NFT Geniuses ใน Episode นี้ทาง Siam Blockchain ได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินอีกหนึ่งท่านที่มากความสามารถทั้งด้านดนตรีและศิลปะ ซึ่งมีผลงานเพลงชื่อดังมากมายที่หลายคนรู้จักอย่าง “โปรดส่งใครมารักฉันที” และ “ขอโทษ…หัวใจ” ที่มียอดวิวกว่า 100 ล้านครั้งบน Youtube
หากเอ่ยนามไปวัยรุ่นขาร็อคจะต้องร้องอ๋อไปตาม ๆ กัน ซึ่งศิลปินท่านนั้นก็คือ “ปาล์ม ปรียวิศว์ นิลจุลกะ” หรือพี่ปาล์ม ฟรอนต์แมนแห่งวง “Instinct” นั่นเอง แล้วอะไรทำให้นักร้องขวัญใจวัยรุ่นอย่างพี่ปาล์มกระโดดเข้ามายังโลกของ NFT? แถมยังเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเชิญให้เป็น 1 ใน 100 Creators บน Binance NFT Marketplace อีกด้วย ไปติดตามกันได้ในบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้
จุดเริ่มต้นของ “ปาล์ม Instinct” กับผลงานศิลปะ NFT
ต้องย้อนกลับไปถึงสมัยเรียนของพี่ปาล์มที่มีความสนใจในศิลปะเป็นทุนเดิม โดยเจ้าตัวจบการศึกษาจากเอกจิตรกรรม คณะศิลปะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จึงทำให้ได้คลุกคลีกับแวดวงศิลปะและสร้างสรรค์ผลงานมาอย่างยาวนานภายใต้ชื่อ “Mr.Sexman”
ซึ่งจุดเริ่มต้นของพี่ปาล์มและ NFT นั้นมาจากกระแสของ “Crypto Arts” ที่มาแรงอย่างมากในปีนี้ทั้งในเรื่องของการสร้างรายได้ให้แก่ศิลปินและเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับผลงานศิลปะ จึงทำให้พี่ปาล์มเริ่มศึกษา NFT อย่างจริงจังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ตอนแรกได้ยินข่าวเรื่อง Crypto Arts มาอย่างหนาหูมาก คนก็เริ่มพูดว่ามันดีอย่างนู้นดีอย่างนี้ ในตอนแรกก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ฮ่า ๆ ต้องเข้าไปอ่านในบทความว่ามันดียังไง ซึ่งมีคนทำรายได้จากมันค่อนข้างสูงมาก”
คนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ศิลปินบนกระดานซื้อขาย NFT ของ Binance?
ภายหลังจากการศึกษา NFT และเริ่มแปลงผลงานศิลปะของตนเองที่มีเอกลักษณ์อย่างโดดเด่นสู่ดิจิทัล พี่ปาล์มก็ได้ถูกรับเชิญให้เป็น 1 ใน 100 Creators บน Binance NFT Marketplace โดยเป็นคนไทยคนแรกและหนึ่งเดียวที่ได้อยู่ในลิสต์ร่วมกับศิลปินชั้นนำอื่น ๆ อีก 99 คนทั่วโลก เป็นการเปิดตัวผลงานศิลปะดิจิทัลบนตลาดการซื้อขาย NFT ของ Binance กระดานเทรดคริปโตเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งพี่ปาล์มได้เล่าถึงความประทับใจในครั้งนี้ว่า
“เราบอกเลยว่าเราน่าจะฟลุ๊คมาก ๆ คือเราใหม่มากสำหรับ NFT ตอนนี้ก็ยังใหม่อยู่นะ ฮ่า ๆ คือจริง ๆ งานเรายังไม่เป็นดิจิทัลสักชิ้นเลยนะ เราเอางานเราที่ Paint แล้วมาแปลงให้มันขยับได้ เดาว่าทาง Binance เค้าน่าจะเห็นที่เราลงข่าวในไทย ก็เลยติดต่อมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ดีที่ได้ลอง”
โดยผลงานของเจ้าตัวที่ได้นำไปโชว์บน Binance NFT Marketplace มีอยู่ด้วยกัน 2 คอลเลคชันนั่นก็คือ “Siam Rengers” และ “Death of Bob” ภายใต้ชื่อของ Mr.Sexman
แนวคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปะของปาล์ม Instinct กับผลงานชุด “Siam Rengers” และ “Death of Bob” ภายใต้ชื่อ Mr.Sexman
โดยพี่ปาล์มเล่าว่า Mr.Sexman เป็นชื่อที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี ได้รับอิทธิพลมาจากความเป็นญี่ปุ่นที่เจ้าตัวเคยได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในวัยเด็ก ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นธีมของ Sex การเสียดสี และสังคมไทย ทำให้เห็นภาพสะท้อนของช่วงเวลานั้น ๆ
Mr.Sexman มีที่มาจากอะไร ทำไมจึงต้องเป็น Mr.Sexman?
“Mr.Sexman มันเริ่มมาจากการทำงานช่วงแรก ๆ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เกี่ยวกับธีมของ Sex เกี่ยวกับสังคม การเสียดสีพฤติกรรมมนุษย์ การแสดงออกทางพฤติกรรมโดยมี Sex เป็นแรงผลักดัน”
“เช่น คนเราทำไมต้องไปดู Motor Show ทั้ง ๆ ที่เราไม่มีตังค์ซื้อรถ? ทำไมเราถึงต้องไปเที่ยวผับทั้ง ๆ ที่กินเหล้ากับเพื่อนที่บ้านก็ได้? เราก็เอาเรื่องพวกเนี้ยมาทำเป็นงาน โดยมีเรื่อง Sex กลายเป็นตัวล่อ”
พี่ปาล์มยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “Mr.Sexman มันเป็นชื่อของชายคนหนึ่งที่ใส่หน้ากากและก็ใส่แว่นดำ มันคือตัวเราเอง เราเอาตัวเรามาทำเป็นงาน ซึ่ง Character ของผู้ชายคนเนี้ยจริง ๆ เราหยิบมาจากอาจารย์อากิระ โทริยามะ ที่เขียน Dragon Ball เวลาแกโผล่มาในการ์ตูน แกจะชอบใส่หน้ากากและก็แว่นตาดำ ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นสัญลักษณ์ของคนแนวกึ่ง ๆ โรคจิตหน่อย”
โดยในวัยเด็กของพี่ปาล์ม เจ้าตัวได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาพอสมควร ส่งผลให้ผลงานศิลปะมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น และเป็นที่มาของชื่อ Mr.Sexman ซึ่งก็ใช้ชื่อนี้ยาวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 ในการสร้างผลงานศิลปะจวบจนปัจจุบัน จากนั้นเมื่อได้รู้จักกับโลกศิลปะดิจิทัล หรือ NFT พี่ปาล์มจึงได้นำ Mr.Sexman และผลงานของเขาเข้ามามีส่วนร่วม
แนวคิดของผลงานชุด “Siam Rengers”
เป็นผลงานชุดแรกที่ได้ทำเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วและบางส่วนก็นำไปแปลงเป็น NFT (แฟน ๆ สามารถติดตามผลงานชุดนี้ได้ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT อย่าง Foundation และ Opensea) ซึ่งแนวคิดผลงานชุดนี้พี่ปาล์มเล่าว่า
“มันมาจากสมัยนู้นการชุมนุมเสื้อแดง เรื่องราวชื่อเสียงของตำรวจก็รู้ ๆ กันอยู่ เราก็คิดในใจว่าจริง ๆ แล้วตำรวจมันก็คน มีทั้งดีและไม่ดี คนที่เรารู้จักเค้าเป็นผู้กำกับเค้าก็นิสัยดี๊ดี ไม่มีอะไรเลย เราก็เลยคิดว่าทำเรื่องพวกนี้น่าจะสนุกดี”
“พอเบื่อเรื่อง Sex แล้วก็เลยมาทำเรื่องสังคมบ้าง เพราะตอนนั้นเรื่องตำรวจก็ค่อนข้างฮอต ก็เลยอยากสร้าง Character ของตำรวจให้มันดูเป็นแบบยอดมนุษย์ 5 สี แบบพาวเวอร์เรนเจอร์ เพื่อเป็นคำถามไปยังฝั่งนู้นว่าแบบ คุณจะเป็นฮีโร่จริง ๆ หรือเลือกจะเป็นฮีโร่ที่หลอกเด็กไปวัน ๆ”
แนวคิดของผลงานชุดล่าสุดกับ “Death of Bob”
พอจบงานชุด Siam Rengers พี่ปาล์มเล่าว่าได้ห่างหายจากการสร้างสรรค์ผลงานไปราว 2 ปี และเมื่อผ่านเรื่องราวชีวิตมาอย่างมากมายจนน่าจะถึงวัยที่น่าทำเรื่องเกี่ยวกับความตาย จึงทำให้เกิดผลงานชุดต่อมานั่นก็คือ “Death of Bob”
“ช่วงนั้นก็เราก็ผ่านเรื่องตาย ๆ มาพอประมาณ คุณพ่อเสียบ้าง แมวตายบ้าง แล้วใจก็คิดว่าในอนาคตกังวลว่าตัวเองจะตายคนเดียว กลัวมันเหงามันบอกไม่ถูก เราก็เลยทำเรื่องนี้ดีกว่า เหมือนกับว่าเรากลัวอะไรก็ให้อยู่กับมัน”
“Death of Bob พูดถึงแนวคิดที่ว่า ถ้าเราตายได้หลาย ๆ ครั้ง เราน่าจะไม่กลัวตาย และเราก็น่าจะได้สนุกกับความตายไปเรื่อย ๆ เราก็เลยสร้าง Character ไอ Bob ใส่ Story ให้มันว่าแบบมันเป็นโควิดตาย แต่ว่าพอมันตายแล้วมันดันไม่ตาย มันฟื้นขึ้นมา มันก็ไม่เชื่อเลยไปลองตายอีกรอบให้รถไฟชนตาย มันก็ไม่ตาย ฟื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ด้วยความที่ Bob มันเป็นคนกลัวตาย มันก็พยายามซ้อมตายเพื่อให้มันไม่กลัวตายในวันที่มันต้องตายจริง ๆ ก็เป็นการสร้างสรรค์วิธีการตาย Advance ไปเรื่อย ๆ”
พี่ปาล์มเสริมว่าจริง ๆ ตัวผลงานทั้งสองอยากลองทำเป็นในรูปแบบดิจิทัลมานานแล้ว ด้วยวิถีการวาด สี ความสะดวกรวดเร็วต่าง ๆ อาจจะทำให้ภาพออกมาสวยกว่า และพอรู้ว่ากระแส NFT บูมอย่างมาก ศิลปินมีรายได้ ก็เลยลงมือทำ … “Digital Paint มันตอบโจทย์เรามาก ทำไมพึ่งเคยใช้วะ มันดีมาก ๆ” พี่ปาล์มกล่าวทิ้งท้าย
มุมมองต่อวงการ NFT ในปัจจุบันและอนาคต
“วงการ NFT ตอนนี้เหมือนจตุคามมาก ๆ ใคร ๆ ก็กระโดดเข้ามาและเราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นเหตุผลแรกเลยน่าจะเป็นเรื่องของรายได้ ซึ่งหลังจากนี้ศิลปินไทยก็จะเข้ามาในวงการนี้เยอะมาก ๆ เรารู้เลยว่าแกลเลอรีเริ่มต้องทำอะไรสักอย่างละ”
“ที่สำคัญคือพอทำ NFT ทุกคนรู้เท่ากันหมดทั้งศิลปินทั้งแกลเลอรีเพราะมันใหม่มาก ๆ เพราะฉะนั้นเวลาหาลูกค้าหรือ Collector มันต้องหาเอง พอหาเองได้มันก็จะไม่ต้องมีส่วนแบ่งรายได้ให้ใครนอกจากแพลตฟอร์มที่เราอยู่ ในขณะที่ถ้าเราทำงานกับแกลเลอรี แกลเลอรีจะเอาไป 50% แต่แพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มก็แค่ 10%-15% เพราะฉะนั้นถ้าแกลเลอรีไม่ทำอะไรในอนาคต ก็อาจจะลำบากขึ้นถ้าศิลปินไปอยู่ในโลกดิจิทัลเยอะขึ้น”
และด้วยความที่ NFT เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้พี่ปาล์มรู้สึกชอบเป็นอย่างมาก
“ที่เราชอบอย่างหนึ่งคือ NFT เป็นหนทางเดียวที่เร็วที่สุดที่จะสามารถไประดับเมืองนอกได้ สมมุติว่าอยากแสดงงานสักที่ในอเมริกา ก็จะต้องส่งพอร์ต กว่าแกลเลอรีจะตอบ ถ้าเขาชอบเขาก็ตอบ ละก็ต้องไปดีลว่าจะได้แสดงเมื่อไหร่ ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาดีลกัน 2-3 ปี แต่สำหรับ NFT หรือ Digital Arts มันเร็ว มันเหมือนสมัยก่อนที่ต้องเอาเพลงไปส่งค่ายเพลง เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง แค่ร้องเพลงใน Youtube ถ้าคนชอบเราก็ดัง NFT มันก็เป็นแบบนั้นแหละ”
สุดท้ายฝากถึงผลงานศิลปะ วงการ NFT และศิลปินไทยที่อยากจะเริ่มศึกษา
ในเร็ว ๆ นี้จะมีผลงานชุดใหม่ออกมาให้ได้ติดตามกันภายในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นผลงานชุด “Death of Bob” ที่เกี่ยวกับความตาย … “ฝาก Death of Bob นะครับเดี๋ยวจะ Mint เร็ว ๆ นี้ พยายามไม่ให้เกินวันที่ 5 แต่ถ้าค่า Gas มันแพงอยู่ก็อาจจะเลื่อนไปเรื่อย ๆ ฮ่า ๆ”
นอกจากนี้พี่ปาล์มยังได้แสดงความเป็นห่วงกับกระแส NFT หรือศิลปะดิจิทัลที่มาแรงในปีนี้ว่า “ก็ถ้าทำแล้วมีความสุข ได้เงินก็ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ก็ระวังพวกแฮ็กเกอร์ต่าง ๆ โดนกันไปหลายคนละ ก็ประมาณนี้”
“เราห่วงอย่างหนึ่งคือเราไม่รู้เลยว่าอะไรที่มันได้เงินง่าย ๆ มันไม่ค่อยอยู่นาน มันต้องมีวิกฤตอะไรบางอย่างโผล่มา มันไม่น่าอู้ฟู่ได้ตลอดไป แต่ก็เราทำด้วยความอย่าไปหลงมัวเมากับมันมาก บางทีเราต้องถามตัวเองว่าเรามาทางนี้จริงไหม”
และนี่ก็เป็นบทสัมภาษณ์สุดพิเศษกับร็อคเกอร์แนวหน้าเมืองไทยที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่ทางด้านดนตรีเท่านั้น แต่เรียกได้ว่าเป็นเอกทางด้านศิลปะด้วยเช่นกัน ต้องบอกว่าผลงานของ “พี่ปาล์ม Instinct” แต่ละชุด มีเรื่องราวที่น่าสนใจ มีความเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นมาก ๆ
ต้องติดตามกันต่อว่าในอนาคตจะมีผลงานชุดไหนให้แฟน ๆ ได้ติดตามกัน หากสาวกท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามผลงานได้ที่นี่ Mr.Sexman