เมื่อไม่นานมานี้ Amar Singh จาก Emurgo ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อข่าวโดยเน้นย้ำว่าความจุข้อมูล Metadata ของ Cardano มีข้อดีมากมาย และจะทำให้ Cardano ตื่นขึ้นจากการหลับใหลภายในปี 2028 อย่างไรก็ดี มีใครสงสัยบ้างหรือไม่ว่า “Metadata” คืออะไร?
ในบทความนี้ทางสยามบล็อกเชนจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับข้อมูลเมตา หรือที่รู้จักกันในชื่อ Metadata แล้วมาดูกันว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเป็นข้อมูลเชิงลึกบนเครือข่ายที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
Metadata คืออะไร?
ข้อมูลเมตาในธุรกรรมบล็อกเชน (Metadata in blockchain transactions) คือข้อมูลเพิ่มเติมที่สามารถแนบไปกับธุรกรรมคริปโตบนบล็อกเชนได้ โดย Metadata จะเป็นข้อมูลในบริบทของธุรกรรมบล็อกเชน รวมถึงข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการโอนคริปโต แต่สามารถให้ฟังก์ชันเพิ่มเติมแก่ธุรกรรมได้
อธิบายง่าย ๆ คือ ถึงแม้ฟังก์ชันหลักของบล็อกเชนคือการบันทึกและรับรองการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Ether (ETH) หรือ Bitcoin (BTC) แต่ Metadata จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลหรือบริบทอื่น ๆ เพิ่มเติมลงในธุรกรรมของตนได้นั่นเอง โดย Metadata ในธุรกรรมบล็อกเชนจะมีอยู่สองประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่:
Metadata แบบออนเชน (On-chain metadata)
Metadata ส่วนนี้ถูกเก็บไว้บนบล็อกเชนทันที จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลธุรกรรมที่เก็บไว้ที่นั่น และทุกคนที่เข้าถึงบล็อกเชนก็จะสามารถเห็นได้ เช่น ป้ายกำกับธุรกรรม บันทึก การอ้างอิงถึงสัญญาหรือเอกสารภายนอก เป็นต้น
Metadata แบบออฟเชน (Off-chain metadata)
Metadata ส่วนนี้จะอ้างอิงอยู่ในธุรกรรม แต่ไม่ได้เก็บไว้บนบล็อกเชนโดยตรง โดยจะลิงก์ไปยังเนื้อหาอื่น ๆ เช่น ไฟล์ เอกสาร หรือ URL เว็บที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกรรม ทั้งนี้ Metadata แบบออฟเชนถือเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถใช้เพื่อลดความรกรุงรังบนบล็อกเชนได้
การจัดเก็บ Metadata แบบออนเชนและแบบออฟเชน
โดยธรรมชาติแล้ว โครงสร้างข้อมูลของบล็อกเชนประกอบด้วย Metadata แบบออนเชน เช่น รายละเอียดธุรกรรม โค้ด smart contract และคุณสมบัติของโทเคน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างข้อมูลของบล็อกเชน โดยข้อมูลนี้จะไม่ถูกลบหรือสูญหายไป และจะพร้อมใช้งานจากโหนดเครือข่ายทั้งหมดเสมอ
ขณะเดียวกัน Metadata ยังเป็นส่วนประกอบในบัญชีแยกประเภทของบล็อกเชน (blockchain’s ledger) อีกด้วย ทั้งนี้ Metadata แบบออนเชนส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ภายในธุรกรรมจริง โดยธุรกรรมแต่ละรายการบนบล็อกเชนจะมีเพย์โหลดที่มี Metadata ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ผู้ส่ง ผู้รับ จำนวนเงิน และวันที่ทำธุรกรรม ซึ่งจะถูกบันทึกเป็น Metadata แบบออนเชนเมื่อผู้ใช้โอนคริปโต
สำหรับ smart contract นั้น โค้ดของสัญญาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจะถูกเก็บไว้บนบล็อกเชนเป็น Metadata แบบออนเชนด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงฟังก์ชัน ตัวแปรสถานะ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องของสัญญา โดยแต่ละบล็อกจะมีหัวข้อที่ให้ Metadata เข้าถึงได้ง่ายเพื่อการตรวจสอบ เช่น ไทม์สแตมป์บล็อก (Timestamps) หมายเลขบล็อก และรหัสธุรกรรม ในขณะที่ Metadata เกี่ยวกับคุณสมบัติของโทเคน (เช่น ชื่อโทเคน สัญลักษณ์ อุปทาน) มักถูกเก็บไว้บนบล็อกเชนสำหรับโทเคน เช่น ERC-721 และ ERC-20 ของ Ethereum
ในทางตรงกันข้าม Metadata แบบออฟเชนจะถูกเก็บไว้ภายนอกโดยใช้การอ้างอิงแบบเข้ารหัส เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของบล็อกเชน โดยข้อมูลส่วนนี้สามารถเก็บไว้ในที่ต่าง ๆ รวมถึงโซลูชันการปรับขนาดแบบออฟเชน เช่น Lightning Network ระบบจัดเก็บแบบกระจายอำนาจ เช่น InterPlanetary File System (IPFS) และฐานข้อมูลภายนอก
สำหรับ Metadata แบบออฟเชนนั้น บล็อกเชนจะใช้แฮชเข้ารหัสหรือพอยน์เตอร์เพื่ออ้างถึง Metadata แบบออฟเชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างบนบล็อกเชนเพื่อลดความแออัด และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับแอปพลิเคชันที่ต้องการข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลแบบไดนามิก
ตัวอย่าง Metadata ในธุรกรรมบล็อกเชน
Metadata ในบล็อกเชนประกอบด้วย Timestamps, รายละเอียดธุรกรรม, ข้อมูล smart contract, ลายเซ็นดิจิทัล, ค่าธรรมเนียมแก๊ส, ลิงก์ IPFS, ข้อมูล Oracles, และ Metadata ของ NFT ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถใช้งานฟังก์ชันและจัดเก็บข้อมูลที่หลากหลายภายในเครือข่ายบล็อกเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Timestamps
บล็อกแต่ละบล็อกในบล็อกเชนจะมี Timestamps ที่แสดงช่วงเวลาที่บล็อกนั้นถูกเพิ่มเข้าไปในเครือข่าย โดยการตั้งเวลาของธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้ผ่าน Metadata ส่วนนี้
รายละเอียดธุรกรรม
ที่อยู่ผู้โอนและผู้รับ จำนวนเงินในธุรกรรม และ ID ของธุรกรรมที่แตกต่างกัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ Metadata ที่สามารถรวมไว้กับธุรกรรมแต่ละรายการบนบล็อกเชน
ข้อมูล smart contract
พารามิเตอร์และข้อมูลอินพุตที่จำเป็นสำหรับการทำงานของสัญญาอาจรวมอยู่ใน Metadata เมื่อ smart contract ถูกดำเนินการบนบล็อกเชน
ลายเซ็นดิจิทัล
ลายเซ็นดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของ Metadata ด้วยเช่นกัน เพื่อยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมและแสดงความเป็นเจ้าของ
ค่าธรรมเนียมแก๊ส
บนบล็อกเชนที่มีค่าธรรมเนียมแก๊ส เช่น Ethereum ข้อมูล Metadata อาจรวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแก๊สที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลธุรกรรม โดยนักขุดและ validators จะต้องการข้อมูลส่วนนี้เพื่อจัดลำดับความสำคัญของธุรกรรม
InterPlanetary File System (IPFS)
IPFS เป็นระบบจัดเก็บไฟล์แบบกระจายอำนาจ สามารถพบได้ใน Metadata ของบล็อกเชน ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลบนบล็อกเชนได้โดยการดึงข้อมูลอ้างอิงไปยังไฟล์ IPFS ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นในรูปแบบของแฮชไฟล์ขนาดใหญ่ รวมถึงรูปภาพ วิดีโอ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์บนเครือข่าย เช่น NFT ก็สามารถจัดเก็บได้โดยใช้วิธีนี้
Oracles
Oracles เป็นบริการภายนอกที่ให้บริการเข้าถึงข้อมูลจริงกับสัญญา smart contract โดยข้อมูล Oracles เหล่านี้อาจรวมอยู่ใน Metadata ของบล็อกเชนเพื่อกระตุ้นกิจกรรมจาก smart contract
Metadata ของ NFT
NFT มักจะมี Metadata เช่น เจ้าของผลงาน NFT คำอธิบาย และรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือทางกายภาพ
บทสรุป
Metadata ในธุรกรรมบล็อกเชนคือข้อมูลเพิ่มเติมที่สามารถแนบไปกับธุรกรรมคริปโตบนบล็อกเชน โดยสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ Metadata แบบออนเชน และ Metadata แบบออฟเชน
Metadata แบบออนเชนจะถูกเก็บไว้บนบล็อกเชนโดยตรง และสามารถเข้าถึงได้โดยทุกคนที่เข้าถึงบล็อกเชน โดยข้อมูลส่วนนี้มักใช้เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับธุรกรรม เช่น ผู้ส่ง ผู้รับ จำนวนเงิน และวันที่ทำธุรกรรม
Metadata แบบออฟเชนจะถูกเก็บไว้ภายนอกบล็อกเชน และสามารถเข้าถึงได้โดยการอ้างอิงจากบล็อกเชน โดยข้อมูลส่วนนี้มักใช้เพื่อจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่หรือข้อมูลที่ไม่จำเป็นสำหรับธุรกรรม เช่น รูปภาพ วิดีโอ หรือเอกสาร
ตัวอย่างข้อมูล Metadata ในธุรกรรมบล็อกเชน ได้แก่ Timestamps, รายละเอียดธุรกรรม, ข้อมูล smart contract, ลายเซ็นดิจิทัล, ค่าธรรมเนียมแก๊ส, ลิงก์ IPFS, ข้อมูล Oracles, และ Metadata ของ NFT
ที่มา: cointelegraph