งในการขึ้นศาลครั้งนี้ยังคงมีความเข้มข้นและตึงเครียดจากทั้ง 2 ฝั่ง โดยยังไม่มีการตัดสินใด ๆ จากทางศาล ซึ่งต้องรอการรวบรวมหลักฐาน เอกสาร รวมถึงการประกาศอย่างเป็นทางในการนัดวันขึ้นศาลอีกครั้งในอนาคต ขอให้นักลงทุนทุกท่านโปรดรอติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด