ในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ Beryl A. Howell จากศาลแขวงสหรัฐประจำเขตโคลัมเบีย ได้ตัดสินแล้วว่า “งานศิลปะที่สร้างด้วย AI ไม่สามารถมีลิขสิทธิ์ได้” โดยระบุว่าสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ตัดสินใจปฏิเสธการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์สำหรับผลงานทั้งหมดที่สร้างขึ้นโดยไม่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้คำตัดสินดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการต่อสู้ทางกฎหมายในอนาคตได้
ก่อนหน้านี้ Stephen Thaler นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ได้พยายามขอลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปะที่ชื่อว่า “A Recent Entrance to Paradise” ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือของ AI ที่เขาพัฒนาขึ้นมาอย่าง “Creativity Machine” โดยตามคำฟ้องร้อง Thaler ต้องการโอนลิขสิทธิ์จาก AI ไปยังตัวเขาเอง
การเรียกร้องลิขสิทธิ์ของ Thaler ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลก เนื่องจากความนิยมอย่างล้นหลามของ AI วาดรูปอย่าง DALL-E2 หรือ Midjourney ได้นำไปสู่การถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์รูปภาพมาแล้วหลายครั้ง
เนื่องจาก Thaler บอกกับสำนักงานลิขสิทธิ์ว่างานศิลปะชิ้นนั้น “สร้างขึ้นโดยอัลกอริธึมคอมพิวเตอร์ของเขา” ผู้พิพากษาจึงเขียนประเด็นเดียวที่อยู่ตรงหน้าเธอลงไปในคำตัดสิน เพื่อระบุว่าผลงานนั้นมีสิทธิ์ได้รับลิขสิทธิ์หรือไม่
คำตัดสินของเธอคือการสะท้อนคำแนะนำที่ออกโดยสำนักงานลิขสิทธิ์ว่า “การสร้างสรรค์โดยมนุษย์ถือเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของลิขสิทธิ์” ดังนั้นผู้พิพากษา Howell จึงตัดสินว่างานศิลปะที่สร้างด้วย AI จึงไม่สามารถมีลิขสิทธิ์ได้ แม้ว่าผู้พัฒนา AI จะเป็นคนเขียน Prompt ของงานศิลปะชิ้นนั้นด้วยตนเองก็ตาม อีกทั้ง Howell ยังกล่าวเสริมไว้ด้วยว่าประเด็นเรื่องการโอนลิขสิทธิ์จาก AI ไปสู่ผู้เขียน Prompt นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่สามารถยุติคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานศิลปะที่สร้างโดย AI เพราะประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ “จำเป็นต้องมีข้อมูลของมนุษย์มากแค่ไหน เพื่อให้ผู้ใช้ AI มีคุณสมบัติในการเป็น ‘ผู้สร้าง’ ผลงานศิลปะชิ้นนั้น”
“เรากำลังเข้าใกล้ขอบเขตใหม่ ๆ ในด้านลิขสิทธิ์ เนื่องจากศิลปินใส่ AI ไว้ในกล่องเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะใหม่ ๆ” Howell เขียนในคำตัดสิน
ที่มา: politico