ในช่วงเมื่อวานนี้ (วันที่ 26 ม.ค.65) ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังของประชาชน พรรคไทยสร้างไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ที่ยืนยันจะเดินหน้าเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ภาษี คริปโต โดยกล่าวแนะนำว่า ต้องทบทวนมาตรการดังกล่าวนี้อีกครั้ง เพราะทันทีที่มีการประกาศเก็บภาษีคริปโตไปเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม ก็ทำให้วอลุ่มการซื้อขายคริปโตของ Exchange ในประเทศ ลดลงทันทีกว่า 40%
ดังนั้นหากรัฐบาล ยังดึงดันจะเดินหน้าเก็บภาษีคริปโต แล้วทำให้นักลงทุนไทย มีความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม หรือ หันไปลงทุนในตลาดต่างประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำกว่า หรือ ปลอดภาษี คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลดลงจากเดิมถึง 80%
โดยการประเมินภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจัดเก็บได้จาก Exchange ในประเทศที่จะลดลง เทียบกับภาษีบุคคลธรรมดาเฉลี่ยที่อัตรา 15% ที่จะเก็บได้เพิ่ม นำมารวมแล้วพบว่า นโยบายนี้อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 1,040 ล้านบาท ในปี 2565-2566 ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมค่าเสียโอกาสที่อุตสาหกรรมบล็อกเชนจะพัฒนาต่อยอดภายในประเทศจนผลิตเม็ดเงินภาษีเพิ่มได้มากกว่านี้อีกเท่าตัว
ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการคำนวนเบื้องต้นจากข้อมูลที่หาได้จากแหล่งสาธารณะ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลัง ศึกษาวิจัยจนได้ออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน รวมถึงการผลบวกผลลบกับเม็ดเงินภาษีและเศรษฐกิจดิจิทัล เสียก่อนจะเดินหน้าต่อ และค่อยออกนโยบายภาษีตามหลักที่สำคัญทั้ง 3 ประการ คือ ความเป็นธรรม ความมีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติได้จริง
โดยหลักความเป็นธรรม หากเดินหน้าเก็บภาษีคริปโตเฉพาะธุรกรรมที่กำไร ไม่สามารถนำธุรกรรมที่ขาดทุนมาหักลบ เหมือนรายได้ประเภทอื่นๆ ที่นำต้นทุน นำค่าใช้จ่ายมาหักลบได้ ก็ขาดความเป็นธรรม
ในขณะที่หลักความมีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงการที่รัฐออกนโยบายแล้วสามารถจัดเก็บภาษีได้จริง ไม่เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เพราะการที่ปริมาณซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลดลง 40% หลังรัฐบาลประกาศจะจัดเก็บภาษีคริปโต และนักลงทุนเริ่มย้ายไปเทรดต่างประเทศ ก็สะท้อนแล้วว่ากฎเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีคริปโตนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่
และหลักการการปฏิบัติได้จริง ที่นักลงทุนไทยต้องสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้ง่าย ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ ซึ่งการคำนวนภาษีจากธุรกรรมการเทรดคริปโตมีความซับซ้อน จากความหลากหลายของคริปโต โทเคนและผลิตภัณฑ์การเงินที่เกี่ยวข้อง ความหลากหลายของรูปแบบการลงทุน และจำนวน Exchange ที่ใช้เทรด อาจทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เป็นรายย่อย ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องได้ง่ายตลอดปีภาษี เพราะไม่ได้มีแผนกบัญชีเหมือนกับบริษัทที่มีความรู้ด้านบัญชี-ภาษีมาช่วยคำนวน
“ผมอยากขอให้กระทรวงการคลังเอาตัวเลขจากการศึกษามาเปิดเผย กฎหมายใดหากออกมาแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ต้องปรับแก้ไข ไม่ใช่ดันทุรังบังคับใช้แล้วเกิดความเสียหาย เพราะสุดท้ายหากพบว่านโยบายนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้ดำเนินนโยบายจน GDP ของไทยต่ำสุดในอาเซียน ต้องกู้ไปขยายเพดานหนี้ไป ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำของไทยติดอันดับโลก ก็สามารถบ่งบอกได้แล้วว่านโยบายเศรษฐกิจที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนี้ถูกทิศทางหรือไม่”ดร.ธรรม์ธีร์ กล่าว
ที่มารูปภาพ : ลิงก์