<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Atom Computing ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชิปควอนตัมที่เร็วที่สุดในโลก เตรียมปฏิวัติโลกการเงิน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

จนถึงทุกวันนี้ นักเทรดและนักลงทุนคริปโตหลายคนอาจยังคงกังวลว่าในอนาคต “ควอนตัมคอมพิวเตอร์” จะเป็นภัยคุกคามของอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากควอนตัมคอมพิวเตอร์มี Shor’s algorithm ที่สามารถทำลายกระบวนการเข้ารหัสได้ทั้ง RSA, DSA, ECDSA และ DSS

ท่ามกลางข้อสันนิษฐานมากมายที่เกิดขึ้นในชุมชนคริปโตมาตลอดหลายปีนี้ ล่าสุด บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Atom Computing ได้ออกมาประกาศถึงการทดสอบควอนตัมคอมพิวเตอร์ขนาด 1,180 คิวบิตที่สามารถใช้งานได้จริง พร้อมทั้งท้าทายว่าปี 2024 จะแซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่าง IBM และ Google

คิวบิต (qubit) เป็นหน่วยพื้นฐานของข้อมูลควอนตัม โดยระบบเดิมของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะดำเนินการด้วยความเร็วเพียง 100 คิวบิต ดังนั้นความเร็ว 1,180 คิวบิต ของบริษัท Atom Computing จึงถือเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดครั้งสำคัญเลยทีเดียว

ในอีกด้านหนึ่ง ควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลกอย่าง Osprey ของ IBM มีความเร็วเพียง 433 คิวบิต และกำลังทำงานกับโมเดล Condor ที่กำลังจะเปิดตัว ดังนั้นในอนาคต Osprey จึงอาจสามารถเพิ่มจำนวนคิวบิตได้สูงสุดเพียง 1,121 คิวบิตเท่านั้น ในขณะที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์ Sycamore ของ Google ก็มีเพียง 70 คิวบิต

Atom Computing อธิบายว่าพวกเขาพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ขนาด 1,180 คิวบิต จากการใช้ “อะตอมที่เป็นกลาง” เป็นคิวบิต ซึ่งเป็นวิธีที่รับประกันทั้งความเสถียรและความสามารถในการขยายขนาด โดยทางบริษัทได้ใช้เลเซอร์ในการออกแบบตารางที่สามารถวางและจัดการอะตอมเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ

การพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ของ Atom Computing ที่มา: nextbigfuture

อีกผลลัพธ์หนึ่งที่สำคัญ คือ Atom Computing ได้จัดเก็บข้อมูลควอนตัมไว้ใน nuclear spin ของอะตอม ซึ่งจะช่วยให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ของ Atom Computing ได้รับผลกระทบจากสิ่งรบกวนแวดล้อมน้อยกว่า ดังนั้นจึงสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้นโดยไม่หยุดชะงัก

ทว่า Atom Computing ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น โดยทางบริษัทได้ขยาย grid จากขนาด 10×10 เป็น 35×35 เพื่อเสริมศักยภาพสำหรับควอนตัมคอมพิวเตอร์ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบของ Atom Computing จะมีคิวบิตจำนวนมาก แต่อัตราข้อผิดพลาดสำหรับการทำงานของคิวบิตแต่ละตัวนั้นก็สูงมากเช่นกัน ดังนั้นควอนตัมคอมพิวเตอร์ของบริษัทจึงยังไม่สามารถใช้สำหรับการคำนวณที่ซับซ้อนได้ในขณะนี้

ลองนึกภาพว่าเรามีรถซุปเปอร์คาร์หลายคัน แต่มีเพียงไม่กี่คันเท่านั้นที่สามารถขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุดได้โดยไม่พัง ซึ่งสิ่งนี้ก็คือความท้าทายที่ Atom Computing กำลังเผชิญอยู่ แต่ทางบริษัทนั้นคาดการณ์ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ควอนตัมคอมพิวเตอร์รุ่นแรก, สิงหาคม 2021 ที่มา: Atom Computing

หากความพยายามของ Atom Computing ประสบความสำเร็จ ในอนาคตเราอาจได้เห็นควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่สามารถปรับขนาดได้และเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น โดยในขณะเดียวกันนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์อย่าง IBM ก็กำลังตั้งเป้าไปที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์ขนาด 100,000 คิวบิต พร้อมทั้งเปิดเผยว่าทาง IBM กำลังเตรียมเปิดตัวโปรเซสเซอร์มัลติชิป “Kookaburra” ขนาด 1,386 คิวบิต ในปี 2025

ที่มา: decrypt