<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

วิธียื่นภาษีคริปโตปี 2568 !  รวมประเด็นสำคัญจ่ายยังไง สรุปใครต้องเสียบ้าง ไปดูกัน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

จบกันไปแล้วกับเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2568 ซึ่งในปัจจุบันใครหลายคนก็คงต้องเริ่มกับไปทำงานกันแล้ว และสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมการต้อนรับปีใหม่นั่นก็คือเรื่องของ “ภาษี” ที่ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากจะพลาดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนคริปโต ดังนั้นทาง Siam Blockchain จึงสรุปใจความสำคัญออกมาให้เพื่อน ๆ ทราบกันได้ว่าในปี 2568 นี้จะนักลงทุนคริปโตจะต้องเสียภาษีกันอย่างไร

คำจำกัดความของ คริปโท และ โทเคน

ตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น จะมีแบ่งคริปโตออกเป็นหลัก ๆ 2 ประเภท ได้แก่ “คริปโทเคอร์เรนซี” กับ “โทเคนดิจิทัล” โดยจะแบ่งคิดแยกผลกำไรขาดทุนในแต่ละประเภทก่อน แล้วจึงนำหมวดหมู่ทั้งสองมาสรุปผลรวมในตอนท้ายอีกทีนึง

“คริปโทเคอร์เรนซี” หมายถึง เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ยกตัวอย่างเช่น  Bitcoin และ พวก Stable Coin ต่าง ๆ 

“โทเคนดิจิทัล” หมายถึง เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือในการแบ่งรายได้ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ อย่างเช่น ETH , BNB และ KUB เป็นต้น

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีจากการใช้ คริปโต? มาดูกันแบบเข้าใจง่าย ๆ 

  1. เทรดคริปโตบนกระดานเทรด (เช่น Binance, Bitkub)
    ถ้าเราซื้อขาย, โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตในกระดานเทรดที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. ไทย เช่น ขาย Bitcoin ได้กำไร 10,000 บาท เราต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 โดยถือว่าเป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ณ)
  2. นักขุดคริปโต (Bitcoin Miner)
    คนที่ขุดเหรียญ เช่น ขุด Bitcoin มาได้ 1 BTC แต่ยังไม่ได้ขาย ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าจะขายหรือแลกเปลี่ยนเหรียญนั้น เช่น ขาย 1 BTC ที่ขุดมาได้เงิน 1 ล้านบาท ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90 ถือว่าเป็นเงินได้ 40(8)
  3. คนที่รับคริปโตเป็นเงินเดือน
    ถ้าได้รับคริปโตเป็นเงินเดือน เช่น นาย A ได้รับเงินเดือน 0.05 BTC ทุกเดือนจากบริษัท นาย A ต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91 ถือว่าเป็นเงินได้ประเภท 40(1)
    แต่ถ้าได้รับคริปโตเป็นค่าจ้าง เช่น ฟรีแลนซ์รับงานแปลเอกสารและได้ค่าจ้างเป็น BTC ก็ต้องยื่นภาษีแบบเดียวกัน โดยถือว่าเป็นเงินได้ 40(2)
  4. ได้รับคริปโตเป็นของขวัญหรือรางวัล
    ถ้ามีคนโอนคริปโตให้ หรือได้รับเป็นรางวัล เช่น ได้รางวัลจากกิจกรรมแจก Airdrop จำนวน 1 ETH เราต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 โดยถือว่าเป็นเงินได้ประเภท 40(8)
  5. ได้ผลตอบแทนจากการถือครองคริปโต (เช่น Staking)
    ถ้าถือเหรียญแล้วได้ผลตอบแทน เช่น Staking Solana ได้กำไร 5,000 บาท ต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 โดยถือว่าเป็นเงินได้ประเภท 40(4)(ซ)
    แต่ถ้าถือโทเคนดิจิทัลแล้วได้ผลตอบแทน เช่น ได้รางวัลจากถือ NFT ต้องยื่นภาษีเป็นเงินได้ประเภท 40(8)

การผ่อนปรนภาษีคริปโตจากกรมสรรพากร

1. ไม่มีหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% สำหรับการซื้อขายในกระดานเทรดที่ ก.ล.ต. รับรอง

เวลาซื้อขายคริปโตบนกระดานเทรดที่ได้รับการรับรอง เช่น Bitkub หรือ Binance ไม่ต้องโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ยังไงก็ต้องยื่นภาษีตอนสิ้นปีอยู่ดี

2. ขาดทุนเอามาหักกำไรได้ ถ้าปีนี้เทรดคริปโตแล้วบางส่วนกำไร บางส่วนขาดทุน เราสามารถเอาผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีเดียวกันได้ ช่วยลดภาษีที่ต้องจ่ายลงไปได้อีก

3.ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ธุรกรรมคริปโตที่ดำเนินการผ่านกระดานเทรดที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. เช่น การซื้อขายหรือการโอน จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566 โดยหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป การยกเว้น VAT จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปสำหรับธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, นายหน้าซื้อขาย, หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนี้ การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) ก็จะได้รับการยกเว้น VAT ด้วยเช่นกัน 

วิธีการคำนวณภาษีคริปโท แบ่งออกเป็น 2 วิธี

1.วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (First in, First out) หรือ FIFO

ที่มาภาพ: Bitkub

ถ้าหาก ‘นาย A’ ใช้การคำนวนแบบ FIFO จะคิดต้นทุนเหรียญต่างๆ จากการซื้อขายครั้งแรก 

  • สำหรับเหรียญ X จะนำราคาขาย 1,150  –  1,000 (นำราคาซื้อเหรียญ X ครั้งแรกมาคิดเป็นต้นทุน) เท่ากับ นาย A จะได้กำไร 150 บาท
  • สำหรับเหรียญ Y จะนำราคาขาย 500 – 600 เท่ากับ นาย A จะขาดทุน 100 บาท

*ดังนั้น นายเอ จะต้องทำการยื่นภาษีคริปโตเป็นจำนวนเงิน 50 บาท

2.วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average Cost

ที่มาภาพ: Bitkub

ถ้าหาก ‘นาย A’ ใช้การคำนวนแบบ ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ โดยจะนำต้นทุนทั้งหมดมาเฉลี่ยกัน แล้วจึงค่อยนำต้นทุนที่ได้มาคิดเป็นกำไรขาดทุนอีกที

  • สำหรับเหรียญ X จะนำราคาขาย 1,150  –  [(1400 + 1,000) หาร 2] เท่ากับ นาย A จะขาดทุนจากเหรียญ X เป็นจำนวนเงิน 50 บาท
  • สำหรับเหรียญ Y จะนำราคาขาย 500 – [(600 + 400) หาร 2] เท่ากับ นาย A จะ เท่าทุน

*ดังนั้น นายเอ จึงไม่จำเป็นต้องทำการยื่นภาษีคริปโต

หมายเหตุ 

  • นักลงทุนต้องเลือกใช้วิธีเดียวในการคำนวณตลอดปีภาษี โดยนักลงทุนจะสามารถเลือกเปลี่ยนวิธีการคำนวนได้ในปีภาษีถัดไป
  • วิธีการคำนวณภาษีคริปโททั้งสองแบบนี้ ใช้สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 เท่านั้น

คำถามเรื่องภาษีคริปโตที่พบบ่อย

อ้างอิงราคาคริปโตได้จากที่ไหน?

สามารถอ้างอิงได้จากศูนย์ซื้อขายในประเทศไทยโดยเป็นราคาเฉลี่ย 24 ชั่วโมง หรือ ศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศที่เชื่อถือได้ รวมถึงเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเช่น Coinmarketcap ส่วนในกรณีของ ICO หรืออื่น ๆ ให้ใช้ราคาจากสถานที่ซึ่งได้สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมา

ต้องมีหลักฐานแนบสำหรับการยื่นภาษีหรือไม่?

โฆษกฯ กรมสรรพากรระบุว่า การยื่นภาษีสามารถกรอกตัวเลขได้เลยโดยไม่ต้องแนบหลักฐานการมีรายได้ แต่แนะนำให้บันทึก statement เผื่อในกรณีที่ถูกตรวจสอบ

ขายคริปโตในต่างประเทศแล้วได้กำไรต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่?

ถ้าปีนั้นอยู่ในประเทศไทยรวมแล้วเกิน 180 วัน และมีการนำกำไรกลับเข้าประเทศภายในปีเดียวกันจะต้องเสียภาษี

มีกำไรแต่เก็บไว้ในกระดานเทรด ยังไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ต้องเสียภาษีหรือไม่?

เกณฑ์เงินได้ของกรมสรรพากรคือ เกิดรายได้เมื่อไรนับเป็นเงินได้เมื่อนั้น ดังนั้นหากขายคริปโต แล้วได้กำไรแม้จะยังไม่ได้ถอนออกมาก็นับเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

กรณีใดบ้างที่ได้กำไรจากการขายคริปโตฯ แล้วไม่ต้องเสียภาษี?

  • มีรายได้จากการเทรดคริปโตเพียงอย่างเดียวและมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ไม่ต้องยื่นหรือเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้
  • มีรายได้จากการเทรดคริปโตเพียงอย่างเดียว และมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 210,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน
  • อายุครบ 65 ปี หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และมีกำไรจากการขายคริปโตฯ ตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้จัดทำคู่มืออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีคริปโตอย่างละเอียด โดยนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ ส่วนการเสียภาษีคริปโทนักลงทุนสามารถทำการยื่นแบบฟอร์มออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ efiling

ที่มา : Bitkub ,กรมสรรพากร , Finnomena