<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

นักเทรดผู้ได้รับฉายาว่า ‘ไอนสไตน์แห่ง Wall Street’ เตือน! AI จะก่อให้เกิดวิกฤตตลาดหุ้นครั้งใหญ่

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปีเตอร์ ทัคแมน ผู้ได้รับสมยานามว่า ‘ไอน์สไตน์แห่งวอลสตรีท’ ผู้มีชื่อเสียงมาจากการแสดงออกทางสีหน้าที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ในช่วงที่ตลาดเกิดการแพนิค และมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ซึ่งมักถูกเปรียบเทียบกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร 

ทัคแมน มีบทบาทสำคัญในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) มานานนับ 40 ปี โดยเริ่มต้นอาชีพของเขาในช่วงกลางปี 1980 ในฐานะพนักงานพิมพ์โทรเลข ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การเทรดหุ้น

ในบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของพอดแคสต์ The Ice Coffee Hour ปีเตอร์ ทัคแมน หรือที่รู้จักในนาม “ไอน์สไตน์แห่งวอลสตรีท” ได้แชร์ประสบการณ์และมุมมองของเขาเกี่ยวกับตลาดหุ้น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า 

ทัคแมนเริ่มต้นด้วยการสะท้อนเส้นทางอาชีพที่น่าจดจำของเขา โดยเน้นย้ำว่าเขาเริ่มเข้าสู่โลกการเงินในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อ ‘ฟลอการเทรด’ หรือ ชั้นที่ทำการซื้อขายหุ้นของวอลสตรีทนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความตื่นเต้นเร้าใจ 

ทัคแมนเล่าว่า เขาเติบโตและประสบความสำเร็จมาจากบรรยากาศแบบนี้ เพราะเขาชื่นชอบจังหวะการทำงานที่รวดเร็วและสไตล์การเทรดแบบที่ต้องตะโกนซื้อขาย

ตามที่ทัคแมนกล่าว ใบหน้าของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของตลาดหุ้น เนื่องจากเมื่อปี 2006 ภาพถ่ายที่เขาแสดงปฏิกิริยาต่อตลาดที่ล่มสลายถูกเผยแพร่ไปทั่ว ภาพที่แสดงให้เห็นว่าเขายกมือขึ้นขณะที่ตลาดดิ่งลง 650 จุด ได้ถูกตีพิมพ์ในสื่อต่าง ๆ มากมาย และเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาที่ตลาดเกิดการแพนิค

ทัคแมนได้เปรียบเทียบวอลสตรีทในยุคปัจจุบันกับวอลสตรีทในทศวรรษ 1980 ว่า เมื่อก่อนมีผู้คนทำงานในฟลอการเทรดของตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) หลายพันคน ซึ่งสภาพแวดล้อมก็เป็นอย่างที่ทุกคนได้เห็นกันในภาพยนตร์ คือเต็มไปด้วยการตะโกน การแสดงอารมณ์อย่างเข้มข้น และการซื้อขายภายใต้แรงกดดันสูง เขายังกล่าวด้วยว่า แม้จำนวนคนบนฟลอการเทรดจะลดลงอย่างมาก แต่เขายังคงหลงไหลความวุ่นวายที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ทัคแมนอธิบายเพิ่มเติมว่า มันต่างจากนักการเงินในปัจจุบันหรือบรรดานักลงทุนในบริษัท Venture Capital ส่วนใหญ่ของผู้คนที่ทำงานในพื้นการเทรดในสมัยของเขาไม่มีปริญญา MBA หรือการศึกษาด้านการเงินโดยตรง เขาเล่าถึงเรื่องราวของนักเทรดหลายคนที่เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานพิมพ์หรือแม้แต่เป็นคนขัดรองเท้า ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาเป็นนักเทรดระดับสูง 

แต่สิ่งที่วอลสตรีทในสมัยนั้น เหมือนกับวอลสตรีทในปัจจุบันคือ ทัคแมนกล่าวว่ามันคือสถานที่สำหรับคนมีไหวพริบในการเอาตัวรอด มากกว่าความรู้จากตำรา จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้

เมื่อหันมามองตลาดหุ้นในปัจจุบันและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทัคแมนได้เตือนว่า ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดในอีกสองปีข้างหน้าอาจมาจาก “พายุที่สมบูรณ์แบบ” ของปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) สงครามโลก และวิกฤตธนาคาร เขาอธิบายว่า  หากประเด็นเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม อาจรวมตัวกันเป็นสาเหตุของการล่มสลายของตลาดครั้งใหญ่

ทัคแมนยังได้พูดถึงบทบาทของ Market Makers ในระบบเศรษฐกิจการเงิน เขาได้อธิบายว่าผู้ดูแลตลาดมีหน้าที่จัดหาสภาพคล่องโดยการซื้อและขายหุ้น เพื่อให้การทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายดำเนินไปอย่างราบรื่น เขาอธิบายว่า ถึงแม้ผู้ดูแลตลาดจะทำงานให้กับบริษัทเอกชน แต่บทบาทของพวกเขามีความสำคัญต่อการทำงานของตลาด เพราะพวกเขาช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

เมื่อพูดถึงผลกระทบของ AI ต่อตลาด ทัคแมนได้แสดงความกังวลว่าอัลกอริทึมการเทรดโดย AI อาจรบกวนไดนามิกดั้งเดิมของตลาดได้ เขาอธิบายว่า AI มีศักยภาพที่จะเพิ่มความผันผวนให้กับตลาด เพราะสามารถดำเนินการเทรดได้เร็วกว่านักเทรดที่เป็นมนุษย์หลายเท่า ทัคแมนเตือนว่า แม้ AI อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ แต่มันอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่อันตราย โดยเฉพาะหากถูกใช้ในลักษณะที่เสี่ยงสูงด้วยการใช้ ‘เลเวอเรจ’

เมื่อบทสนทนาเปลี่ยนไปเรื่อง GameStop และหุ้น Meme ทัคแมนได้แชร์มุมมองของเขาเกี่ยวกับการที่นักเทรดรายย่อยซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากโซเชียลมีเดีย เช่น WallStreetBets ของ Reddit ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อตลาดในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขาเน้นย้ำว่าปรากฏการณ์นี้แม้ว่าจะน่าตื่นเต้นในช่วงแรก แต่ก็ได้สร้างความผันผวนในราคาหุ้นที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของตลาดในระยะยาว 

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ทัคแมน สรุปว่า การเติบโตของการเทรดรายย่อยและเมื่อรวมกับโซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนแปลงตลาดหุ้นไปในทิศทางที่แม้แต่นักเทรดผู้มีประสบการณ์ก็ยังไม่เคยคาดการณ์ถึงเรื่องนี้มาก่อน

ทัคแมนได้สรุปบทสัมภาษณ์นี้ด้วยการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของวอลสตรีทตั้งแต่เขาเริ่มต้นอาชีพ เขากล่าวว่าแม้ว่า ‘ฟลอการเทรด’ จะไม่แออัดและวุ่นวายเหมือนในอดีต แต่แก่นแท้ของวอลสตรีท ซึ่งคือความรวดเร็วและไม่สามารถคาดเดาได้ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง 

อย่างไรก็ตามความคิดสุดท้ายของทัคแมนได้มีการผสมผสานระหว่างความคิดถึงในอดีตและความมองโลกในแง่ดีอย่างระมัดระวังในอนาคต โดยเขายอมรับว่าวอลสตรีทได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่แก่นแท้ของการเทรดยังคงเหมือนเดิม