<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

กองทุนระดับโลก a16z เผย 5 เทรนด์คริปโต ที่จะมาเขย่าตลาดในปี 2025

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปี 2024 เป็นปีทองของวงการคริปโตที่เติบโตแบบก้าวกระโดด กิจกรรมในตลาดพุ่งทะลุเพดาน ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมถูกลงอย่างเห็นได้ชัด และ Stablecoins เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือการอนุมัติ Bitcoin ETF และ Ethereum ETF แบบ Spot ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่อเข้าสู่ปี 2025 Daren Matsuoka หุ้นส่วนคนเก่งจากกองทุนชื่อดัง a16z ที่ลงทุนในเทคโนโลยีอนาคต จึงได้ออกมาแชร์มุมมองถึง 5 เทรนด์สำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมตลาดคริปโตในอนาคต

1.กระเป๋าเงินคริปโตบนมือถือ

กระเป๋าเงินคริปโตบนมือถือ กำลังกลายเป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมในโลกคริปโต โดยในปี 2024 มีผู้ใช้งานกระเป๋าเงินคริปโตบนมือถือมากกว่า 35 ล้านคนต่อเดือน โดยแอปชื่อดังอย่าง Coinbase Wallet, MetaMask และ Trust Wallet ยังคงเป็นผู้นำตลาด ขณะที่แอปใหม่ๆ อย่าง Phantom และ World App ก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระเป๋าเงินคริปโตบนมือถือยังถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดความสนใจของนักลงทุนรายย่อย โดยมีการสังเกตว่าการจัดอันดับที่สูงใน App Store มักมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของราคาคริปโต

แม้จะมีผู้ถือครองคริปโตเป็นจำนวนมาก แต่หลายคนยังเป็นเพียงผู้ถือเฉยๆ ไม่ได้ใช้งานจริง Daren Matsuoka จาก a16z ระบุว่า เพื่อให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง นักพัฒนาบล็อกเชนจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่าง ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขามั่นใจว่า โครงสร้างพื้นฐานของบล็อกเชนในปัจจุบันสามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนหลายร้อยล้านหรือแม้กระทั่งพันล้านคนได้

Daren Matsuoka เสริมอีกว่า “ตอนนี้คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างกระเป๋าเงินคริปโตบนมือถือรุ่นใหม่”

จากข้อมูลของ Statista พบว่า “เอเชีย” เป็นภูมิภาคที่มีการใช้งานกระเป๋าคริปโตบนมือถือสูงที่สุด แม้จะมีแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง PayPal, Apple Pay และ Google Pay จากสหรัฐฯ

เหตุผลที่เอเชียมีการใช้งานสูงสุด เป็นเพราะกระเป๋าคริปโตบนมือถือถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาของประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ ในตลาดเกิดใหม่ กระเป๋าคริปโตบนมือถือจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวัน

2.Stablecoin จะถูกใช้งานในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น

Stablecoin เริ่มกลายเป็นที่จับตามองในปี 2024 ด้วยค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ถูกลง ทำให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ การส่งเงินกลับบ้าน หรือแม้แต่การซื้อของในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ Stablecoin ยังช่วยให้ผู้คนในประเทศที่มีปัญหาเงินเฟ้อสูง เช่น อาร์เจนตินาและตุรกี สามารถใช้มันเป็นแหล่งเก็บความมั่งคั่งได้

“Stablecoin เป็นวิธีที่ถูกที่สุดในการส่งเงินดอลลาร์ และเราคาดว่าธุรกิจต่างๆ จะเริ่มรับการชำระเงินด้วย Stablecoins มากขึ้น” Daren Matsuoka กล่าว

แม้ Stablecoin จะได้รับความนิยม แต่ยังไม่มีโซลูชันที่ตอบโจทย์การใช้งานให้ใกล้เคียงกับวิธีการชำระเงินแบบดั้งเดิมได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังมี “ช่องว่าง” หรือจุดที่ต้องพัฒนาอีกมากเพื่อให้แข่งขันได้

จำนวนกระเป๋าเงิน Stablecoin ที่มีการใช้งานจริงต่อเดือน  ที่มา: Visa

อย่างไรก็ตาม Visa บริษัทผู้นำด้านการชำระเงิน ได้พัฒนาแดชบอร์ดที่ช่วยให้เราสามารถแยกแยะการใช้งาน Stablecoins จริงๆ ออกจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากบอท

“หากการใช้งาน Stablecoins ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดของคริปโต เติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2025 นี่จะเป็นตัวชี้วัดที่น่าจับตามอง” Matsuoka กล่าว

3.Bitcoin ETF และ Ethereum ETF

ในปีที่ผ่านมา Bitcoin และ Ethereum ได้รับการอนุมัติเป็นกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน ETF ที่ถูกต้องตามกฎหมายครั้งแรกในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้การลงทุนในคริปโตกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป รวมถึงสถาบันการเงินใหญ่ๆ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดแห่งนี้

กราฟแสดงจำนวนเงินไหลออกของ Bitcoin ETF ที่มา: Dune

ปัจจุบัน กองทุน ETF เหล่านี้ สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้เพียง 515,000 BTC (ประมาณ 110,000 ล้านดอลลาร์) และ 611,000 ETH (ประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์) เท่านั้น 

Daren Matsuoka ชี้ว่า การดึงบริษัทการเงินรายใหญ่ อาทิ Goldman Sachs, JP Morgan และ Merrill Lynch มาช่วยเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการจัดจำหน่าย ETF เหล่านี้ ไปยังนักลงทุนรายย่อย อาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ Matsuoka ยังแนะนำให้ติดตามการฝากถอนบนบล็อกเชน ของที่อยู่ที่ถูกระบุว่าเป็น ผู้ดูแล ETF โดยเขาเชื่อว่านักลงทุนสถาบันจะหันมาลงทุนในสินทรัพย์คริปโตมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้มีการไหลเข้าของเงินทุนสุทธิเพิ่มขึ้นสำหรับ ETF เหล่านี้

4.กระดานเทรดคริปโตแบบกระจายศูนย์ (DEX) กำลังเติบโต

กระดานเทรดแบบกระจายศูนย์ (DEX) กำลังค่อยๆ แย่งส่วนแบ่งตลาดจากกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ (CEX) แม้ว่า DEX จะยังมีปริมาณการซื้อขายน้อยกว่า CEX แต่ปัจจุบัน DEX สามารถครองส่วนแบ่งตลาดการซื้อขายแบบ Spot ได้ถึง 11% และตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เมื่อไม่นานมานี้ ปริมาณการซื้อขายของ DEXs พุ่งแตะจุดสูงสุดใหม่ โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมบนเครือข่ายที่มีความเร็วสูง เช่น Base ของ Coinbase และ Solana จากการที่มีผู้ใช้ใหม่เข้ามาในตลาด”  Daren Matsuoka กล่าว

แม้ว่า DEXs จะมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในปี 2025 แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ผู้ใช้งานรายย่อยจะเปลี่ยนจาก ‘แพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์’ มาสู่ ‘แพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์’ ได้รวดเร็วขนาดนั้นหรือไม่ เพราะในปัจจุบันการเติบโตยังถือว่าช้าอยู่ เนื่องจาก DEX ใช้เวลานานถึง 4 ปี เพื่อครองส่วนแบ่งตลาด 10% ของการเทรดแบบดังเดิม ตามข้อมูลจาก DefiLlama

5. “ค่า fee” หรือค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมธุรกรรมเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงถึงความต้องการใช้งานของเครือข่ายบล็อกเชน แต่ค่าธรรมเนียมควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงจนทำให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยง

ในปีที่ผ่านมา Solana ทำสถิติแซงหน้า Ethereum ในด้านค่าธรรมเนียมที่เก็บได้โดยรวม แม้ค่าธรรมเนียมของ Solana จะถูกมาก (ต่ำกว่า $0.01) เมื่อเทียบกับ Ethereum ที่เก็บค่าธรรมเนียมมากกว่า $5 ต่อธุรกรรม นี่ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตในระบบนิเวศของ Solana

Daren Matsuoka ชี้ว่า ตอนนี้หลายเครือข่ายและตลาดค่าธรรมเนียมกำลังเติบโตเต็มที่ ทำให้ช่วงเวลานี้เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเริ่มวัด มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่บล็อกเชนต่างๆ สามารถสร้างขึ้นได้

ในระยะยาว ความต้องการพื้นที่บนบล็อกเชน (Blockspace) อาจกลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สุดในการประเมินความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมคริปโต เพราะค่าธรรมเนียมที่จ่าย (วัดเป็น USD) ไม่ได้บอกแค่ตัวเลข แต่มันสะท้อนถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่า และ ความเต็มใจของผู้ใช้ที่ยอมจ่ายเพื่อใช้บริการบนบล็อกเชน นั่นเอง

“นี่คือจุดสำคัญที่ช่วยให้เราเห็นถึงการเติบโตของคริปโต” Matsuoka กล่าวทิ้งท้าย