ท่ามกลางกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Cryptocurrency ที่กำลังร้อนแรงในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยเองก็มีผู้ที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากที่ได้เข้าถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล รวมถึงการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีหรือโทเคนดิจิทัล
สำหรับการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนประเภทนี้ ประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีของนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับมานับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 แล้ว ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน แนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ประเภทดังกล่าวอาจจะยังมีคำอธิบายหรือตัวอย่างในการจัดเก็บภาษีไม่มากนักก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายการจัดเก็บภาษีคริปโตจะมีออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่ถึงกระนั้นทางด้านกูรูภาษีชื่อดังในไทยก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเก็บภาษีคริปโตดังกล่าว และได้แนะนำให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีคริปโต พร้อมชี้ให้เห็นว่ามันมีผลเสียมากกว่าผลดี
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา นาย ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ iTAX ซึ่งเป็นโซลูชันด้านภาษีที่ช่วยให้ทุกอย่างเกี่ยวกับภาษีเป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวไทย ได้ออกมาเสนอให้ประเทศไทยยกเว้นการเก็บภาษีคริปโตบนเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
จากข้อความข้างต้น นาย ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้คนไทยได้หันไปใช้เว็บเทรดคริปโตในต่างประเทศอย่าง Binance กันเยอะมากขึ้น และเงินก็ได้ไหลออกนอกประเทศไปแล้ว ด้วยวิธีการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนแบบ P2P ซึ่งในตรงจุดนี้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมหรือจัดเก็บภาษีได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นนาย ยุทธนา จึงเสนอให้ประเทศไทยเปลี่ยนกลายไปเป็น Hub สำหรับการเทรดคริปโตแทน หรือให้การสนับสนุนคริปโตอย่างเต็มที่ไปเลย เพราะสิ่งนี้ทำให้คนไทยหันกลับมาซื้อขายคริปโตในเว็บเทรดของไทยกันมากขึ้นนั่นเอง
แน่นอนว่ารัฐบาลอาจไม่ได้รับเงินภาษีจากนักเทรดรายย่อยโดยตรง แต่ในส่วนที่รัฐบาลจะได้รับกลับไปก็คือ เงินลงทุนที่จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย ในเว็บเทรดคริปโตของไทย และรัฐบาลจะสามารถเรียกเก็บเงินภาษีคริปโตได้จากผู้ประกอบการเหล่านี้แทน
ในขณะเดียวกันด้านบริษัทเว็บเทรดคริปโตก็จะมีกำไรมากขึ้น จากค่าธรรมเนียมจากการซื้อขาย แม้จะเสียภาษีในไทยเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาก็สามารถนำกำไรในส่วนนี้มาพัฒนาต่อยอดบริษัทให้ก้าวไกลไปสู้ในระดับโลกได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ Win Win ทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้นาย ยุทธนา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากเราเป็น hub เรื่องนี้ได้ เราน่าจะดึงดูดบุคคลากรต่างประเทศให้สนใจเข้ามาทำงานให้บริษัทไทยได้เพิ่มขึ้น และเมื่อพวกเขาทำงานอยู่ในบริษัทไทย ได้เงินเดือนสูง ๆ รัฐบาลไทยก็จะสามารถเรียกเก็บภาษีเงินได้จากค่าจ้างของบุคคลเหล่านี้ได้ด้วย แม้ว่าบุคลากรเหล่านี้จะไม่ต้องเดินทางเข้ามาในไทยเลยก็ตาม