<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

นายกฯ มาเลเซียหารือ CZ และ UAE เร่งสร้างกรอบคริปโตในเอเชีย

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ตามรายงานของ New Straits Times เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ระบุว่า ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม (Datuk Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เข้าพบกับ ฉางเผิง จ้าว Changpeng Zhao (CZ) อดีตผู้ก่อตั้ง Binance และเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลคริปโต 

การหารือครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างการเยือนอาบูดาบีอย่างเป็นทางการ 3 วันของดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม โดยมุ่งเน้นไปที่การกำหนดนโยบายที่จะยอมรับอุตสาหกรรมคริปโต และพัฒนาปรับปรุงระบบการเงินของมาเลเซียให้ทันสมัย

ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า “ผมได้หารือกันอย่างยาวนาน กับผู้นำของอาบูดาบี และฉางเผิง จ้าว ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Binance โดยกระตุ้นให้ธนาคารกลาง และกระทรวงการคลัง ศึกษาเรื่องการเงินดิจิทัล เพื่อไม่ให้ล้าหลัง และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวเสริมว่า “นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราต้องก้าวให้ทัน มาเลเซียไม่ควรล้าหลัง ติดอยู่กับระบบการเงินแบบเก่า”

ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า ความร่วมมือกับ UAE ในการพัฒนาแนวทางกำกับดูแลคริปโต จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายการเงินดิจิทัล และจะเป็นก้าวสำคัญในการปรับตัวจากโมเดลธุรกิจแบบเก่า

สินทรัพย์ดิจิทัลในมาเลเซีย

ปัจจุบัน เงินริงกิตยังคงเป็นสกุลเงินเดียวที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในมาเลเซีย แม้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ได้รับการยอมรับในฐานะเงินตรา แต่ก็เริ่มมีบทบาทในระบบการเงิน โดยสินทรัพย์เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในหมวดหลักทรัพย์ ตาม Capital Markets and Services Order และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายการเงินในมาเลเซีย

ธนาคารกลางมาเลเซีย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ แบ่งหน้าที่กันดูแล โดยธนาคารกลาง รับผิดชอบดูแลเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ส่วนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ ดูแลสกุลเงินดิจิทัลที่จัดเป็นหลักทรัพย์

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมสรรพากรมาเลเซียได้เปิดปฏิบัติการ “Ops Token” เพื่อตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีจากการเทรดสกุลเงินดิจิทัล โดยบุกตรวจค้น 10 แห่งในพื้นที่ Klang Valley และพบข้อมูลการเทรดสกุลเงินดิจิทัล ที่เผยให้เห็นการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องต่อสู้กับการขุด Bitcoin อย่างผิดกฎหมายที่ขโมยใช้ไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 723 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่างปี 2018 ถึง ปี 2023

แม้จะมีความพยายามกำกับดูแลคริปโต แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่า กรอบกฎหมายของมาเลเซีย ยังขาดความชัดเจนและสอดคล้องกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายที่ครอบคลุมและทันสมัยมากขึ้น สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ

ที่มา : cryptobriefing