<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

อนาคตของการ Tokenization สินทรัพย์บนโลกจริง : บรรยายพิเศษกับ “ดร.เผด็จ” Finstable จากงาน SEABC 2024

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในวันที่ 10 มีนาคม 2024 ทางสยามบล็อกเชนได้มีโอกาสพิเศษในการเข้าร่วมงานประชุมบล็อกเชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2024 (SEABC) ณ กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน , เว็บ3 ,  คริปโต เข้าร่วมงานกันอย่างมากมายหลายประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ตัวแทนจากประเทศไทยก็ไม่พลาดที่จะมาแบ่งปันความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมงานด้วยเช่นกัน

โดยในช่วงบ่ายของงาน ดร.เผด็จ จินดา ซีอีโอของบริษัท Finstable หนึ่งในบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทย ได้เข้าร่วมสนทนากับเหล่าวิทยากรท่านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Jason Choi – กรรมการผู้จัดการ Cointelgraph , Larry ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จาก Hashkey , Kelly Anh ซีโอโอจาก Solona Super Team เวียดนาม และ Đào Tiến Phong – ทนายความประจำบริษัท Investput legal ในหัวข้อการแปลงสินทรัพย์บนโลกแห่งความเป็นจริงให้กลายเป็นโทเค็นผ่านเทคโนโลยีการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันหากนักลงทุนมีความต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือ ทองคำ นั้นจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนมหาศาล ซึ่งการที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการเข้ามาตลาดดังกล่าวส่งผลให้มีนักลงทุนไม่กี่หยิบมือเท่านั้นที่สามารถเข้ามาได้ 

โดย ดร.เผด็จ และเหล่าวิทยากรต่างเห็นพ้องตรงกันว่าการนำสินทรัพย์จริงมาแปลงเป็นโทเค็น นั้นจะเป็นการเปิดประตูให้นักลงทุนที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ เพราะเทคโนโลยีการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนจะทำให้สินทรัพย์เดิมที่มีอยู่เพียงหนึ่ง ถูกแบ่งส่วนออกเป็นหลายส่วนย่อย ๆ ทำให้ราคาที่จะต้องจ่ายนั้นลดลงมาด้วย ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ยังคงสิทธิความเป็นเจ้าของร่วมกันได้อยู่ ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้จะช่วยให้เจ้าของบริษัทที่เป็นรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดโลก หรือลูกค้าต่างประเทศได้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้กับธุรกิจรายย่อย

ซึ่งทาง ดร.เผด็จ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าขณะนี้ในประเทศไทยก็เริ่มมีการใช้โมเดล การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนแล้วเช่นกัน ทว่าในขณะนี้ประเทศไทยกำลังหาหนทางที่จะทำให้การใช้งานการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน สามารถอยู่ภายใต้กฎหมายการควบคุม  โดยในขณะนี้ประเทศไทยนั้นกำลังมีความพยายามอย่างหนักในการจำแนกประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการจำแนกเทคโนโลยี  บล็อกเชน ออกจากคริปโต เนื่องจากการโฟกัสไปที่เทคโนโลยี มากกว่าแหล่งที่มาของเงินทุน จะทำให้โปรเจกต์ต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นภายใต้การกำกับดูแล 

นอกเหนือจากประเทศไทยแล้วสหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนกำลังเฟื่องฟูเนื่องจากรัฐบาลของประเทศให้การสนับสนุน เศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งในขณะนี้ทางรัฐบาลเวียดนามก็เริ่มให้ความสนใจแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้แม้ว่าเทคโนโลยีการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน จะมีศักยภาพที่สูงแต่เหล่าหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศต่าง ๆ ยังคงไม่ให้การยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลมากเท่าที่ควร ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวยังต้องการเวลาพิสูจน์อีกสักระยะเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นมั่นใจได้ว่านักลงทุนจะไม่ถูกหลอกลวง และได้รับการคุ้มครองโดยกฏหมาย