<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

กูรู Bitcoin ชื่อดังในไทยเผยถึงสาเหตุที่นักเทรดคริปโตต้องรู้จัก Lightning Network

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปีนี้ Bitcoin เริ่มเข้ามามีบทบาทในระบบการเงิน “ระดับโลก” มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการประกาศรับ Bitcoin ให้สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายของประเทศเอลซัลวาดอร์ รวมถึงอีกหลาย ๆ ประเทศที่กำลังเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและพร้อมปรับตัวไปกับกระแสของ Bitcoin จึงทำให้เม็ดเงินเหล่านั้นหลั่งไหลเขาสู่ตลาดคริปโตเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นปีทองของ Bitcoin อย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตามสกุลเงินดิจิทัลเบอร์หนึ่งของโลกยังมีข้อจำกัดในแง่ของการใช้งานบางอย่างที่จำเป็นต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “Lightning Network” ตัวช่วยที่จะทลายข้อจำกัดเหล่านั้นพร้อมกับ “อาจารย์ตั้ม พิริยะ สัมพันธารักษ์” ผู้เชี่ยวชาญด้าน Bitcoin และ Managing Director แห่ง Chaloke.com

ทำความรู้จักกับ Lightning Network 

Lightning Network คืออะไร?

อาจารย์ตั้มกล่าวว่า “คำจำกัดความของมันก็คือ เป็น Layer 2 Solutions ของ Bitcoin ถ้าเราเปรียบง่าย ๆ เวลาที่เราทำธุรกรรม Bitcoin ปกติเราจะทำบน Blockchain ของ Bitcoin ซึ่งหลายคนก็จะรู้ว่ามันจะมีเรื่องของค่าใช้จ่าย และก็เรื่องของเวลา เราต้องรอเวลาค่อนข้างนานกว่าธุรกรรมจะได้รับการยืนยัน มันก็จะทำให้มีปัญหาในเวลาที่คนแย่งกันทำธุรกรรมเยอะ ๆ” 

“คราวนี้มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าการทำธุรกรรมใน Layer 2  มีการพัฒนาการทำธุรกรรมบน Layer 2 มาหลายปีมาก ๆ แล้ว เริ่มต้นช่วงประมาณปี 2015-2016 นึกภาพง่าย ๆ เวลาที่เราโอน Bitcoin แลกเปลี่ยนกับเหรียญอื่นหรือแม้กระทั่งโอนเหรียญ Bitcoin ให้กันผ่าน Exchange นั่นก็คือ Layer 2 ปรเภทหนึ่งเหมือนกันเพราะว่าการโอนเหล่านั้นเนี่ยมันไม่มีการโอนตัวเหรียญ Bitcoin บนบล็อกเชนจริง ๆ แต่ว่ามันเป็นการโอนสิทธิความเป็นเจ้าของในเชิงของรูปบัญชีที่บันทึกโดยบริษัทผู้ให้บริการ อันนี้เนี่ยเลยทำให้เราสามารถโอน Bitcoin จำนวนเล็กจำนวนน้อยมานานมาก ๆ แล้ว” 

“แต่ปัญหาของวิธีนี้คือ เราต้องไว้ใจตัวกลางที่คอยบันทึกบัญชีให้เราว่า หากวันนึงเราต้องการถอน Bitcoin ออกมาจากเขาเรายังมี Bitcoin นั้นอยู่ เขาจะไม่มีการตุกติกแอบทำอะไร และเลขบัญชีเหล่านั้นต้องเป็นจริง และแก้ไขไม่ได้ มันก็เลยมีการคิดค้น Lightning Network ออกมา เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำแบบนั้นได้โดยที่ไม่ต้องเชื่อใจใครเลย” อาจารย์ตั้มกล่าวเสริม

แล้วเจ้า “Lightning Network” มีวิธีการทำงานอย่างไร?

“คือจะมีการสร้าง Lightning Channel ขึ้นมา ซึ่ง Lightning Channel เป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนสองคนด้วย Smart Contract บนบล็อกเชนของ Bitcoin ก็จะใช้เป็น Hash Timelock Multisig Smart Contract ธรรมดา โดย Smart Contract ตัวนี้เราจะฝากเงินเข้าไปและก็จะสามารถนำเงินที่ฝากเข้าไปส่งให้กัน รับส่งกันไปมาภายใน Channel ที่สร้างขึ้นมาระหว่างคนสองคน จะกี่ครั้งก็ได้ไม่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลเหล่านี้ลงบน Blockchain”

“ข้อมูลเดียวที่จะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชนก็คือใน Channel ใส่ลงเงินไปเท่าไหร่ และใครเป็นผู้ใส่ ในระหว่างการใช้งานคนสองคนก็สามารถโอนเงินให้กันกี่ครั้งก็ได้ 1 Satoshi ก็ได้ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดสำหรับสองคนนั้น และเมื่อสองคนนี้ต้องการปิด Channel ที่เชื่อมกันไว้ ก็สามารถประกาศธุรกรรมเพื่อปิด Channel ลงบนบล็อกเชนได้ อันนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า Lightning Channel”

อาจารย์ตั้มอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าพอคนหนึ่งคนสร้าง Lightning Channel กับคนหลาย ๆ คน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราสามารถส่งเงินผ่านคนอื่นไปยังคนที่เราต้องการฝากส่งได้ มันจึงทำให้เกิดเป็น Network ที่เราสามารถส่ง Bitcoin จำนวนน้อย ๆ เพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันเช่น ซื้อข้าว น้ำ ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ เป็นต้น มีความเป็นไปได้ทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องสร้างธุรรกรรมเหล่านั้นบนบล็อกเชนผ่าน Lightning Network ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อของ Lightning Channel จำนวนมากนั่นเอง

ก็สรุปได้ว่าเจ้า Lightning Network จะเข้ามาช่วยกำจัดปัญหาในเรื่องของความแออัดบนเครือข่าย การร่นระยะเวลาในการทำธุรกรรมให้เร็วขึ้นหรือทำธุรกรรมได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลารอนาน แถมค่าธรรมเนียมยังถูกมาก ๆ อีกด้วย

ผู้ใช้งาน Lightning Network เพิ่มสูงขึ้นกว่า 11 เท่า

“จริง ๆ Lightning Network เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วก็มีการใช้งานกันเยอะแยะมาก เพียงแต่ว่าเราจะยังไม่ได้เห็นการใช้ในประเทศไทย แล้ว Lightning Network เอาไว้ใช้ทำอะไร? เราต้องตั้งคำถามก่อน มันเอาไว้ใช้โอนเงินเล็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยใช้ลงทุน เก็งกำไร เราไม่โอนเล็ก ๆ ดังนั้น Lightning Network สำหรับคนไทยแทบไม่มีประโยชน์เลย”

“แต่สำหรับประเทศที่ใช้ Bitcoin เป็นเงินเลย ถ้าทุก Transaction ต้องมานั่งรอ 10 นาทีเป็นอย่างต่ำบนบล็อกเชนเนี่ยมันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเนี่ยเมื่อมันมีประเทศที่เปิดรับการใช้งานของ Bitcoin ในฐานะของเงินมากขึ้น เราก็จะเห็นการใช้งาน Lightning Network เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากประมาณ 800,000 คน เป็น 9,000,000 คนในระยะเวลาอันสั้น”

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประชาชนในประเทศเอลซัลวาดอร์กลายมาเป็นผู้ใช้งานหลักบน Lightning Network หลังจากที่ได้มีการรองรับให้ Bitcoin ถูกกฎหมายและใช้ชำระสินค้าบริการในประเทศได้

“อย่างเช่นในเอลซัลวาดอร์ On-chain ก็จะใช้สำหรับโยกย้ายเงินก้อนใหญ่หรือนาน ๆ ทำที เช่น ซื้อบ้าน 1 หลัง 50 BTC แบบนี้ คงไม่มานั่งทำผ่าน Lightning Network เราก็คงอยากได้ Confirmation On-chain ด้วย แต่ถ้าคุณจะซื้อน้ำแข็งไสหรือกาแฟ มันจำเป็นด้วยเหรอที่ต้องได้รับการยืนยันจากระบบการเงินระดับโลก (Bitcoin) ก็ไม่จำเป็นครับเราก็สามารถใช้งาน Lightning Network ได้”

บราซิลอาจจะยอมรับ Bitcoin ตามรอยเอลซัลวาดอร์

“เอลซัลวาดอร์เองเขาเปิดเผยแผนการใช้งาน Bitcoin เป็น Legal Tender ในลักษณะของ Open source เพราะฉะนั้นหลาย ๆ ประเทศที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินได้น้อยก็สามารถประกาศใช้ตามได้ พูดง่าย ๆ ก็คือลอก Copy เวอร์ชันของเอลซัลวาดอร์มาได้ง่าย ๆ เลย”

“เราก็จะเห็นประเทศในอเมริกาใต้ อเมริกากลางค่อย ๆ เริ่มขยับเข้ามา บราซิลก็เป็นหนึ่งในประเทศนั้น …  คือประเทศแถบลาตินอเมริกาจำนวนมากตกที่นั่งคล้าย ๆ กันกับเอลซัลวาดอร์ แต่บราซิลอาจจะมีความมั่งคั่งมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเจอปัญหาแบบเดียวกัน”

ซึ่งปัญหาที่ว่านั่นก็คือการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของประเทศได้ ปัญหาค่าเงินเสื่อมลง และปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูงในการโอนเงินกลับมายังบ้านเกิด ปัญหาเหล่านี้ยังได้เกิดขึ้นในหลายประเทศในแถบละตินอเมริกาอย่างเช่นปารากวัยและปานามา จึงเป็นที่มาของการยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภาของสองประเทศนี้เพื่อพิจารณาในการยอมรับ Bitcoin ให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

และนี่ก็เป็นบทสัมภาษณ์สุดพิเศษที่ทาง Siam Blockchain ได้มีโอกาสพูดคุยกับกูรู Bitcoin แนวหน้าในวงการอีกครั้ง หากท่านใดอยากติดตามอาจารย์ตั้มเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัว หรือทาง Chaloke.com ที่จะคอยอัปเดตข่าวสารความรู้ด้าน Bitcoin และ Cryptocurrency อยู่เสมอ