นักวิเคราะห์ของ Glassnode ได้ออกมาเปิดเผยว่านักลงทุน Bitcoin ระยะสั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานะขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (unrealized loss) ซึ่งอาจนำไปสู่แรงขายที่เพิ่มขึ้น หากตลาดเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
“จนกว่าราคาตลาด (spot price) จะกลับขึ้นไปเหนือระดับต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนระยะสั้นที่ 62,400 ดอลลาร์ จะมีการคาดการณ์ถึงความอ่อนแอของตลาดในระยะสั้นต่อไป” นักวิเคราะห์กล่าว
แม้ว่าผลขาดทุนสะสมที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในกลุ่มนักลงทุน Bitcoin ทั้งหมดจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับในอดีต แต่รายงานของ Glassnode ในสัปดาห์นี้ชี้ว่า นักลงทุนระยะสั้นอาจเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากตลาดมากที่สุด
“กลุ่มนักลงทุนระยะสั้นที่เข้ามาใหม่ในตลาดดูเหมือนจะเป็นผู้รับภาระแรงกดดันจากตลาด โดยผลขาดทุนสะสมของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา” นักวิเคราะห์กล่าว
นักวิเคราะห์ยังได้เสริมว่า ระดับผลขาดทุนสะสมของนักลงทุนระยะสั้นนี้ใกล้เคียงกับช่วงที่ Bitcoin เคยผันผวนในปี 2019 โดยในปีนั้นราคา Bitcoin เริ่มต้นที่ประมาณ 4,000 ดอลลาร์ สูงสุดในช่วงฤดูร้อนที่ 12,000 ดอลลาร์ และสิ้นสุดปีด้วยการลดลงมาที่ 7,000 ดอลลาร์ ตามข้อมูลจาก CoinGecko
นอกจากนี้ อัตราส่วน MVRV (Market Value to Realized Value) หรือการวัดค่าระหว่างมูลค่าตลาดปัจจุบันของเหรียญที่นักลงทุนระยะสั้นถือครอง (ผู้ที่ถือเหรียญน้อยกว่า 155 วัน) กับมูลค่าที่พวกเขาซื้อเหรียญมาได้ร่วงลงต่ำกว่าระดับคุ้มทุนที่ 1.0
ซึ่งการที่อัตราส่วน MVRV ลดมาต่ำขนาดนี้นั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่าจำนวนดังกล่าวเป็นการร่วงลงไประดับบริเวณช่วงเดือนสิงหาคม 2023 ระหว่างที่ Bitcoin กำลังฟื้นตัวจากราคาประมาณ 16,000 ดอลลาร์ หลังการล่มสลายของ FTX ในเดือนพฤศจิกายน 2022
ที่มา: TheBlock